การลดขยะในธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ต
แม้ว่าโลจิสติกส์ย้อนกลับจะมีบทบาทสำคัญทั้งในแง่ของการดำเนินธุรกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อมก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำโลจิสติกส์ย้อนกลับที่ดีที่สุดคือ การลดความจำเป็นในการที่จะต้องทำโลจิสติส์ย้อนกลับนั่นเอง
นอกจากการเปิดจุดรับสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วบริเวณร้านสาขาเพื่อนำกลับมารีไซเคิล การจัดการโลจิสติกส์ย้อนกลับที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตเลือกใช้คือ การลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างมลภาวะเป็นพิษทางอากาศจากการขนส่งในกระบวนการโลจิสติกส์ย้อนกลับและการเผาเพื่อกำจัดขยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับขยะอาหารที่เกิดขึ้นในธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีปริมาณมหาศาลในแต่ละวัน ดังนั้นการสร้างอรรถประโยชน์สูงสุดจากสินค้าก่อนที่จะหมดอายุการใช้งานจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการดำเนินนโยบาย Zero Waste และ Zero Carbon ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการสร้างขยะอาหารและก๊าซพิษที่เกิดจากการทำลายขยะเหล่านั้นซึ่งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แล้ว ยังได้แปลงสินค้าเหล่านั้นให้เป็นการช่วยเหลือผู้ยากไร้ อันเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงอาหารแทนการสร้างมลพิษ โดยมีรูปแบบการจัดการที่หลากหลายดังนี้
• Coop บริษัทค้าปลีกและค้าส่งของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใช้วิธีการกำจัดของเสียแบบเป็นลำดับขั้น โดยคำนึงถึงการวางแผนและประเมินการใช้เป็นอันดับแรก โดยหากสินค้าใกล้หมดอายุ จะนำสินค้านั้นมาลดราคา และมีการตรวจเช็คสภาพสินค้าก่อน ในกรณีที่สินค้าที่นำมาลดราคานั้นยังขายไม่หมด จะนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิหรือนำไปแปรรูป ซึ่งมีร้านค้าสนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการบริจาคมากถึง 67% หรือเท่ากับ 4.6 ล้านมื้ออาหาร
• Sainsbury วางแผนที่จะลดขยะอาหารลง 50% ภายในปี 2030 โดยมีการกระจายสินค้าประเภทอาหารที่ยังมีคุณภาพและปลอดภัยในการบริโภคไปยังชุมชนและมูลนิธิต่างๆ โดย 92% ของจำนวนสาขาทั้งหมดมีพันธมิตรด้านการบริจาคอาหารส่วนเกินทั้งสิ้น
• Kroger ร่วมมือกับ Feeding America เปิดตัวนวัตกรรม Zero Hunger | Zero Waste Food Rescue program ซึ่งในปี 2019 ได้บริจาคอาหาร 101 ล้านปอนด์ให้กับพันธมิตร นอกจากนี้ ยังมีโครงการรีไซเคิลเศษอาหารใน 2,120 ร้านค้า และตั้งเป้าที่จะใช้โปรแกรมนี้ในทุกร้านค้า อีกทั้งยังเข้าร่วมโครงการ 10x20x30 Initiative ของ WRI ในฐานะพันธมิตรการค้าปลีกร่วมกับซัพพลายเออร์ 20 ราย ด้วยการตั้งเป้าหมายในการลดขยะอาหารทั่วโลกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030
• เทสโก้ โลตัส บริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังรับประทานได้ให้กับมูลนิธิและผู้ยากไร้ในทุก ๆ วัน เช่น มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ หรือ SOS ประเทศไทย สำหรับอาหารที่ไม่สามารถรับประทานต่อได้ เทสโก้ โลตัสจะใช้วิธีการบริจาคเพื่อเป็นอาหารสัตว์หรือทำปุ๋ย
นอกจากการลดปริมาณขยะอาหารและการส่งไปฝังกลบโดยการบริจาคอาหารที่ยังมีคุณภาพดีและปลอดภัยต่อการบริโภคไปยังองค์กรการกุศลต่าง ๆ แล้ว การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องคุณภาพและการยืดอายุการใช้งานของสินค้าประเภทอาหาร ก็สามารถช่วยลดการสร้างขยะและกระบวนการเคลื่อนย้ายสินค้าเหล่านั้นโดยไม่จำเป็น อาทิ
• การติดฉลากวันที่ที่มีความหลากหลายทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนและไม่มั่นใจในอายุการใช้งานของสินค้า Kroger จึงแก้ปัญหาโดยแนะนำให้ผู้ผลิตและร้านค้าปลีกใช้ฉลากไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การใช้ 'Use By' เพื่อระบุวันที่สินค้ายังปลอดภัยสำหรับการบริโภค และ “Best if Used By” เพื่อระบุวันที่สินค้ายังมีคุณภาพ สดใหม่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับความปลอดภัยต่อการบริโภค
• เทสโก้ โลตัส ได้ยกเลิกการระบุวันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์ผักและผลไม้สดกว่า 251 รายการ เพื่อช่วยผู้บริโภคลดการทิ้งสินค้าเพียงเห็นวันหมดอายุที่ระบุบนฉลากและบรรจุภัณฑ์ โดยเทสโก้ โลตัส ตั้งเป้าที่จะลดขยะอาหารให้ได้ 50% ภายในปี 2030 เช่นกัน
• Walmart ได้ให้คำแนะนำและสูตรอาหารแก่ลูกค้าเกี่ยวกับวิธีการเก็บรักษาอาหารอย่างปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเพื่อให้สามารถบริโภคได้เป็นเวลานาน
แม้ว่าโลจิสติกส์ย้อนกลับจะมีบทบาทสำคัญทั้งในแง่ของการดำเนินธุรกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อมก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำโลจิสติกส์ย้อนกลับที่ดีที่สุดคือ การลดความจำเป็นในการที่จะต้องทำโลจิสติส์ย้อนกลับนั่นเอง