เทรนด์บริหารธุรกิจ 'เอสเอ็มอี' (SMEs) ที่กำลังจะมาถึง
ส่องเทรนด์การบริหารธุรกิจ "เอสเอ็มอี" (SMEs) ที่กำลังจะมาถึง ไม่เพียงแต่การบริหารให้ธุรกิจอยู่รอด แต่ต้องบริหารความปลอดภัยต่อผู้บริโภค คุณภาพสินค้าในธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต ความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงการบริหารเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม
การบริหารธุรกิจของเอสเอ็มอีไทยเท่าที่ผ่านมา มักจะได้รับอิทธิพลจากเทรนด์การบริหารธุรกิจที่นำเสนอมาจากประเทศตะวันตก โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้ว โดยจะแพร่กระจายเข้ามายังธุรกิจขนาดใหญ่ก่อน แล้วจึงล้นทะลักมาถึงเอสเอ็มอี ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจร่วมกับธุรกิจใหญ่ที่รับเอาแนวทางการบริหารธุรกิจใหม่เหล่านั้นเข้ามาใช้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ GMP และ HCCP เพื่อบริหารความปลอดภัยต่อผู้บริโภคในธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร ISO 9001 เพื่อบริหารคุณภาพสินค้าในธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต หรือมาตรฐานในชุด ISO ต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อบริหารความปลอดภัยในการทำงาน การบริหารเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบริหารเชิงกลยุทธ์ให้กับธุรกิจ เช่น การบริหารธุรกิจด้วยตัวชี้วัด KPI และ Balance Score Card ตลอดจนการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ (Business Continuity Plan-BCP) ที่ธุรกิจต่างๆ นำมาใช้ หรือนำมาปัดฝุ่นใช้ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากโควิด-19 เป็นต้น
สำหรับในอนาคตอันใกล้ที่จะมาถึง เรื่องของเทรนด์ที่จะผลักดันให้ธุรกิจต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความยั่งยืนของโลก เป็นเรื่องที่กำลังมาแรงในประเทศตะวันตก และประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังให้ความสนใจและมีกระแสตอบรับอย่างแพร่หลายของธุรกิจต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้อง คุ้มครอง และแก้ไขสถานการณ์ที่กำลังคุกคามโลกอยู่ในปัจจุบัน จากปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่มีที่มาจากการกระทำของมนุษย์ การลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกนำไปใช้อย่างฟุ่มเฟือย และก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ในชุมชนและสังคม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความรับผิดชอบต่อสังคมและทรัพยากรธรรมชาติของธุรกิจ ภายใต้แนวคิด การทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ และการพัฒนาความยั่งยืนของธุรกิจ เริ่มถูกผลักดันให้นำมาใช้กับธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
และเป็นที่แน่นอนว่า จะต้องมีการล้นกระจายมาสู่ธุรกิจเอสเอ็มอีในห่วงโซ่ธุรกิจเหล่านั้นด้วยในไม่ช้า
การบริหารธุรกิจภายใต้แนวคิดการพัฒนาความยั่งยืน อาจจำแนกออกได้เป็น 2 แนวทางใหญ่ๆ ที่ธุรกิจในระดับเอสเอ็มอี ควรจะเริ่มทำการศึกษาเพื่อเตรียมธุรกิจของตนเองให้พร้อมรับสถานการณ์ หากได้รับการเรียกร้องหรือร้องขอจากธุรกิจใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะลูกค้า หรือซัพพลายเออร์ หรืออยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจในระดับย่อยลงมา
แนวทางแรก เน้นให้ความสนใจกับการบริหารจัดการธุรกิจให้ครอบคลุมเรื่องของ การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การดูแลสังคม และการสร้างธรรมาภิบาลธุรกิจ ขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งมีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า การทำ ESG (Environment Social and Governance) เป็นการแสดงความรับผิดชอบของธุรกิจที่จะไม่สร้างผลกระทบใดๆ ต่อสภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในธุรกิจ
แนวทางที่ 2 เน้นการบริหารจัดการเพื่อให้ธุรกิจสร้างผลการดำเนินธุรกิจใน 3 มิติ ได้แก่ มิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสิ่งแวดล้อม และมิติทางสังคม ธุรกิจที่ใช้แนวทางนี้ มักจะอ้างถึงคำว่า SD ซึ่งหมายถึงการพัฒนาความยั่งยืน (Sustainability Development) โดยเน้นให้ธุรกิจต้องคำนึงถึงการสร้างผลกำไรหรือผลตอบแทนทางธุรกิจให้เติบโตได้อย่างมั่นคงยั่งยืน โดยไม่ลืมถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การไม่ก่อให้เกิดมลภาวะที่เป็นพิษ และการใส่ใจดูแลชุมชนและสังคมให้มีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ทั้ง 2 แนวทาง มีความคล้ายคลึงกันอย่างมากในมุมมองของการบริหารธุรกิจ โดยเน้นให้ธุรกิจ ต้องจัดทำระบบบริหารธุรกิจที่มุ่งเน้นเป้าหมาย ESG หรือ SD ด้วยระบบที่เป็นขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การประกาศนโยบาย การกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายที่กำหนด การเฝ้าตามและติดตามผลการดำเนินการตามกลยุทธ์ และการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ
การบริหารจัดการธุรกิจในเทรนด์ใหม่นี้ จะช่วยให้ธุรกิจได้รับการยอมรับและความน่าเชื่อถือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า คู่ค้า พนักงาน สถาบันการเงิน หน่วยงานกำกับดูแลของภาครัฐ ตลอดจนสมาชิกในชุมชนและสังคมที่อยู่โดยรอบสถานประกอบการของธุรกิจ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
เป้าหมายใหญ่ของการผลักดันให้ธุรกิจมีส่วนร่วมในการพัฒนาความยั่งยืนของโลก ไม่ได้อยู่ที่ความพยายามให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืนแต่เพียงตัวเอง เพราะหากโลกเกิดความไม่ยั่งยืน ธุรกิจก็คงจะอยู่อย่างยั่งยืนต่อไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจเอสเอ็มอี