ครม.ขยายมาตรการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ชายแดนใต้ อีก 3ปี

ครม.ขยายมาตรการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ชายแดนใต้ อีก 3ปี

ครม.อนุมัติขยายมาตรการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีก 3ปี จูงใจผู้ประกอบการลงทุนในพื้นที่มากขึ้น

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ว่า ครม. เห็นชอบขยายเวลามาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีก 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จากเดิมที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563

 เพื่อจูงใจผู้ประกอบการกิจการและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ อันจะเป็นการสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงให้แก่ประชาชน ซึ่งพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสตูล และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา

สำหรับมาตรการที่ขยายเวลาออกไปอีก 3 ปี ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ1.มาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียม ได้แก่ มาตรการทางภาษี ประกอบด้วย ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เหลือ 0.1% ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เหลือ 3% ลดภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย และภาษีธุรกิจเฉพาะ(จากการขายอสังหาริมทรัพย์) เหลือ 0.11%

 ให้ผู้เสียภาษีเงินได้ หักค่าใช้จ่ายค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้อง CCTV ได้เป็น 2 เท่า ให้นิติบุคคล หักรายจ่ายจากการลงทุนเกี่ยวกับกิจการโดยทำให้ดีขึ้น แต่ไม่ใช่การซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม เป็นจำนวน 2 เท่า ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 รอบบัญชี สำหรับกำไรสุทธิของนิติบุคคลรายใหม่ (New Start-up)

ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้มีความสามารถสูง ที่เข้าไปทำงานในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เหลือ 3% ของเงินได้ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวจะต้องยกร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษียกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ....รวม 5 ฉบับ ก่อนดำเนินมาตรการดังกล่าว

ในส่วนของการลดค่าธรรมเนียม โดยลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดินในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เหลือ 0.01% ซึ่งกระทรวงมหาดไทย จะดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยรวม 2 ฉบับ

2.มาตรการด้านการเงิน ได้แก่ มาตรการพักชำระหนี้ของ  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยให้ลูกค้าที่เคยเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้และยังมีหนี้คงเหลือ ไม่ต้องชำระเงินต้น และรัฐบาลจะเป็นผู้ชำระดอกเบี้ยแทน ในส่วนเงินต้นที่ไม่เกิน 200,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 ปี มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส. )โดยขยายวงเงินเป็น 8,000 ล้านบาท และขยายระยะเวลาดำเนินโครงการออกไปอีก 2 ปี จากเดิมที่สิ้นสุด 30 ธันวาคม 2563 เป็น 30 ธันวาคม 2565 โดย ธอส. ไม่ขอรับการชดเชยจากรัฐบาล

 

3.มาตรการด้านประกันภัย ได้แก่ โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยก่อการร้ายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยภาครัฐจะชดเชยส่วนต่างค่าเบี้ยประกันภัยให้ผู้ประกอบกิจการ สำหรับการประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองภัยการก่อการร้าย และประกันอุบัติเหตุของพนักงาน โครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยภาครัฐจะชดเชยค่าเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันอัคคีภัย การประกันภัยความเสี่ยงทรัพย์สิน และการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้ผู้ประกอบการทั้งนี้ ครม.เห็นชอบให้จัดสรรงบกลาง ปี 2564 จำนวน 50 ล้าน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการชดเชยค่าเบี้ยกันภัยดังกล่าวด้วย

 

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งเป้าที่การพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความเจริญ ประชาชนมีงานทำ มีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี โดยไม่ใช้วิธีการรุนแรงเข้าแก้ปัญหา ซึ่งโครงการพัฒนาต่างๆ ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน จะนำไปสู่ความสงบสุขและการพัฒนาที่อย่างยั่งยืนต่อไป