ผ่าสมรภูมิน้ำดื่มผสมวิตามิน
ผ่าสงครามเครื่องดื่มแสนล้านบาทร้อนนี้ ระอุ แบรนด์เล็ก-ใหญ่ ตะลุมบอนชิงขุมทรัพย์ “น้ำดื่มผสมวิตามิน” มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท คึกคัก ผู้ประกอบการฟันธงแนวโน้มปี 64 ตลาดโตไม่ต่ำกว่า 50% ดันขนาดใหญ่ขึ้นแตะ 3,000 ล้านบาท
เดือนกุมภาพันธ์ เป็นห้วงเวลานับถอยหลังเข้าสู่ “ฤดูร้อน” ถือเป็น “ไฮซีซัน” หรือหน้าขายสินค้าและบริการที่ช่วยดับความร้อนของอากาศได้ โดยเฉพาะ “เครื่องดื่ม” มูลค่า “แสนล้านบาท” ที่ปีนี้ยังเห็นการแข่งขันเดือดชนิดปรอทแตกทุกหมวดหมู่ทั้งน้ำอัดลม เพราะเป็นเวทีของขาใหญ่ “แบรนด์ระดับโลก” โค้ก-เป๊ปซี่ ขับเคี่ยวกัน มีแบรนด์รอง “เอส” เป็นผู้ท้าชิงอย่างเหนียวแน่น
ตลาดชาเขียวพร้อมดื่มที่เป็น “ขาลง” หลายปี กลับมาฟื้นตัวได้เล็กน้อย ต้องเจอโรคโควิด-19 สั่นคลอนการขยายตัว ตลาดกาแฟพร้อมดื่ม เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำมะพร้าว ต่างแย่งการบริโภคของกลุ่มเป้าหมายน้ำดื่มที่หดตัวจากปกติโต น้ำผลไม้หดตัวรุนแรงจะผงกหัวขึ้นได้หรือไม่ ล้วนต้องติดตาม เพราะตัวแปรกระทบธุรกิจมีมาก
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของตลาดเครื่องดื่มที่ “ขึ้น-ลง” หมวดสินค้า “ฟังก์ชันนอลดริ้งค์” และ “น้ำดื่มผสมวิตามิน” หรือวิตามิน วอเตอร์ กลับโดดเด่นทำให้บิ๊กแบรนด์ แบรนด์น้องใหม่กระโจนมาชิงเค้กเพื่อสร้างการเติบโตให้บริษัท
++เครื่องดื่มแสนล้านหดตัว 5%
นายศุภชัย จุนเกียรติ ผู้อำนวยการสายงานการตลาดโกลเบิล กลุ่มธุรกิจทีซีพี เปิดเผยว่า รายงานจากนีลเส็น ระบุภาพรวมตลาดเครื่องดื่มปี 2563 อยู่ภาวะ “ติดลบ” 5% ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ตลาดหดตัว เพราะได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ส่งผลให้ช่องทางจำหน่ายสินค้าถูกจำกัด โดยเฉพาะช่วงมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจ แม้ตลาดเครื่องดื่มโดยรวมหดตัว แต่กลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพหรือฟังก์ชันนอลดริ้งค์มีการเติบโตสูงถึง 9%
ขณะที่นายธนพันธุ์ คงนันทะ กรรมการบริหารและรองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มทุกหมวดผ่านช่องทางค้าปลีก (ไม่รวมร้านอาหารหรือออน พรีมีส) ปี 2563 มีมูลค่า 2 แสนล้านบาท หดตัวเล็กน้อย โดยหมวดสินค้าที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เกี่ยวกับการบริโภคนอกบ้านเพราะโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคต้องอยู่บ้านทำงานที่บ้าน
ธนพันธุ์ คงนันทะ
ทั้งนี้ ปี 2563 เครื่องดื่มบางหมวดฝ่าวิกฤติโรคโควิด-19 ได้ เช่น น้ำอัดลม แต่หมวดที่เติบโตดีมาก คือ เครื่องดื่มเสริมสุขภาพ (ฟังก์ชันนอลดริ้งค์) เมื่อเจาะลึกตลาดเครื่องดื่มวิตามินซีแบบช็อตมีอัตราการเติบโตสูงสุดเกินกว่า 106% ส่วนอีกหมวดอยู่ในกลุ่มน้ำดื่ม ซึ่งสิ้นปี 2563 ตลาดมีมูลค่า 2.8 หมื่นล้านบาท ติดลบ 6% ในตลาดนี้มี “น้ำดื่มผสมวิตามิน” แทรกตัวอยู่ และเติบโตร้อนแรงถึง 106% ส่งผลให้มูลค่าตลาดปิดปีที่ 2,159 ล้านบาท จาก 1,065 ล้านบาท
“ตลาดเครื่องดื่มวิตามินซีและน้ำดื่มผสมวิตามินโตก้าวกระโดดตั้งแต่ พ.ค.ปีที่แล้ว จากปัจจัยเทรนด์ผู้บริโภคต้องการดื่มเครื่องดื่มสร้างภูมิคุ้มกันควบคู่ความสดชื่น นอกจากนี้ร้านค้าหลักได้สนับสนุนการขายสินค้าอย่างดี เปิดพื้นที่บนชั้นวางหรือเชลฟ์ให้น้ำดื่มผสมวิตามินเต็มที่ ส่งเสริมการขายทุกรูปแบบ ที่สำคัญจำนวนผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มขึ้นทั้งรายเล็กและใหญ่เข้ามาชิงตลาดคึกคัก"
++ปี 64 วิตามิน วอเตอร์โตไม่ต่ำกว่า 50%
นายธิติพร ธรรมาภิมุขกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มการตลาดแบรนด์ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มตลาดน้ำดื่มผสมวิตามินในปี 2564 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% โดยฐานตลาดจะใหญ่ขึ้น จากจำนวนผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาแบ่งเค้กเพิ่ม แต่จำนวนจะไม่มากนัก เพราะปัจจุบันมีแบรนด์ที่ครองตลาดนับสิบรายค่อนข้างแน่น
ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล
ทั้งนี้ จากผู้เล่นมากราย ทำให้การแข่งขันปีนี้จะดุเดือดกว่าปี 2563 แน่นอน และจะยังไม่มีแบรนด์ใดยอมถอยทัพออกจากตลาด เนื่องจากช่วง 2-3 ปีแรก เป็นเวลาแห่งการสร้างแบรนด์ ชิงส่วนแบ่งการตลาด สร้างผลตอบแทนจากการลงทุน และก่อนหน้านี้มีเพียงยันฮี วิตามิน วอเตอร์ ทำตลาด ส่วนผู้เล่นรายอื่นกว่าจะออกสินค้า วางกลยุทธ์การทำตลาด เกิดขึ้นในช่วง พ.ค.ถึงครึ่งปีหลังทั้งสิ้น
“คาดการณ์ตลาดน้ำดื่มผสมวิตามินยังโตต่อ แต่คงไม่เท่าปีก่อน เพราะฐานตลาดมีขนาดใหญ่ ผู้เล่นรายใหม่มากขึ้น โดยมูลค่าตลาดปีนี้น่าจะมีแตะ 3,000 ล้านบาทได้แน่นอน และปีนี้จะไม่มีใครยอมปล่อย จึงจะยังไม่เห็นผู้เล่นในตลาดหายไปแม้การแข่งขันจะรุนแรง”
สอดคล้องกับ นายธนพันธุ์ จากค่าย อิชิตัน กรุ๊ป ระบุว่า ตลาดวิตามิน วอเตอร์ปีนี้จะมีทิศทางใกล้เคียงปีก่อน เพราะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาทำให้ขนาดตลาดขยายตัวขึ้น แต่การเติบโตจะไม่ก้าวกระโดดเท่าปี 2563 รวมถึงการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้แบรนด์ชะลอตัวการทำตลาด การจัดอีเวนท์ใน 2 ไตรมาสแรก จึงกระทบการเติบโต อย่างไรก็ตามไตรมาส 3-4 การบริโภคในประเทศจะฟื้นตัวในเกณฑ์ดี ธุรกิจมีความคึกคัก ทำให้ตลาดกลับมาบวกได้อีกครั้ง
“ตลาดวิตามิน วอเตอร์ มีการเติบโตก้าวกระโดด ทำให้มีความเย้ายวนผู้เล่นใหม่ๆเข้ามาประลองในสนามนี้ การแข่งขันจึงเดือดกว่าปีก่อนแน่นอน”
++เทรนด์สุขภาพร้อนแรง
นายศุภชัย แห่งกลุ่มธุรกิจทีซีพี กล่าวว่า พฤติกรรมผู้บริโภคปี 2564 ยังใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับโควิด-19 ทำให้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์ที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพเห็นจากทิศทางตลาดเครื่องดื่มหลากหลายหมวดได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ มีนวัตกรรม เสริมคุณประโยชน์ เช่น เครื่องดื่มชูกำลังที่มีส่วนผสมของสมุนไพร และเครื่องดื่มฟังก์ชันนอลที่ใส่วิตามินและแร่ธาตุ รวมถึงปรับปรุงสูตรใหม่ลดปริมาณน้ำตาลให้น้อยลง จึงทำให้ตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มเติบโตดี
นอกจากนี้ การเลือกซื้อเครื่องดื่มของผู้บริโภคตระหนักกระบวนการผลิต ซึ่งควรได้รับการรับรอง GMP และ HACCP เพื่อสร้างความมั่นใจคุณภาพและคงคุณค่าสารอาหารได้ครบ
ศุภชัย จุนเกียรติ
“เครื่องดื่มวิตามินมีแนวโน้มเติบโตกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด เพราะความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ แม้ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคจะเร่งรีบ แต่ยังหาสินค้าที่ตอบเทรนด์สุขภาพ หันมาเลือกซื้อเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลลดลง ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน แต่ยังมีรสชาติอร่อย ดื่มง่าย สะดวกยิ่งขึ้น ยิ่งกลุ่มคนที่ยังมีกำลังซื้อจะมองหาเครื่องดื่มใหม่ที่ตอบโจทย์เฉพาะตนเองได้”
สอดคล้องกับนายธิติพร แห่งบุญรอดเทรดดิ้ง เห็นพ้องว่า เทรนด์ผู้บริโภครักสุขภาพยังร้อนแรงต่อเนื่อง การมองหาและตัดสินใจซื้อเครื่องดื่ม ไม่เพียงพิจารณาจากรสชาติอร่อย แต่ดื่มแล้วต้องไม่อ้วน และสร้างประสบการณ์ใหม่ สร้างความตื่นเต้นในการบริโภคให้กับตนเองที่ไม่ใช่เป็นการดื่มน้ำเปล่าแบบเดิม
“เทรนด์รักสุขภาพยังคงเติบโตต่อเนื่อง แต่จะไม่โตหวือหวาแบบปีที่ผ่านมา ส่วนผู้บริโภคที่ดื่มน้ำดื่มผสมวิตามินเพราะต้องการได้รับประโยชน์ต่อร่างกาย ดื่มแล้วอร่อย ไม่อ้วน และผู้บริโภคต้องการดื่มอะไรที่ไม่ใช่น้ำเปล่ามากขึ้น”
++“บิ๊กคอร์ป”ศึกษากัญชงต่อยอดสินค้า
แม้เครื่องดื่มวิตามิน วอเตอร์จะมาแรง อีกกระแสที่ฮอตไม่แพ้กันคือ “กัญชง” หลังจากกระทรวงสาธารณสุขประกาศปลดล็อกกัญชงนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่จัดเป็นยาเสพติดทำให้ผู้ประกอบการสนใจมาก ค่ายเครื่องดื่มอิชิตัน มองว่าเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจมาก และอาจร้อนแรงเทียบเท่ายุคชาเขียวที่เข้ามาทำตลาดในไทยใหม่ๆ ประกอบกับผู้บริโภครุ่นใหม่มองสารซีบีดี (Canabidiol) เป็นความเท่ อยากลอง ดังนั้น หากรายใดพัฒนาสินค้า สร้างแบรนด์ออกสู่ตลาดได้ 2-3 รายแรก จะได้รับความนิยมเร็ว ส่วนวัฏจักรความบูมสุดขีดของสินค้าจะเกิดขึ้นช่วง 2-3 ปี
ฟากบุญรอดเทรดดิ้ง ให้ข้อมูลว่าในมิติทางธุรกิจ เชื่อว่าผู้ประกอบการทุกรายจะศึกษาโอกาสความเป็นไปได้การนำกัญชงมาต่อยอดผลิตภัณฑ์ ส่วนจะเห็นสินค้าออกสู่ตลาดหรือไม่เป็นเรื่องของอนาคต
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหว บริษัทจดทะเบียนเตรียมการออกสินค้ารับกับ กัญชา-กัญชง โดยกลุ่มแรก คือ ธุรกิจเครื่องดื่มที่มีฐานการผลิตและช่องทางการค้าที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว คือ บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG เตรียมออกสินค้าเครื่องดื่มชนิดใหม่มีสรรพคุณ “ผ่อนคลาย” ,บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG มีธุรกิจร้านกาแฟ ‘พันธุ์ไทย’ ประกาศพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชงคาดจะจำหน่ายปลายไตรมาส 2 หรือต้นไตรมาส 3 ปีนี้
“อาร์เอส”รุกเครื่องดื่มสุขภาพ
นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้ส่งบริษัทลูกอย่าง บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด และอาร์เอส มอลล์ ประกาศความพร้อมจับมือพันธมิตรศึกษาผลิตภัณฑ์สกินแคร์ เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีสารสกัดกัญชง เพื่อผลิตและจำหน่าย ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ต่อจิ๊กซอว์การสร้างรายได้
สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์
“อาร์เอส กรุ๊ป สนใจและศึกษากัญชงไปแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ช่อดอกนำไปผลิตยา สารสกัดจากกัญชง ใบนำไปผลิตอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง น้ำมันจากเมล็ดกัญชงนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง สารสกัดจากกัญชงนำไปผลิตเป็นเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร"
รวมถึงร่วมมือกับสถาบันวิจัยชั้นนำศึกษาและคิดค้นสูตรเพื่อนำกัญชงมาพัฒนาและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ทั้งในส่วนของสกินแคร์ เครื่องดื่ม และอาหารเสริม รวมถึงมีการพูดคุยกับพันธมิตรที่เป็นผู้ปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ โรงสกัด และผู้ผลิตไว้เรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่าทางเราและพันธมิตร ได้มีการเตรียมการมานานและมีความพร้อมทั้งการผลิตและการจำหน่ายในทันที
ด้านผู้ผลิตอาหารเสริม เครื่องสำอาง บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) หรือ DOD ที่ร่วมเป็นผู้รับซื้อกัญชงในโครงการรับสมัครผู้ปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ที่มีเครือข่ายเกษตรผู้ยื่นขอรับใบอนุญาตเพาะปลูกกัญชงจำนวนมากทำให้พร้อมการผลิตสินค้า เนื่องจากเป็นผู้ผลิตเสริมอาหาร และสารสกัดภายใต้ตราสินค้าของลูกค้า และตราสินค้า “Dai a to”
เช่นเดียวกับ บริษัทเมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ MEGAจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสินค้าอุปโภคบริโภค ด้วยการพัฒนา ผลิต ทำการตลาด และขายผลิตภัณฑ์กลุ่มบำรุงสุขภาพแสดงความสนใจเช่นกัน