ปี63 'มั่งคั่ง' กลุ่มPTT ฮวบ 2.4 แสนล้าน !
สำรวจ 'กลุ่มปตท.' รอบปี 2563 'ความมั่งคั่ง' หดหาย บ่งบอกผ่าน 'มาร์เก็ตแคป' ฮวบ 2.4 แสนล้านบาท ! หลังเผชิญโควิด-19 รุมเร้า ทำเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ 'ดาวเด่น' ยกให้ 'โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่' ฟาก 'กูรู' ยืนตำแหน่งหุ้นปลอดภัย ท่ามกลางวิกฤติ...
ธุรกิจใหญ่แค่ไหนก็โดนผลกระทบ ! จากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) และหนึ่งในนั้น คือ บมจ.ปตท. หรือ PTT เจ้าของอาณาจักรธุรกิจด้านพลังงานรายใหญ่ของประเทศ ที่มี 'มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด' หรือ Market Cap ขนาดใหญ่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยปี 2563 Market Cap อยู่ที่ 1.21 ล้านล้านบาท (30 ธ.ค.2563) และมีบริษัทในเครืออีก 5 บริษัท
โดย 'หุ้นตระกูลปตท.' ที่มี PTT เป็นผู้ถือหุ้นสัดส่วนใหญ่สุด เกือบทุกปีกลุ่มปตท. จะต้องมีการลงทุนใหญ่ๆ เพื่อต่อยอด 'ความมั่งคั่ง' (Wealth) ให้ธุรกิจหลักในกลุ่มเสมอๆ แต่ในปีก่อนกลุ่มปตท. ไม่ค่อยมีการลงทุนขนาดใหญ่ เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19
หากย้อนดูผลงานของหุ้นกลุ่มปตท. ในรอบปี 2563 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ไม่ว่าจะเป็น บมจ. ปตท.หรือ PTT ผ่านธุรกิจที่ดำเนินงานเอง และธุรกิจลงทุนผ่าน 5 บริษัทในกลุ่ม ประกอบด้วย 1.บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP สัดส่วนถือหุ้น 63.79% 2. บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC สัดส่วนถือหุ้น 47.68%
3.บมจ. ไออาร์พีซี หรือ IRPC สัดส่วนถือหุ้น 47.55% 4.บมจ. ไทยออยล์ หรือ TOP สัดส่วนถือหุ้น 45.03% และ 5.บมจ. ผลิตไฟฟ้า โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือGPSC สัดส่วนถือหุ้นทางตรง 22.81%
ต่างมี 'ตัวเลขมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด' หรือ Market Cap รวมถึง 'ฐานะการเงิน' อยู่ในแนวโน้ม 'ลดลง' ทั้งในส่วนของรายได้รวมและกำไรสุทธิ !
หากเปรียบเทียบตัวเลขมาร์เก็ตแคปหุ้นทุกตัวของ กลุ่มปตท. นับตั้งแต่ปี 2562 ถึงปี 2563 จะพบว่า 'ไม่สดใส' โดย หุ้น PTT มีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 1,256,771.84 ล้านบาท และ 1,213,927.34 ล้านบาท ลดลง 42,844.50 ล้านบาท หุ้น PTTEP มีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 494,263.18 ล้านบาท และ 390,051.07 ล้านบาท ลดลง 104,212.11 ล้านบาท
หุ้น PTTGC มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 257,004.40 ล้านบาท และ 263,767.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,763.27 ล้านบาท หุ้น IRPC มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 75,198.66 ล้านบาท และ 76,016.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 817.38 ล้านบาท หุ้น TOP มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 142,291.94 ล้านบาท และ 106,081.45 ล้านบาท ลดลง 36,210.49 ล้านบาท หุ้น GPSC มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 241,791.79 ล้านบาท และ 207,955.04 ล้านบาท ลดลง 33,836.74 ล้านบาท
ปี 2563 มาร์เก็ตแคปหุ้นกลุ่มปตท. หดหายเฉลี่ย 245,733.68 ล้านบาท !
ขณะที่ 'กำไรสุทธิ' 3 ปีย้อนหลัง (2560-งวด 9 เดือน 2563) หุ้น PTT อยู่ที่ 1,35,179.60 ล้านบาท 119,683.94 ล้านบาท 92,950.60 ล้านบาท และ 24,619.12 ล้านบาท หุ้น PTTEP อยู่ที่ 20,579.46 ล้านบาท 36,206.29 ล้านบาท 48,802.54 ล้านบาท และ 20,137.20 ล้านบาท หุ้น PTTGC อยู่ที่ 39,298.31 ล้านบาท 40,069.49 ล้านบาท 11,682.08 ล้านบาท และ -6,204.99 ล้านบาท
หุ้น IRPC อยู่ที่ 11,354.48 ล้านบาท 7,734.99 ล้านบาท -1,174.04 ล้านบาท และ -7,759.84 ล้านบาท หุ้น TOP อยู่ที่ 24,856.20 ล้านบาท 10,149.04 ล้านบาท 6,276.68 ล้านบาท และ-10,558.84 ล้านบาท และหุ้น GPSC อยู่ที่ 3,174.58 ล้านบาท 3,359.19 ล้านบาท 4,060.80 ล้านบาท และ 6,050.25 ล้านบาท ตามลำดับ
'โดดเด่นสุด' ในกลุ่มปี 2563 ต้องยกให้ 'ธุรกิจไฟฟ้า' อย่าง บมจ. ผลิตไฟฟ้า โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC เนื่องจากในช่วงวิกฤตินักลงทุนต่างกระจายความเสี่ยงไปยังการลงทุนที่ Defensive Stock (หุ้นปลอดภัย) เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และหนึ่งในหุ้นที่ต่างยกเป็นหลุมหลบภัยชั้นดี คือกลุ่มโรงไฟฟ้า เพราะว่ามีรายได้ที่แน่นอนอย่างสม่ำเสมอ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เกิดขึ้นระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นสัญญาของภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้มองว่าบางหลักทรัพย์ในกลุ่มนี้ มีความมั่นคงสูง
โดย GPSC ถือเป็นหัวหอกธุรกิจโรงไฟฟ้าของ PTT หลังจากเข้าซื้อกิจการ GLOW ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเช่นกัน ซึ่ง GPSC มีเป้าหมายการเติบโตร่วมกับกลุ่มปตท. รวมทั้งการเติบโตในเรื่องของพลังงานทดแทนและธุรกิจแบตเตอรี่ ในระหว่างปี 2563 ไปจนถึงปี 2568
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง (BLS) ระบุว่า การที่ GPSC แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทสามารถผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยี Semi-solid เซลล์แรกของประเทศไทย หรือ G-Cell ได้แล้ว และคาดว่าโรงงานจะแล้วเสร็จพร้อมดำเนินการผลิต (Start of Regular Production) ภายในไตรมาส 2 ปี 2564 ช่วงแรกโรงงานจะผลิตแบตเตอรี่ ทั้งในส่วน Mobility และ Stationary ป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรม สถานีอัดประจุ ธุรกิจขนส่ง
โดยประเมินว่า ในปัจจุบันระบบกักเก็บพลังงานของ GPSC อยู่ในช่วงนำร่อง แต่จะค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดจนนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้ และเนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาทดแทนรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปในระยะยาว
ดังนั้น PTT อาจต้องการเครื่องชาร์จ และ/หรือ ระบบกักเก็บพลังงานจำนวนมากเพื่อเปลี่ยนสถานีบริการน้ำมันจำนวน 1,968 แห่งในประเทศไทย (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2563 มีสถานีบริการที่ดำเนินงานโดยตัวแทนจำหน่ายจำนวน 1,613 แห่ง และสถานีบริการที่บริษัทเป็นเจ้าของเอง 355 แห่ง) เป็นสถานีบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าความเร็วสูงแทน หากเป็นไปตามสมมติฐานดังกล่าว GPSC จะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
ธุรกิจแบตเตอรี่ที่ประสบความสำเร็จเช่นนี้ ทำให้การกักเก็บพลังงานของ GPSC จะเป็นตัวผลักดันผลงานของกลุ่ม PTT ต่อจากยุคน้ำมัน
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2563 และไตรมาส 1 ปี 2564 จะสามารถประคองตัวได้ในระดับสูงอยู่ แม้ไตรมาส 4 ที่ผ่านมา โรงไฟฟ้า IPP-ห้วยเหาะ จะมี Dispatch ที่ลดลงตามฤดูกาล และในไตรมาส 1 ปี 2564 ค่า Ft จะลดลงเป็น -15.32 สตางค์ต่อหน่วย
อย่างไรก็ตาม การที่ผลประกอบการสามารถประคองตัวได้มาจาก ข้อแรก ราคาต้นทุนก๊าซธรรมชาติลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563 ถึง ไตรมาส 1 ปี 2564 ข้อสอง ประโยชน์จาก Synergy เป็นไปตามแผน ข้อสาม โรงไฟฟ้า GLOW Phase 5 เริ่มกลับมาจ่ายไฟฟ้าตั้งแต่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างติดตามประกันภัยความเสียหาย โดยมีค่าเสียโอกาสทั้งหมด 350– 400 ล้านบาท ข้อสี่ การขยายกำลังผลิตของ PTTGC ทำให้มีอุปสงค์ไฟฟ้าเพิ่ม 30 เมกะวัตต์ (MW) และไอน้ำเพิ่ม 50 ตันต่อชั่วโมง
'จากอัตรากำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้า SPP ของ GPSC น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่น่าประทับใจต่อไปในช่วงครึ่งแรกของปี 64 เนื่องจากราคาไฟฟ้าจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ในขณะที่ต้นทุนก๊าซยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นแนวโน้มกำไรของบริษัทจะยังคงสดใสในระยะสั้น'
ขณะที่ 'ธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมี' บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) มีมุมมองว่า แนวโน้มผลประกอบการของกลุ่มปตท. ปี 2564 คาดจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน โดยคาดการณ์กำไรสุทธิทั้งกลุ่ม (ไม่รวมธุรกิจโรงไฟฟ้า) กลับมาแตะระดับ 'แสนล้านบาท' อยู่ที่ 1.16 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 119% จากปีนี้คาดอยู่ที่ 5.3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากรับประโยชน์จากต้นทุนราคาก๊าซที่ปรับตัวลดลง สวนทางราคาขายที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ โดยคาดราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปีนี้ระดับ 47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากปีก่อน 42 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
โดยคาดฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจากปีนี้ ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปคพลัส นอกจากนี้ บริษัทไม่มีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงแยกก๊าซในช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้ผลประกอบการงวด 6 เดือนแรก ปี 2564 ฟื้นตัวเด่น ประเมินกำไรสุทธิที่ 7.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วน PTTGC คาดว่าผลประกอบการจะพลิกกลับมามีกำไร 1.1 หมื่นล้านบาท จากขาดทุน 4.9 พันล้านบาท ในปีก่อน โดยราคาขายผลิตภัณฑ์ยังอยู่ในช่วงขาขึ้นตามการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน รวมทั้งจะมีการเดินเครื่องโรงงานใหม่อีก 2 แห่ง หนุนกำลังการผลิตปี 2564 เพิ่มขึ้นอีก 10%
ด้านธุรกิจต้นน้ำของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ปี 2564 ยังอ่อนแอ ถูกกดดันจากราคาก๊าซที่อยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2563 โดยประเมินกำไรสุทธิปีนี้ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท จาก 2.5 หมื่นล้านบาท ในปีก่อน
ดังนั้น ปัจจัยดังกล่าวถือเป็น Sentiment เชิงบวกให้เศรษฐกิจฟื้นตัว การเดินทางระหว่างประเทศ-ท่องเที่ยวกลับมาเข้าสู่สภาวะปกติ และถือเป็นปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมัน รวมทั้งน้ำมันอากาศยานอีกด้วย
ด้าน 'กลุ่มโรงกลั่น' บล.หยวนต้า ประเมินว่า ผลการดำเนินงานปกติของกลุ่มโรงกลั่นในช่วงครึ่งปีแรก 2564 ยังอยู่ใน 'ระดับต่ำ' อาจยังไม่มีกำไรจากการดำเนินงาน เนื่องจากเชื่อว่าค่าการกลั่นจะฟื้นตัวได้จำกัด เพราะการแจกจ่ายวัคซีน การใช้งานวัคซีนอย่างแพร่หลายซึ่งจะทำให้การเดินทางระหว่างประเทศทำได้ตามปกติ อาจเกิดขึ้นในครึ่งปีหลังปีนี้ รวมทั้งอุปสงค์ที่สูงขึ้นอาจกระตุ้นค่าการกลั่นให้ปรับขึ้นได้จำกัด เพราะโรงกลั่นที่หยุดผลิต ลดอัตราการกลั่นในช่วงที่ผ่านมา สามารถเพิ่มอุปทานเข้ามาในตลาดได้ในเวลาไม่นาน
'การเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของประชาชนทั่วไปในครึ่งหลังปีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมโรงกลั่น ซึ่งคาดกำไรกลุ่มโรงกลั่นยังเปราะบาง และค่าการกลั่นจะฟื้นตัวได้จำกัดจากอัตราการผลิตคงเหลือที่อยู่ระดับสูง โดยภาพรวมอุปสงค์สินค้าต้นน้ำ-ปลายน้ำปีนี้จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ราคาพลังงาน-ปิโตรเคมีขยายตัว'
อย่างไรก็ตาม ไฮไลท์ในปี 2564 กลุ่มปตท. สร้างความมั่งคั่งอีกครั้ง หลังเตรียมนำ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยล่าสุดกำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้นไอพีโอที่ 16-18 บาท ซึ่งมีค่า P/E ที่ประมาณ 23.9-26.9 เท่า มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 10 บาท มูลค่าเงินระดมทุนราว 41,760-46,980 ล้านบาท ! โดยจะนำเงินไปขยายการลงทุนในธุรกิจ