กสิกร คาดลูกหนี้รายย่อย เข้ามาตรการช่วยเหลือพุ่ง
ศูนย์วิจัยกสิกร คาดโควิด-19รอบใหม่หนุนลูกหนี้รายย่อยเข้าโครงการช่วยเหลือจากแบงก์พุ่ง จาก23.5% ณ พ.ย.63 ที่ลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือ4 ล้านบัญชี หรือ 1.15ล้านล้านบาท คาดเอ็นพีแอลสิ้นปีแตะ 3.53%จากปลายปี63ที่ 3.35%
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า จากกรณีที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ขยายระยะเวลาให้ลูกหนี้ทุกประเภท สมัครรับความช่วยเหลือ จากสถาบันการเงิน และนอนแบงก์ออกไป จนถึง สิ้นมิ.ย. 2564
ดังนั้นประเมินว่า ลูกหนี้ที่เข้ามาตรการช่วยเหลือรอบใหม่ อาจจะกลับมาเพิ่มขึ้น ตามแรงกระทบต่อเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
โดยเฉพาะในช่วงระหว่างไตรมาส 1 และไตรมาส2 ปี 2564 นี้ อาจทำให้สัดส่วนหนี้รายย่อยที่ได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน (ไม่รวม สถาบันการเงินเฉพาะกิจ) มีโอกาสขยับขึ้นจากระดับ 23.5% ของสินเชื่อรายย่อยรวม ณ พ.ย. 2563 หรือคิดเป็นจำนวนบัญชีลูกหนี้ประมาณ 4 ล้านบัญชี วงเงินหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือรวม 1.15 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ คาดว่าจากโควิด-19รอบใหม่ ยังมีผลกระทบต่อเนื่องมายังแนวทางการตั้งสำรองเพื่อรองรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งหากสัญญาณจากฝั่งลูกหนี้ยังมีความเปราะบาง ก็อาจจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง ไม่ได้ลดลงตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ จากการขยาย การขอเข้ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ออกไปเป็น สิ้นมิ.ย. 2564 คาดว่า น่าจะช่วยชะลอแรงกดดัน จากการชำระคืนสินเชื่อลงบางส่วน ซึ่งจะมีผลทำให้ภาพรวมสินเชื่อในปีนี้อาจไม่ชะลอตัวลงมาก แม้ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น
โดยคาดการณ์ สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ น่าจะเติบโตได้ในกรอบ 3.0-4.5% ในปี 2564 เทียบกับปี 2563 ที่คาดขยายตัว 4.5%
ขณะที่การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้การผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของธปท. ที่จะมีผลถึงสิ้นปี และการเร่งจัดการหนี้เสียในเชิงรุกก็น่าจะช่วยชะลอการเกิดหนี้เสียใหม่ได้ ทำให้คาดเอ็นพีแอลสิ้นปี ของระบบธนาคารพาณิชย์น่าจะเพิ่มขึ้นสู่ 3.53% ต่อสินเชื่อรวม ในสิ้นปีนี้ จากคาดปี สิ้นปีก่อนที่ 3.35%