‘กรมชล’หวั่นน้ำน้อยกระทบปลูกข้าว หลังปลูกเกินแผนแล้ว124%
กรมชลเตือนขาดแคลนน้ำ หลังนาปรังพุ่ง 4.26 ล้านไร่ เกินแผนกว่า 124 %ลุ่มเจ้าพระยาแห่ปลูกกว่า 2.63 ล้านไร่น้ำเหลือใช้แค่39%
นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า ในขณะนี้การเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 4.26 ล้านไร่สูงกว่าแผนที่วางไว้ที่ 1.9 ล้านไร่กว่า124 % เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาโดยมีการเพาะปลูกไปแล้ว 2.63 ล้านไร่ ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำ
กรมชลประทานได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์เน้นจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอ ตลอดจนประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำให้แก่ประชาชนรวมทั้งเกษตรกรได้รับทราบอย่างทั่วถึง รวมทั้งเร่งกำจัดวัชพืชในแม่น้ำและคลองสาขาที่อาจจะเป็นอุปสรรคในการส่งน้ำไปยังพื้นที่ต่างๆ
ข้อมูล ณ วันที่ 3 ก.พ.พบว่ามีปริมาณน้ำคงเหลือใช้การได้ประมาณ 20,433 ล้านลบ.ม.หรือ 39% ของน้ำใช้การทั้งหมด เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)มีปริมาณน้ำใช้การรวมกัน ณ วันที่ 1 พ.ย. 2563 (ต้นฤดูแล้ง)ประมาณ 5,771 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 32% ของน้ำใช้การทั้งหมด ปัจจุบัน (3 ก.พ. 64) เหลือปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 4,263 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 23% ของน้ำใช้การทั้งหมด ซึ่งกรมชลประทานได้วางแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64 ไว้จำนวน 17,122 ล้าน ลบ.ม. สำรองไว้ต้นฤดูฝน 8,735 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 8,041 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 47% ของแผนจัดสรรน้ำ ซึ่งกรมชลประทานจะควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งกรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ตามแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 สามารถจ้างแรงงานได้ 94,000 คน งบประมาณทั้งสิ้น 5,662.34 ล้านบาทโดยมีการจ้างแรงงานไปแล้ว 8,237 คน หรือ9% ของแผนการจ้างงาน โดยหลักเกณฑ์การจ้างแรงงาน จะเน้นพิจารณาจ้างเกษตรกรหรือประชาชนในพื้นที่ชลประทานก่อนเช่นเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานที่ขาดรายได้จากการทำเกษตรกรรม และหากแรงงานที่ต้องการในพื้นที่ไม่เพียงพอจะพิจารณาจ้างแรงงานจากพื้นที่ใกล้เคียงตามความเหมาะสม