อันดับ 'นวัตกรรมไทย' บน 'เวทีโลก'
โควิด-19 บีบให้คนเป็นมิตรกับเทคโนโลยีมากขึ้น ดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์กปี 64 จัดให้ไทยอยู่อันดับ 36 จาก 60 เขตเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรมมากที่สุด ขณะ WEF จัดให้ไทยอยู่ที่ 40 ของประเทศที่มีขีดการแข่งขัน นี่คือการบ้านที่รัฐไทยต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้มากขึ้นอีก
ก้าวเข้าสู่เดือนที่ 2 ของปี 2564 ได้ไม่นาน มีประเด็นความเคลื่อนไหวทั้งในระดับโลก และในประเทศเราเองที่ล้วนเป็นเรื่องน่าติดตาม และเกี่ยวพันกับภาพใหญ่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงวิถีการใช้ชีวิตนับจากนี้ หากไม่นับเรื่องโควิด-19 ที่คงยังไม่สงบลงง่ายๆ ต้องเฝ้าติดตามกันวันต่อวัน รวมไปถึงความชัดเจนเรื่อง “วัคซีน” ที่ภาครัฐยืนยันว่าคนไทยได้ฉีดแน่ ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ “ดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์ก” ปี 2564 ที่จัดอันดับ 60 เขตเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรมมากที่สุด ปรากฏว่า “ไทย” อยู่ในอันดับ 36 ดีขึ้น 4 อันดับจากปี 2563 ได้คะแนนรวม 65.42
ดัชนีนี้พิจารณาจากหลายเกณฑ์ เช่น ความเข้มข้นด้านอาร์แอนด์ดี การผลิตมูลค่าเพิ่ม ความหนาแน่นของไฮเทค ความหนาแน่นของนักวิจัย รวมถึงการจดสิทธิบัตร อันดับของไทยที่ดีขึ้นถึง 4 อันดับ นับเป็นเรื่องที่ดี บ่งชี้ได้ระดับหนึ่งว่า เรายังมีโอกาสพัฒนาต่อยอดในเรื่องนวัตกรรมได้อีก ส่วน 10 อันดับแรก คือ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก อิสราเอล ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย สำหรับสหรัฐและจีน ในฐานะสองเขตเศรษฐกิจใหญ่สุด มีนวัตกรรมมากมายแต่อันดับกลับลดลงในปีนี้ สหรัฐเคยครองที่ 1 ดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์กเมื่อปี 2556 ปีนี้ตกลงไป 2 อันดับอยู่อันดับที่ 11
การจัดอันดับครั้งนี้ สะท้อนถึงโลกที่ใช้นวัตกรรมเป็นธงนำเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 ตั้งแต่ความพยายามของรัฐบาลในการสกัดการแพร่ระบาด ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ใช้เพื่อให้ทุกประเทศเดินหน้าต่อได้ รวมถึงการแข่งขันพัฒนาวัคซีนเพื่อหยุดยั้งโรคระบาด “แคทเธอรีน แมน” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากซิตี้กรุ๊ป บอกว่า ปีแห่งโควิด-19 ที่โลกต้องเผชิญปัญหาเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความสำคัญของ “นวัตกรรม” มีแต่จะ “เพิ่มขึ้น” สอดคล้องกับหลายบทวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ ที่ล้วนเห็นตรงกันว่า โควิด-19 บีบให้คนเป็นมิตรและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเทคโนโลยีมากขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ขีดการแข่งขันของไทยจากการจัดอันดับของ “เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม” (WEF) ไทยมีความสามารถในการแข่งขันอยู่อันดับที่ 40 จาก 141 ประเทศ ซึ่งเราอยู่ในลำดับเฉลี่ยประมาณนี้ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว WEF ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหลายเรื่องเพื่อให้อันดับขีดแข่งขันดีขึ้น เช่น ปรับปรุงบริการสาธารณะ ปรับสู่ระบบรัฐบาลดิจิทัล การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ นโยบายการเก็บภาษีใหม่ๆ เช่น อีคอมเมิร์ซหรือธุรกิจใหม่ การเร่งปรับทักษะของแรงงานปัจจุบัน ปรับหลักสูตรการศึกษาในทุกระดับ การบริหารจัดการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี
รวมไปถึงการทุ่มงบประมาณภาครัฐด้านการวิจัยและหาแนวทางให้ภาคเอกชนมาลงทุนงานวิจัยมากขึ้น ที่สำคัญภาครัฐต้องอำนวยความสะดวก เน้นสร้างตลาดแห่งอนาคต (Market of tomorrow) นี่คือ “การบ้าน” โจทย์ใหญ่ของภาครัฐ ทำอย่างไรที่เราจะเร่งให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม และทำให้เห็นผลได้เร็วกว่านี้ เพราะมันหมายถึง “ขีดแข่งขันของไทย” ที่เพิ่มขึ้น และความได้เปรียบเชิงการค้า การลงทุน ที่จะฉายแสงโดดเด่นบนเวทีโลก