มกอช. สร้างมาตรฐาน “นมควายดิบ”
ประภัตร มกอช. ดัน มกอช.เร่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรฯ ครบทุกมิติลดการนำเข้า รุกตลาดส่งออกต่างประเทศ ล่าสุดกำหนด 8 ร่างมาตรฐานใหม่ ส่งเสริมเลี้ยงนมควายดิบ
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อดำเนินการประกาศ เป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศ ซึ่งการปฏิบัติการสร้างมาตรฐานสินค้าจะเป็นกลไกลสำคัญในการช่วยยกระดับคุณภาพสินค้าและมูลค่าการส่งออกทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพและยังสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิต
โดยมาตรฐานใหม่ จำนวน 8 เรื่อง ได้แก่ 1.น้ำนมควายดิบ 2.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มควายนม 3.แนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มควายนม 4.การชันสูตรโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร 5.การปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำยางสด 6.แนวทางปฏิบัติสำหรับการบรรจุหีบห่อและการขนส่งผักและผลไม้สด 7.การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงเชือดชำแหละจระเข้ และ 8.แนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรการปฏิบัติเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล
ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ว่า สาระสำคัญของร่างมาตรฐานใหม่ 8 เรื่อง คือ น้ำนมควายดิบ เพื่อช่วยส่งเสริมการเลี้ยงควายนมให้เป็นอาชีพทางเลือก ช่วยส่งเสริมด้านการตลาดนมและผลิตภัณฑ์นมเพื่อให้เป็นสินค้าทดแทนการนำเข้าประเภทเนยและชีสที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท
การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มควายนม แนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรการปฏิบัติเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มควายนม เพื่อกำหนดเกณฑ์การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มควายนม ครอบคลุมข้อกำหนดตั้งแต่องค์ประกอบฟาร์ม การจัดการฟาร์ม บุคลากร สุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม และการบันทึกข้อมูล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ควายนมมีสุขภาพดี และได้น้ำนมดิบที่มีคุณภาพ ในการนำไปใช้ผลิตเป็นอาหารที่ปลอดภัยต่อการบริโภค
ด้าน การชันสูตรโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เพื่อกำหนดการชันสูตรโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรทางห้องปฏิบัติการ ที่มีความสอดคล้องกับคู่มือการชันสูตรโรคสัตว์บกขององค์การสุขภาพสัตว์โลก เพื่อให้ได้ให้มาตรฐานการชันสูตรโรคที่เป็นปัจจุบัน และมีความเหมาะสมกับการตรวจติดตาม และเฝ้าระวังโรคของประเทศไทย ครอบคลุมตั้งแต่การเก็บตัวอย่าง การนำส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการ และการชันสูตรโรค ซึ่งมี 2 วิธีการหลัก คือ การตรวจหาเชื้อ (Identification of the Agent) และการตรวจทางวิทยาเซรุ่ม (Serological Test)
การปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำยางสด กำหนดการปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำยางสด ตั้งแต่ขั้นตอนการรับน้ำยางสด การทดสอบคุณภาพน้ำยางสด การควบคุมการปฏิบัติงาน จนถึงการขนส่งเพื่อจำหน่าย เพื่อให้ได้น้ำยางสดที่มีคุณภาพ เหมาะสำหรับเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปขั้นกลาง โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน
แนวทางปฏิบัติสำหรับการบรรจุหีบห่อและการขนส่งผักและผลไม้สด มีข้อกำหนดสอดคล้องกับมาตรฐาน Codex เรื่อง Recommended International Code of Practice for Packaging and Transport of Fresh Fruits and Vegetables (CXC 44-1995) ได้แก่ การบรรจุหีบห่อเพื่อรักษาคุณภาพของผลิตผลระหว่างการขนส่งและการจำหน่าย วิธีปฏิบัติในการลดอุณหภูมิเบื้องต้น การออกแบบ สภาวะ และวิธีการขนส่งและขนถ่าย ของอุปกรณ์ขนส่ง
การดูแลรักษาความสะอาดและซ่อมบำรุงพาหนะและภาชนะบรรจุขนาดใหญ่สำหรับขนส่งหรือตู้คอนเทนเนอร์ และ การปฏิบัติที่ถูกต้องในการขนถ่ายผลิตผล การรักษาอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ การไหลเวียนของอากาศ และการดัดแปรสภาพบรรยากาศในภาชนะบรรจุขนาดใหญ่สำหรับขนส่งหรือตู้คอนเทนเนอร์
การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงเชือดชำแหละจระเข้ กำหนดครอบคลุมตั้งแต่การจับบังคับและการขนส่งจระเข้มีชีวิตจากฟาร์มสู่โรงเชือด เพื่อให้ได้ผลิตผลจระเข้ส่วนที่จะนำไปบริโภคที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ โดยคำนึงถึงสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งมาตรฐานฯนี้ใช้กับจระเข้ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงจากฟาร์มที่ได้รับอนุญาต หรือแจ้งประกอบกิจการฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมกับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ และแนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล แนวปฏิบัตินี้ เพื่อใช้อธิบายและขยายความทางวิชาการ ครอบคลุมเหตุผล และแนวทางการปฏิบัติในแต่ละข้อกำหนดของมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ. 9055-2562)
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบในการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การปฏิบัติ ทางการเกษตรที่ดีสำหรับโกโก้ 2.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มปศุสัตว์เพื่อการบริโภค และ 3. การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล พร้อมกับเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร ทั้ง 3 มาตรฐานดังกล่าวด้วย