'เงินประกันรายได้เกษตรกร' ตอบข้อสงสัยชาวสวนยาง ทำไมยังไม่ได้งวด 1-2
ตรวจสอบ "เงินประกันรายได้เกษตรกร" ตอบข้อสงสัยชาวสวนยาง ทำไมยังไม่ได้งวด 1-2
เที่ยงวันนี้ (22 ม.ค.) ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล ตอบข้อสงสัยชาวสวนยาง ที่ยังไม่ได้รับเงินประกันรายได้ งวด 1 และ 2 อาจเป็นไปได้ในกรณีดังนี้
1. เกษตรกรชาวสวนยาง ปิดบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพราะกลัวธนาคารหักหนี้ ขอให้ไปเปิดบัญชีเพื่อรับเงินส่วนต่าง ไม่มีการหักหนี้
2. ผู้มีสิทธิรับเงินเสียชีวิต ต้องแจ้งการยางแห่งประเทศไทย เพื่อเงินจะได้เข้าบัญชีทายาท
3. ชื่อบัญชีธนาคาร กับที่แจ้งกับการยางแห่งประเทศไทยไม่ตรงกัน มีที่เปลี่ยนชื่อนามสกุล
4. เนื้อที่ในทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางไม่ตรงกับข้อมูลที่แจ้งปลูกยาง
ดังนั้น ขอให้ตรวจสอบว่าตนเองเข้าข่ายกรณีที่กล่าวมาหรือไม่ และติดต่อการยางแห่งประเทศไทย หรือ ธ.ก.ส.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังไม่เคยชี้แจงปัญหาดังกล่าว ปล่อยให้ชาวสวนยางสงสัยเรื่อยมา
โดย ธ.ก.ส. ชี้แจงล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2563 นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเสนอโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมติคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้ที่แน่นอนจากการประกันรายได้ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาราคายางตกต่ำ อันเนื่องมากจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสร้างความมั่นคงในอาชีพ เป้าหมายเกษตรกร 1.83 ล้านราย พื้นที่สวนยางกว่า 18.28 ล้านไร่ วงเงินงบประมาณ 9,717 ล้านบาท โดยประกันรายได้ตามการผลิตแต่ละประเภท ได้แก่
ยางพาราแผ่นดิบคุณภาพดี ประกันราคา 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) ประกันราคา 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ประกันราคา 23 บาท/กิโลกรัม กำหนดระยะเวลาประกันรายได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน (เดือนตุลาคม 2563 – มีนาคม 2564)
โดย (10 ธันวาคม 2563) ธ.ก.ส. ได้เริ่มโอนเงินประกันรายได้ดังกล่าวไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท แก่เกษตรกรจำนวนกว่า 9 แสนราย