'คลัง' นัดถกด่วน สางปัญหาเรียกคืน 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ'
กระทรวงคลังนัดถกด่วน ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหากรณี "เรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" เล็งแก้ไขระเบียบเพื่อเปิดทางผู้สูงอายุนอกระบบรับเบี้ยคนชราได้ แม้จะเป็นผู้รับบำนาญพิเศษ
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้(27 ม.ค.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เรียกผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าหารือถึงกรณีการเรียกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืนจากผู้ที่รับเงินบำนาญพิเศษ เพื่อหาแนวทางแก้ไขในเรื่องดังกล่าว เนื่องจาก ขณะนี้ พบว่า มีคนชราที่รับเบี้ยคนชราจากภาครัฐ ขณะเดียวกัน ก็รับเงินบำนาญพิเศษควบคู่ไปด้วย ซึ่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการรับเบี้ยยังชีพคนชราข้อหนึ่งกำหนดว่า ผู้ที่รับเบี้ยยังชีพคนชรานั้น จะต้องไม่เป็นผู้รับเงินบำนาญ หรือ เงินบำนาญพิเศษ
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นายอาคมได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในลักษณะดังกล่าว ทางกรมบัญชีกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ควรมีการแก้ไขระเบียบเงื่อนไข เพื่อเปิดทางให้ผู้สูงอายุที่อยู่นอกระบบสามารถรับเบี้ยคนชราได้ แม้จะเป็นผู้ที่ได้รับเงินบำนาญพิเศษจากการสูญเสียญาติพี่น้อง เพราะถือว่า ผู้สูงอายุควรจะมีสิทธิได้เบี้ยคนชรา ส่วนกรณีการเรียกเงินคืนในช่วงที่ยังไม่มีการแก้ไขระเบียบนั้น ทางท้องถิ่นก็ต้องเรียกคืนตามระเบียบ แต่อาจจะให้ทยอยคืนเป็นงวดๆ
แหล่งข่าวกล่าวว่า การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพคนชรานั้น ดำเนินการโดยอปท.กระทรวงมหาดไทย โดยท้องถิ่นจะทำการเปิดรับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตพื้นที่ที่ยื่นคำขอและต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดให้เป็นประจำ ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ ผู้ที่ยื่นรับเบี้ยคนชราจะต้องลงนามรับทราบ
ทั้งนี้ นับตั้งแต่รัฐบาลกำหนดให้การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพคนชราเป็นสวัสดิการประเภทหนึ่งของรัฐบาล และ กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์คนชราในปี 2548 การจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราจึงเริ่มเกิดขึ้นและปรับเป็น 500 บาทต่อเดือน จากเดิมอยู่ที่ 200 บาทต่อเดือน โดยอปท.เป็นหน่วยงานที่จัดทำข้อมูลและจ่ายเงินให้แก่คนชรา
ต่อมาในปี 2562 รัฐบาลได้มีนโยบายให้มีการจ่ายเงินในลักษณะการเบิกจ่ายตรง โดยให้กรมบัญชีกลางเป็นผู้ดำเนินการจ่ายเงินตามฐานข้อมูลของอปท.และเชื่อมโยงกับข้อมูลการจ่ายเงินบำนาญของกรมบัญชีกลาง ซึ่งได้นำร่องในจังหวัดสิงห์บุรีเป็นแห่งแรก ต่อมาได้ทำการจ่ายตรงพร้อมกันทั่วประเทศนับตั้งแต่ปี 2563
แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อฐานข้อมูลการจ่ายเงินเบี้ยชีพคนชราเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลการจ่ายเงินบำนาญของกรมบัญชีกลาง ระบบจะทำการคัดกรองผู้ที่รับเงิน 2 ช่องทางออกไป กล่าวคือ ผู้ที่รับทั้งเบี้ยชีพคนชรา และ บำนาญหรือบำนาญพิเศษ โดยจะตัดการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพออกไป เพราะถือว่า ผิดเงื่อนไขการรับเบี้ยยังชีพคนชรา เหลือแต่เงินบำนาญหรือเงินบำนาญพิเศษ เนื่องจาก เป็นเงินที่ต้องได้รับตามกฎหมาย
“เมื่อระบบคัดกรองคนที่รับเงิน 2 ช่องทางและตัดเงินเบี้ยยังชีพคนชราออกไป ในส่วนนี้ ทางอปท.จึงเริ่มทำการเรียกเงินเบี้ยยังชีพคนชราอย่างที่เป็นข่าว โดยคนชราจะต้องจ่ายเงินคืนนับตั้งแต่ที่มีการรับเงินพร้อมกัน 2 ช่องทางดังกล่าว เช่น คนชรารายหนึ่ง เริ่มรับเงินบำนาญพิเศษและเบี้ยผู้อายุเมื่ออายุ 60 ปี ในปี 2560 เท่ากับว่า จนถึงปัจจุบันรับเงิน 2 ช่องทางมาแล้ว 3 ปี ดังนั้น คนชรารายนี้จะต้องคืนเงินเบี้ยยังชีพย้อนหลัง โดยเริ่มนับตั้งแต่ปี 2560”