‘คปภ.’ชี้ธุรกิจประกันปี64 ทรงตัวเบี้ยรวม8.7แสนล้าน
คปภ.คาดธุรกิจประกันภัยปี64 ทรงตัวจากปีก่อน ที่มีเบี้ยประกันรวม 8.7 แสนล้านบาท เชื่อ ประกันสุขภาพยังเติบโตดี เหตุกระแสรักสุขภาพ ด้าน เอไอเอ เล็งรุกขาย ประกันชีวิตยูนิตลิงค์ หลังประกันสะสมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. เปิดเผยว่า คปภ. คาดการณ์ธุรกิจประกันภัยปี2564 ทรงตัวเมื่อเทียบกับปี2563 ที่มีเบี้ยประกันภัยรวมทั้งสิ้น 8.47แสนล้านบาท เติบโต0.64% มาจากธุรกิจประกันวินาศภัย มีเบี้ยประกันภัยรวมทั้งสิ้น 2.62 แสนล้านบาท เติบโต 3.11%ธุรกิจประกันชีวิต มีเบี้ยประกันภัยรวมทั้งสิ้น 5.85 แสนล้านบาท หดตัว0.42% ขณะที่ประกันสุขภาพ มีเบี้ยประกันภัยรวมทั้งสิ้น 1.01 แสนล้านบาท เติบโต 1.59% ภายใต้การขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปี2564 เติบโต 4% จากปี2563 หดตัว 6%
ทั้งนี้ยอดประกันสุขภาพยังเติบโตดีแม้จะมีวัคซีนป้องกันโควิด-19แต่การระบาดรอบใหม่ยังสร้างความกังวลทำให้เกิดกระแสรักสุขภาพต่อเนื่อง และคนไทยให้ความสำคัญการทำประกันภัยเพื่อเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงมากขึ้น ประกอบกับภาวะดอกเบี้ยต่ำและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อาจทำให้คนไทยสนใจทำประกันภัยรูปแบบต่างๆ มากขึ้น เช่น ประกันชีวิตตลอดชีพ ประกันสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกันยูนิลิงค์และยูนิเวอร์เซลไลฟ์
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่ ฝ่ายตัวแทนประกันชีวิตเอไอเอประเทศไทย หรือAIA กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมประกันชีวิตปี 2564 อาจยังทรงตัว หรือเพิ่มขึ้นไม่มาก จากกปี2563 ที่ภาพรวมอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้แย่นัก แม้จะหดตัว -2 ถึง-5% ซึ่งการปรับตัวของบริษัทประกันชีวิตอาจไม่ได้ง่ายที่จะปรับการขายประกันแบบสะสมทรัพย์มาเป็นประกันแบบคุ้มครอง เพื่อลดผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับ และกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-1กระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทย ประกอบต้นทุนแต่ละบริษัทแตกต่างกันไป จึงพบว่ามีไม่กี่บริษัทที่สามารถปรับได้แบบเต็มตัว ขณะที่บ้างบริษัทยังไม่สามารถทำได้เต็มที่
ในปี2564 ผลิตภัณฑ์ประกันของบริษัทที่จะมาช่วยขับเคลื่อนตลาด“ประกันชีวิตยูนิตลิงค์” เพื่อแทนที่แบบประกันประเภทสะสมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำและต้องการให้ลูกค้าของบริษัทเข้าใจเกี่ยวกับแบบประกันยูนิตลิงค์มากขึ้นว่าเป็นแบบประกันที่ไม่ใช่การลงทุนแต่เป็นแบบประกันที่ให้ความคุ้มครองและเป็นพาหนะไปสู่ความคุ้มครองในอนาคตได้รวมถึง “ประกันชีวิต สุขภาพ และโรคร้ายแรง”โดยเฉพาะการส่งเสริมให้คนไทย มีความคุ้มครองโรคร้ายแรงที่เหมาะสมกับการรักษา อยู่ที่ระดับ2ล้านบาทต่อคนขึ้นไป แต่ปัจจุบันจากการสำรวจของบริษัทพบว่าทุนประกันของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำเฉลี่ย7แสนบาทต่อคนอาจไม่เพียงพอต่อการรักษาหากต้องเผชิญกับโรคร้ายแรง
นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจประกันชีวิตปี 2564 การเติบโตคงสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ น่าจะได้แรงหนุนต่อเนื่องจากการที่คนเริ่มสนใจซื้อประกันสุขภาพ แต่จะถูกกดดันจากขนาดเบี้ยที่เล็ก ซึ่งปัจจุบันพอร์ตสินค้าประกันออมทรัพย์ในระบบยังมีสัดส่วนสูงกว่า 36% ของเบี้ยรวม แม้ลดลงจาก 5 ปีก่อนที่มีสัดส่วน 50%เชื่อว่าสินค้าออมทรัพย์จะไม่หายไปทั้งหมด แต่จะน้อยลง และสินค้าที่จะเห็นมากขึ้น การลงทุนอย่างประกันควบการลงทุนหรือ “ยูนิตลิงค์”