'สภาเกษตรกร' เล็งคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังหวั่นปีหน้าหมดพื้นที่ปลูก
"สภาเกษตรกร" หวั่นหมดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง เหตุจากโรคไวรัสใบด่างระบาดไม่หยุด เกิน 4 แสนไร่แล้ว ยังไมม่มีแนวทางป้องกัน เตรียมเสนอ อบจ.ร่วมสร้างความยั่งยืน ด้านสศก.แนะ เก็บเกี่ยวครบอายุ ช่วยเปอร์เซ็นต์แป้งสูง ขายได้ราคา
นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาโรคไวรัสใบด่างในมันสำปะหลังยังระบาดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2561 โดยพบพื้นที่แพร่ระบาด 28 จังหวัดแล้ว การระบาดเพิ่มขึ้นคิดเป็นนัยยะเกินกว่า 200% พื้นที่เกินกว่า 4 แสนไร่ และไม่สามารถควบคุมหรือป้องกันโรคได้ ส่งผลให้ปัญหาต่างๆตามมา ทั้งจากพื้นที่การแพร่ระบาด การเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์ สายพันธุ์ต้านทาน ราคาตกต่ำ การขนส่ง การส่งออกต่างประเทศ โครงการช่วยเหลือเยียวยา ฯลฯ
ปัญหาหลักประเด็นสำคัญหนึ่งคือกฎเกณฑ์ กติกาของระบบราชการที่เป็นเงื่อนไข อุปสรรค หากสถานการณ์ยังเป็นระบาดเช่นนี้ เป็นไปได้ว่าในปีการผลิต 2565 จะรุนแรงและรุกลามปพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศจนไม่มีพื้นที่ปลูก ด้านราคามันสำปะหลังสภาเกษตรกรแห่งชาติพยายามผลักดันเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เช่นล่าสุดได้จัดทำข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการราคาไปยัง 4 สมาคม เพื่อกำหนดราคามันสำปะหลังภายในประเทศ ประกาศกำหนดราคาแนะนำ และแจ้งประกาศราคาแนะนำทุก 15 วัน รวมทั้งกำหนดให้มีมาตรการเพื่อป้องกันการขายตัดราคา
ทั้งนี้ หากมองถึงการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ พยายามผลักดันให้เกษตรกรในพื้นที่อย่างน้อย 1 อำเภอ ได้มีการรวมตัวกันอย่างเป็นรูปแบบมีพลังยิ่งกว่าแปลงใหญ่ วางแผนการผลิต คุณภาพ ระยะเวลา การเก็บเกี่ยวและรวบรวมผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย เกษตรกรจะสามารถสร้างและควบคุมกลไก อำนาจการต่อรองเรื่องราคาได้ในวัตถุดิบการเกษตรทุกสาขาเพราะอยู่ในมือเกษตรกร
อย่างไรก็ตาม ด้านการแปรรูปก็สำคัญ มีผลงานวิจัยหลากหลายที่เกษตรกรสามารถแปรรูปได้ในเบื้องต้น เช่น การแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์ สุราชุมชน แป้งฟลาวร์สำหรับคนแพ้กลูเตน ซึ่งต้องร่วมกันส่งเสริม ยกระดับการตลาดรวมทั้งงานวิจัยการแปรรูปและเรื่องมาตรฐานสถานที่ผลิตด้วย
“ ถ้าจัดทำหนึ่งตำบลหนึ่งอำเภอรวบรวมผลผลิตได้ เกษตรกรจะมีอำนาจต่อรองขึ้นมาทันทีไม่ว่าพืชชนิดไหน ด้วยวัตถุดิบอยู่ในมือเกษตรกรแต่ต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่ายนะ สภาเกษตรกรจะขายแนวคิด โดยนำร่องที่จังหวัดนครราชสีมาก่อน เชื่อมโยงแผนภาคการเกษตรไปสู่แผนการบริหารจัดการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็น 1 ในเรื่องของการสร้างองค์ความรู้ยกระดับรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกร ซึ่งต้องดูทิศทางและเตรียมเสนอผ่านอบจ. เช่น แผนในเรื่องของการบริหารจัดการท้องถิ่น เพื่อให้เป็นนโยบายของ อบจ. ต่อไป ”
นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์การผลิตมันสำปะหลังจังหวัดนครราชสีมา พบว่า ปี 2564 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ ธ.ค. 2563) คาดว่ามีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 1.45 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 1.40 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 0.05 ล้านไร่ หรือ 3.34% เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทน ส่วนผลผลิตรวม 4.28 ล้านตัน ลดลงจากปี 2563 ที่มีจำนวน 4.63 ล้านตัน หรือลดลง 0.35 ล้านตัน หรือ 7.48% เนื่องจากเกษตรกรประสบปัญหาการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง และบางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงเดือนต.ค. 2563 เกษตรกรจึงเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนครบกำหนด ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง
สำหรับผลผลิตมันสำปะหลังของจังหวัดนครราชสีมาจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนม.ค.- เม.ย. 2564 ราคาหัวมันสำปะหลังสดที่เกษตรกรขายได้ (ราคา ณ ม.ค. 2564) เฉลี่ย 1.77 บาทต่อกิโลกรัม ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากราคาเฉลี่ย 1.75 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตมันสำปะหลังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งมีความต้องการใช้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่นี้
คาดว่าจะส่งผลให้ราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของประเทศมีแนวโน้มลดลง ซึ่งทำให้ราคาหัวมันสำปะหลังสดที่เกษตรกรขายได้อาจจะปรับตัวลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ดังกล่าวเริ่มคลี่คลาย ราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น
ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนในช่วงสถานการณ์ที่ราคามันสำปะหลังตกต่ำ รัฐบาลจึงได้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2563/64 โดยกำหนดราคาและปริมาณประกันรายได้หัวมันสำปะหลังสดเชื้อแป้ง 25% กิโลกรัมละ 2.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 100 ตัน และต้องไม่ซ้ำแปลง ในพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศโดยเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนผู้ปลูกมันสำปะหลังกับกรมส่งเสริมการเกษตร และแจ้งเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2563 - 31 มี.ค. 2564 ทั้งนี้ ให้เกษตรกรแจ้งระยะเวลาเก็บเกี่ยวกับกรมส่งเสริมการเกษตรนับจากวันที่เพาะปลูกไม่น้อยกว่า 8 เดือน
อย่างไรก็ตาม จากการะบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังส่งผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิต ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา (ณ 15 มกราคม 2564) พบการระบาดมากที่สุดในพื้นที่อำเภอเสิงสาง ครบุรี และปักธงชัย พื้นที่ความเสียหายรวม 2.74 แสนไร่ คิดเป็น 19 %ของเนื้อที่เก็บเกี่ยวทั้งจังหวัด ซึ่งขณะนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ดำเนินการแก้ไขไปกว่า 43% ของพื้นที่การระบาด ซึ่งทางจังหวัดนครราชสีมา ได้เร่งดำเนินการและทำความเข้าใจให้เกษตรกรยินยอมทำลายแปลงมันหากพบการระบาด แต่หากเกษตรกรไม่ยินยอมให้ทำลายแปลงมัน ทางจังหวัดนครราชสีมาจะแจ้งข้อมูลให้ศูนย์วิจัยและพัฒนการเกษตรนครราชสีมา และกรมวิชาการเกษตรประกาศเป็นพื้นที่กักพืชเป็นรายแปลงต่อไป
ผู้อำนวยการ สศท.5 กล่าวทิ้งท้ายว่า เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดของโรคเบื้องต้น เกษตรกรควรใช้ต้นพันธุ์มันสำปะหลังที่สะอาดและต้านทานต่อโรค ควบคุมปริมาณแมลงหวี่ขาวยาสูบ หมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เกษตรกรควรเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่ครบอายุ ซึ่งจะได้เปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งสูง น้ำหนักดี ขายได้ราคาดี หากเกษตรกรเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่มีอายุน้อย จะทำให้มันสำปะหลังหัวเล็ก การสะสมน้ำหนักต่ำ ผลผลิตต่อไร่น้อย และไม่ควรเก็บเกี่ยวในช่วงที่มีฝนตกชุก เพราะจะทำให้มีเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ หากเกษตรกรหรือท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตมันสำปะหลังจังหวัดนครราชสีมา สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.5 นครราชสีมา โทร. 0 4446 5120 หรืออีเมล [email protected]