‘ยานยนต์ไร้คนขับ’ จะเปลี่ยนประกันภัยอย่างไร?
"ยานยนต์ไร้คนขับ" เทคโนโลยีที่ทั่วโลกจับตามอง เนื่องจากจะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตและช่วยแก้ปัญหาขนส่งสาธารณะในภาพรวม ขณะเดียวกันยังมีข้อสงสัยถึงประเด็น "ประกันภัย" ที่ผู้ใช้รถทุกคนต้องมี จะเปลี่ยนไปแค่ไหน อย่างไร?
นอกจากความสะดวกสบายของผู้ใช้ยานยนต์ไร้คนขับแล้ว ยานยนต์ไร้คนขับยังเป็นที่คาดหมายว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุทางท้องถนน เนื่องจากอุบัติเหตุทางท้องถนนนั้นเกิดจากคนขับเป็นสาเหตุมากกว่าร้อยละ 90 โดยสหภาพยุโรปได้มีเป้าหมายที่จะใช้อย่างเต็มรูปแบบเพื่อลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนให้เหลือใกล้เคียง 0 ภายในปี 2050
นอกจากนี้ยานยนต์ไร้คนขับยังเป็นเทคโนโลยีที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาขนส่งสาธารณะในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเมืองหรือประเทศที่เข้าสังคมสูงวัยได้ด้วย ตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ได้กำลังพัฒนายานยนต์ไร้คนขับเพื่อเตรียมมาใช้สำหรับการขนส่งสาธารณะในภาพรวม ส่วนในเมืองซาไก จ.อิบารากิ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นประชากรสูงวัย ได้มีการจัดทำโครงการรถเมล์ไร้คนขับเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนคนขับรถเมล์ และเพื่อให้ผู้สูงอายุในเมืองสามารถใช้ชีวิตและเดินทางไปไหนต่อไหนได้อย่างปกติ
ย้อนกลับมาดูเรื่องของอุบัติเหตุทางท้องถนน ระบบการทำประกันภัยภาคบังคับที่ให้เจ้าของรถทุกคนรับผิดชอบค่าเบี้ยประกันตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 นั้น ก็เป็นระบบที่มีเบื้องหลังส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุที่ว่า อุบัติเหตุทางท้องถนนนั้นเกิดจากคนขับเป็นสาเหตุหลัก จึงควรให้กระจายความรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุทางท้องถนนระหว่างกลุ่มเจ้าของรถด้วยกันเอง ซึ่งโดยทั่วไปเป็นกลุ่มเดียวกับผู้ใช้รถซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางท้องถนน
ในระยะยาว หากรถยนต์ไม่ต้องมีคนขับ หรือบทบาทของคนขับนั้นน้อยลง เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี คำถามที่ตามมาคือคนขับหรือเจ้าของรถควรจะยังต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนนโดยอ้อมในรูปแบบของประกันภัยภาคบังคับต่อหรือไม่
หากสมมติว่าสัดส่วนของอุบัติเหตุที่คนขับเป็นสาเหตุนั้นลดลงเหลือเพียงร้อยละ 10 ในขณะที่สาเหตุส่วนใหญ่ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนนั้นมาจากความผิดพลาดของระบบยานยนต์ไร้คนขับ ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ของยานยนต์ไร้คนขับ หรือสภาพของท้องถนน ในกรณีเช่นนี้การกระจายความรับผิดชอบโดยผ่านการบังคับให้เจ้าของรถทำประกันภัยนั้น อาจจะไม่เหมาะสมอีกต่อไป จากมุมมองทางกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ จึงอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องยกเครื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535
แต่ปัญหาที่ยากกว่า คือในระยะใกล้และระยะกลางซึ่งเป็นระยะเปลี่ยนถ่ายไปสู่สังคมที่ยานยนต์ไร้คนขับถูกนำมาใช้เต็มตัว ซึ่งในระยะนี้ บนท้องถนนจะมียานยนต์ไร้คนขับหลายระดับอยู่ปะปนกัน โดยในต่างประเทศก็ได้เริ่มมีการพิจารณาการปรับใช้ และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับประกันภัยรถยนต์ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือการความเปลี่ยนแปลงการใช้รถใช้ถนนที่จะมียานยนต์ไร้คนขับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ตัวอย่างเช่นในประเทศญี่ปุ่นได้มีการพิจารณาข้อเสนอในการแก้ไขในหลายรูปแบบ ก่อนที่จะทำการพิจารณายกเครื่องระบบประกันภัยรถยนต์ทั้งระบบ หรือแก้ไขระบบประกันภัยรถยนต์โดยให้ผู้ผลิตระบบรถยนต์ไร้คนขับนั้นมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบค่าเบี้ยประกันบางส่วน เช่น ข้อเสนอการบังคับให้มีการติดตั้งระบบตรวจจับสาเหตุของอุบัติเหตุที่มาจากการใช้ระบบยานยนต์ไร้คนขับเพื่อให้บริษัทประกันภัยสามารถไล่เบี้ยผู้ผลิตระบบรถยนต์ไร้คนขับเพื่อฟ้องร้องในส่วนของค่าเสียหายที่เกิดจากยานยนต์ไร้คนขับได้ง่ายขึ้น
นอกจากประเทศญี่ปุ่น หลายประเทศก็ได้มีการพิจารณาหรือออกกฎหมายมาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้ในหลายๆ ด้าน ตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักรออกกฎหมาย The Automated and Electric Vehicles Act 2018 ที่มีข้อบัญญัติเบื้องต้นเกี่ยวกับความรับผิดของบริษัทประกันภัยในกรณีของอุบัติเหตุที่เกิดจากยานยนต์ไร้คนขับ โดยให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากการใช้ระบบขับขี่อัตโนมัติในกรณีที่มีอุบัติเหตุบนท้องถนนและยานพาหนะนั้นได้ทำประกันไว้ และยังมีการบัญญัติเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดจากการแก้ไขเปลี่ยนแปลงซอฟต์แวร์ หรือการที่ไม่ได้อัพเดตซอฟต์แวร์ โดยให้ถือเป็นเหตุในการจำกัดความรับผิดของบริษัทได้ เป็นต้น
โดยสรุปแล้ว ยานยนต์ไร้คนขับคนน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของระบบประกันภัยรถยนต์อย่างสิ้นเชิงในอนาคตอันใกล้
(บทความนี้เป็นความเห็นในทางวิชาการส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่)