รัฐบาลสั่งโละกฎหมายล้าสมัย 7 ฉบับ
ครม.ไฟเขียวโละทิ้งกฎหมายล้าสมัย 7 ฉบับรวด เช่นพรบ.ควบคุมการทำเหมืองแร่ทองคำ พรบ.กำหนดการระงับการค้ากำไรเกินควรของภาครัฐ พรบ.การผลิตซีดี ชี้ช่วยให้สอดคล้องกับกฎหมายและสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆนี้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นๆ พ.ศ...ตามที่สำนักงานคณะกรรมกรกฤษฎีกาเสนอ โดยสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันหรือมีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นๆที่ตราขึ้นในภายหลัง จำนวนทั้งสิ้น 7 ฉบับ
ทั้งนี้มีกฎหมายที่เข้าข่ายยกเลิกและมีเหตุผลในการยกเลิก ได้แก่1.พ.ร.ก.ควบคุมและดำเนินงานภารธุระการทำเหมืองแร่ทองคำ พ.ศ. 2483 เนื่องจากการเข้าควบคุมและดำเนินงานภารธุระการทำเหมืองแร่ทองคำที่กำหนดไว้ไม่สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญซึ่กำหนดว่าการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ต้องมีการจัดทำการเวนคืนที่ดินให้ถูกต้องและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบันไม่มีหน้าที่ต้องดำเนินงานเกี่ยวกับภารธุระในเหมืองแร่ทองคำเหมือนในอดีต
2.พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการไฟฟ้า พ.ศ.2484 การเสนอให้ยกเลิก พ.ร.บ.นี้เนื่องจากปัจจุบันมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานขึ้นดูแลกิจการด้านนี้และมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินการอนุญาตในกิจการไฟฟ้าอยู่แล้ว
3.พ.ร.บ.กำหนดวิธีปฏิบัติแก่บุคคลซึ่งเผยแพร่ข่าวอันเป็นการทำให้เสียสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่มีสนธิสัญญาทางไมตรีกับประเทศไทยในภาวะสงคราม พ.ศ.2488 กำหนดให้ยกเลิกเนื่องจากปัจจุบันใช้กฎหมายเรื่อง พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ.2562 ในการดำเนินการอยู่แล้ว
4.พ.ร.บ.กำหนดวิธีการระงับการค้ากำไรเกินสมควรจากราชการ พ.ศ.2491 เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ยังไม่เคยมีการใช้ในทางปฏิบัติ ประกอบกับปัจจุบัน พ.ร.บ.การบริหารภาครัฐได้มีการกำหนดเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานภาครัฐ พ.ศ.2560 เอาไว้แล้วกำหนดให้มีกลไกการควบคุมและตรวจสอบราคาในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอยู่แล้ว
5.พ.ร.บ.การผลิตภัณฑ์ซีดี พ.ศ.2548 เนื่องจากนับตั้งแต่มีกฎหมายฉบับนี้มีเพียงคดีเดียวเท่านั้นที่เข้าสู่การพิจารณาคดีตามกฎหมายนี้ แต่ปัจจุบันมีกลไกทางกฎหมายในการควบคุมและติดตามการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรในการจัดทำซีดีณ จุดนำเข้าส่งออกได้ รวมทั้งมีกฎหมายลิขสิทธื์ในการควบคุมดูแลในด้านนี้แล้ว
6.พ.ร.บ.จัดการฝึกและอบรมเด็กบางจำพวก พ.ศ.2479 และพ.ร.บ.จัดการฝึกและอบรมเด็กบางจำพวก (ฉบับที่2) พ.ศ.2501 กำหนดให้มีการยกเลิกเนื่องจากปัจจุบันกฎหมายลักษณะอาญาและ พ.ร.บ.ประถมศึกษา พ.ศ.2478 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และมีกฎหมายอื่นๆขึ้นมาใช้แทนเช่น กฎหมายคุ้มครองเด็ก กฎหมายเกี่ยวกับเยาวชนและครอบครัว เป็นต้น