ส.อ.ท.ชงแผนดัน“บีซีจี” ตั้งบริษัทหนุนเกษตรอัจฉริยะ
แนวทางเศรษฐกิจบีซีจี (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว) เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลที่จะสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ และสร้างรายได้กระจายไปสู่ทุกท้องถิ่น ส่งผลให้ทุกภาคส่วนเกิดความตื่นตัวในการพัฒนาประเทศไปสู่แนวทางนี
โดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เดินหน้าแผนภาคเอกชนเพื่อผลักดันยุทธศาสตร์ดังกล่าว
เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท.เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลประกาศเดินหน้าแนวทางเศรษฐกิจบีซีจี (เศรษฐกิจชีวภาพ , เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) ส.อ.ท. ได้ให้การสนับสนุนเต็มที่ เพราะเป็นแนวทางเศรษฐกิจที่ถูกต้อง สอดคล้องต่อศักยภาพของประเทศ และเป็นการสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งยั่งยืน
ทั้งนี้ แต่ละปีไทยต้องนำเข้าสารสกัดทางชีวภาพหรือสารสกัดที่ได้จากพืชผลการเกษตรมูลค่ามหาศาล โดยไทยส่งออกวัตถุดิบไปต่างประเทศเพื่อผลิตสารสกัดหรือสารชีวภาพมูลค่าสูงที่ใช้ในอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง อาการเสริม และสารปรุงแต่งอาหาร ซึ่งทำให้ที่ไทยเสียโอกาสมูลค่าทางเศรษฐกิจมาตลอด และหากไทยผลิตได้เองจะช่วยลดการนำเข้าและสร้างรายได้จำนวนมาก
“ไทยส่งออกสินค้าเกษตรหลายชนิดไปผลิตเป็นสารสกัดในต่างประเทศ เช่น ส่งจมูกข้าวไปญี่ปุ่นเพื่อผลิตวิตามินที่มีราคาแพง ส่งออกเปลือกมังคุดไปผลิตสารสกัดทางยา แต่หากไทยผลิตสารสกัดได้เองจะยกระดับการผลิตให้แข่งขันได้ โดยอุตสาหกรรมนี้พึ่งพาวัตถุดิบภายในประเทศ 90% ดังนั้นมูลค่าเพิ่มจะตกในประเทศ ต่างจากอุตสาหกรรมไฮเทคอื่นที่ไทยต้องนำเข้าชิ้นส่วนและเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตได้กำไรจากค่าแรงเพียงเล็กน้อย ซึ่งหากผลักดันแนวทางนี้ได้ก็จะเป็นการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน”
ดังนั้น ส.อ.ท.มีแผนพัฒนาศักยภาพการเกษตรไทยเต็มที่ โดยต่อยอดแผนพัฒนาบีซีจีของรัฐบาลที่เริ่มตั้งแต่ตั้งบริษัดำเนินการในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม Social Enterprise หรือ SE ที่จะให้เอกชนร่วมลงทุน โดยจะเป็นหน่วยงานรวบรวมความต้องการพืชผลการเกษตรจากโรงงานที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท.
รวมทั้งจะลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีการสกัดสารชีวภาพและเทคโนโลยีการแปรรูปขั้นสูงร่วมกับสถาบันวิจัยในประเทศ เพื่อให้สมาชิก ส.อ.ท.นำไปลงทุนพัฒนาการผลิตและกลับไปซื้อผลผลิตเกษตรกรมาแปรรูปเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง
“Social Enterprise จะเป็นโมเดลธุรกิจที่ออกแบบเพื่อเน้นความสมดุลระหว่างผลกำไรและการพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน ตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีความสมดุลระหว่างการปันผลและการลงทุนกลับคืนไปเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และสร้างรูปแบบธุรกิจให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจให้ตอบสนองต่อความต้องการของท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้พัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนควบคู่กับท้องถิ่น”
ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศจะสำรวจศักยภาพการผลิตภาคการเกษตร เพื่อทำฐานข้อมูลโรงงานทั่วประเทศเข้ามารับซื้อ และการลงไปช่วยเหลือยกระดับเกษตรกรต่อไป โดยจะให้กลุ่มอุตสาหกรรมทั้งหมด 45 กลุ่ม และสถาบันสังกัด ส.อ.ท. 9 แห่ง ลงไปปรับปรุงการผลิตของเกษตรกร เช่น สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรม สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อม สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สถาบันเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ และสถาบันพัฒนาและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม
การดำเนินงานลักษณะนี้ เช่น การนำเครื่องจักรไปใช้ในการเกษตร จะให้กลุ่มเครื่องจักรกลการเกษตร กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ลงไปพัฒนาระบบการเกษตรโดยใช้เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ
“การที่กลุ่มอุตสาหกรรม ส.อ.ท.ลงไปพัฒนาคิดค้นด้านการเกษตร จะเกิดเทคโนโลยีการเกษตรใหม่ที่เหมาะสมแต่ละพื้นที่ และเกิดความคุ้มค่าจากการผลิตเป็นจำนวนมาก เช่น การออกแบบผลิตโรงเรือนระบบปิดที่นำไปใช้ได้ทั่วประเทศ รวมทั้งการให้กลุ่มเคมีเข้าไปวิเคราะห์ดินเพื่อผลิตปุ๋ยแบบสั่งตัดที่เหมาสะสมในแต่ละแปลงผลิต”
รวมทั้งเทคโนโลยีที่นำมาช่วยเกษตรกรทั้งหมดนี้ จะสร้างโปรแกรมการบริหารจัดการฟาร์ม การทำเกษตรคววามแม่นยำสูง และการวิเคราะห์ข้อมูลคาดการณ์ล่วงหน้า การเครื่องมือตรวจวัดในทุกกระบวนการผลิต การจัดทำข้อมูลพืชและการวิเคราะห์ การใช้หุ่นยนต์และโดรนในการเกษตร การจัดทำระบบจัดการน้ำแบบอัตฉริยะ การใช้ดาวเทียมเพื่อการเกษตร การปลุกพืชที่เหมาะสมเชิงภูมิศาสตร์
การดำเนินการทั้งหมดนี้จะทำให้เกิด Smart Agriculture Industry รุ่นใหม่ที่จะเป็นแบบอย่างในการพัฒนาต่อไป ส่งผลให้เกิดการพลิกโฉมเกษตรไทยและเป็นการยกระดับภาคการเกษตรโดยรวมของประเทศ
“แผนการนี้จะเริ่มต้นปี 2564 จะเปิดให้ลงทุนตั้งบริษัท SE เพื่อเป็นแกนหลักดำเนินการ จากนั้นจะนำร่องในพื้นที่ศักยภาพในภาคต่างๆ และขยายผลไปทั่วประเทศ”
การพัฒนาแนวทางนี้จะยกระดับภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีเกษตรชั้นสูง การสร้างสมาร์ทฟาร์มเมอร์รายใหม่ การสร้างรูปแบบการเกษตรแม่นยำ การรับรองมาตรฐานความปลอดภัยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค การบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีคุณภาพ และที่สำคัญจะใช้การตลาดนำการผลิต โดยจะนำความต้องการของโรงงานภายใต้ ส.อ.ท.มาเป็นโจทย์ในการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิต เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะมีโรงงานรับสินค้าทั้งหมดในราคาที่เป็นธรรม จะช่วยแก้ปัญญาแข่งขันปลูกจนล้นตลาดเป็นปัญหาซ้ำซากในทุกวันนี้