สอวช.หนุนฝ่าคลื่นลูกที่ 2 ดันวิจัยยานยนต์อัตโนมัติ
ความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าในหลายประเทศมีแนวโน้มมากขึ้น ในขณะที่การการยกระดับการผลิตของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยจะต้องสนับสนุนการวิจัยและสร้างนวัตกรรม เพื่อให้เข้าสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้าอัตโนมัติที่เป็นคลื่นลูกที่ 2 ของยานยนต์ไฟฟ้า
กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า สอวช. มุ่งเน้นที่จะนำผลงานการวิจัย และคิดค้นนวัตกรรมมาต่อยอดให้กับภาคเอกชน เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้ประเทศไทยยืนอยู่ได้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตัวเอง โดยเฉพาะการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมที่ไทยมีจุดเด่นให้เข้มแข็งและก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในตลาดโลก
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมไปสู่รถยนต์ที่มีระบบการขับขี่แบบอัตโนมัติ การเชื่อมต่อ การปรับให้เป็นระบบไฟฟ้า และการแบ่งปันกันใช้งาน (Autonomous, Connected, Electric, and Shared Vehicles) หรือ ACES
กระแสคลื่นลูกที่ 1 แห่งการเปลี่ยนผ่านที่เห็นได้ชัดเจน คือ ในต่างประเทศยานยนต์ไฟฟ้าล้วนกำลังมีราคาถูกลงมาใกล้เคียงกับยานยนต์น้ำมัน และกำลังได้รับความนิยมสูงขึ้น เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายถูกลงและปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ช่วยลดโลกร้อน
กระแสคลื่นลูกที่ 2 ที่กำลังก่อตัวและกำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญที่จะพลิกโฉมรูปแบบของโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เปลี่ยนแปลงไป คือ ระบบขับขี่แบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นหัวใจหลักของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเข้าสู่โลกในยุคเศรษฐกิจฐานข้อมูล ที่จะสร้างผลกระทบที่รุนแรงต่ออุตสาหกรรมเดิมหากปรับตัวไม่ทันภายใน 5 ปี นับจากนี้
ดังนั้น สอวช.จึงประสานงานกับภาคอุตสาหกรรม เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และเชื่อมโยงกับภาคการวิจัยและภาคการศึกษา ให้การสนับสนุนด้านนโยบาย ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานกำลังคนให้มีทักษะสหวิทยาการ การพัฒนาโมเดลธุรกิจแบบใหม่ เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดที่มีความต้องการเทคโนโลยีใหม่
โดยในเชิงนโยบายสนับสนุน ACES ได้จัดทำ “สมุดปกขาวการส่งเสริมและพัฒนายานยนต์สมัยใหม่” เสนอให้กำหนดเป้าหมายให้มีความชัดเจน เพื่อเตือนภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในการรับมือกับการพลิกโฉมของเทคโนโลยี เช่น การประกาศให้ ปี 2035 ยานยนต์ใหม่ควรเป็นยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle : ZEV) คิดเป็นสัดส่วน 100% ของจำนวนรถที่มีการจดทะเบียนใหม่ในประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ และพลังงาน มีเวลาในการเตรียมการปรับตัว
รวมทั้งเชื่อมั่นว่าเมื่อนโยบายมีความชัดเจนจะก่อให้เกิดการส่งเสริมด้านการปรับตัวและให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยี และสนับสนุนให้เกิดการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา และให้เกิดการทดลองการผลิตและใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศไทย
“การส่งเสริมรถยนต์ ZEV จะช่วยแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นพีเอ็ม 2.5 และเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องแก้ไข และสร้างการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมใหม่อย่างก้าวกระโดด นำไปสู่การสร้างรายได้ให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง”
สำหรับแนวทางการส่งเสริม ACES จะกำหนดนโยบายสนับสนุนไปสู่การเป็นผู้ผลิต Tier 1 และติดอันดับ Top 10 ของโลกด้าน ZEV and ACES โดยเป็นผู้นำด้านการออกแบบ การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์ เช่น การหาหุ้นส่วนเทคโนโลยี และตลาดที่จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการผลิต
และยกระดับเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่มูลค่าโลกของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ เพื่อการใช้งานในภูมิภาคอาเซียนและส่งออกสู่ตลาดโลก ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดใหญ่และซัพพลายเชน และการออกแบบให้สามารถกระจายเทคโนโลยีสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
นอกจากนี้ สอวช.สนับสนุนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่าน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในประเทศในช่วงเวลาระหว่างการผลิต ZEV ที่ยังมีปริมาณน้อย โดยการสร้างตลาดภายในประเทศ เพื่อให้เกิดความต้องการขนาดใหญ่ ซึ่งในต่างประเทศนิยมใช้ตลาดภาครัฐเป็นตัวนำและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะทางให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่แข่งขันได้ เช่น รถบัสไฟฟ้า รถแท็กซี่ไฟฟ้า รถปิกอัพไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า
ทั้งนี้ จะเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า และการยกระดับให้การดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้าเป็นระดับอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและชิ้นส่วนที่มีมูลค่าสูงและมีความซับซ้อนขึ้น และการพัฒนาสร้างแบรนด์สินค้าของยานยนต์ใหม่ทั้งคันในระยะต่อไป
รวมทั้งจะเร่งสร้างตลาดและสนับสนุนให้เกิดการเติบโตของบริษัทสตาร์ทอัพ และการปลดล็อคกลไกจัดตั้ง Holding Company โดยการกำหนดนโยบายส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐและเอกชนในธุรกิจนวัตกรรม เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ การทดลองและทดสอบการใช้งานจริง
โดยจะมีการเร่งพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพและจำนวนที่เพียงพอต่อความต้องการ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการทำวิจัยและพัฒนา การพัฒนาฐานข้อมูลและมาตรฐานข้อบังคับ กฎระเบียบและกฎหมาย เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว