เทรนด์“เช่าแทนซื้อ”ที่ดินย่านซีบีดีมาแรง ระบุปีนี้แลนด์ลอร์ดบางรายยอมลดราคารักษาสภาพคล่อง

เทรนด์“เช่าแทนซื้อ”ที่ดินย่านซีบีดีมาแรง ระบุปีนี้แลนด์ลอร์ดบางรายยอมลดราคารักษาสภาพคล่อง

ซีบีอาร์อี ระบุแนวโน้มเช่าซื้อที่ดินย่านศูนย์กลางธุรกิจโตต่อเนื่องหลังราคาที่ดินสูงไม่คุ้มลงทุนซื้อพัฒนาโครงการหันมาเช่าแทนเหตุต้นทุนถูก สามารถเข้ากองรีทได้ เผยแลนด์ลอร์ดบางรายยอมลดราคาลงต้องการเงินสดมาเพิ่มสภาพคล่องในช่วงเศรษฐกิจขาลง

นางกุลวดี สว่างศรี หัวหน้าแผนกการลงทุนและที่ดิน ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวถึงแนวโน้มราคาที่ดินว่า ในปี 2563 ธุรกรรมของซีบีอาร์อีส่วนใหญ่ และเป็นที่ดินในเมือง จะเป็นการเช่าที่ดินทั้งสิ้น การซื้อขายไม่มีเลยในย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD: Central Business District) เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น  เนื่องจากที่ดินแบบมีกรรมสิทธิ์ หรือ “ฟรีโฮลด์”(freehold)ในย่านใจกลางเมืองพุ่งสูงขึ้นเพราะในย่านศูนย์กลางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของ หรือ บริษัท ต่างตั้งราคาที่ดินไว้สูง ทำให้การพัฒนาสินค้าและโครงการออกมาขายยากส่งผลให้ผู้พัฒนาโครงการส่วนใหญ่หันมาเช่าที่ดิน หรือ“ลีสโฮลด์”(leasehold) 


ทั้งนี้ เนื่องจากการเช่าที่ดิน มีต้นทุนถูกกว่าการซื้อที่ดินราคาแพง เพราะสามารถนำไปพัฒนาโครงการและทำกำไรได้ จึงเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยม โดยบางบริษัทได้เช่าที่ดินเพื่อพัฒนาและนำขายเข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust: REIT)หรือ กองรีท  คาดการณ์ว่า ในปีนี้จะเป็นแนวทางเดียวกับปี2563ที่ผ่านมา


อย่างไรก็ตาม จากการชะลอตัวของกำลังซื้อตลาดคอนโดถือเป็นปัจจัยหลักให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ต่างชะลอการซื้อที่ดิน ในการพัฒนาคอนโดในปีที่ผ่านมา และจากข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า การซื้อขายที่ดินในศูนย์กลางธุรกิจหรือซีบีดี ใน 3 ทำเลหลักในกรุงเทพฯ ได้แก่ 1. เพลินจิต-ลุมพินี 2.สุขุมวิท และ 3.สีลม-สาทร จะเห็นว่า ราคาที่ดินในแต่ละทำเล ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตเพลิตจิต-ลุมพินี มีการซื้อขายสูงถึง 3.9 ล้านบาทต่อตร.วในปี 2562 สุขุมวิท ราคาซื้อขายสูงสุด 2.8 ล้านบาทต่อตร.ว. ขณะที่สาทร-สีลม ปรับราคาไม่สูงเท่ากับ 2 ทำเลแรก โดยมีการซื้อขายอยู่ที่ 1.7 ล้านบาทต่อตร.ว.


 นางกุลวดี   กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า ในปีที่ผ่านมาทำเลย่านสุขุมวิท สีลม และสาทร ราคาที่ดินที่ซีบีอาร์อีดูแลอยู่ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก และบางแปลงเจ้าของยอมลดราคาลงมาจากเดิมตั้งราคาไว้1.6-1.7 ล้านบาทต่อตร.ว.ปรับราคาลงมาอยู่ที่ 1.4-1.5 ล้านบาทต่อตร.ว. เพราะเจ้าของที่ดินต้องการขายและให้เร่งโอนกรรมสิทธิ์เร็ว เนื่องจากมีความจำเป็นในเรื่องของกระแสเงินสด  เช่นเดียวกับผู้ประกอบการบางราย ที่มีที่ดินสะสมไว้จํานวนมาก ได้นําที่ดินบางส่วนออกเสนอขายเพราะขาดสภาพคล่อง รวมถึงลดภาระทางภาษี ที่ดินบางแปลง โดยปล่อยเช่าในระยะสั้น เพื่อสร้างรายได้  อาทิ ทำตลาดนัด  ที่จอดรถ จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้น