‘การบินไทย’ลุยเพิ่มรายได้ เหมาซ่อมเครื่องบินตำรวจ
“การบินไทย” เร่งฝ่ายช่างหารายได้หนุนองค์กรลงนามร่วม “กองบินตำรวจ” เหมาซ่อมอากาศยานและการฝึกอบรม กวาดรายได้แตะ 1 พันล้าน ขณะที่คืบหน้าเทขายฝูงบิน ส่งมอบเพิ่ม 1 ลำ
รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ฝ่ายช่างของการบินไทยเร่งดำเนินมาตรการเพิ่มรายได้ในช่วงที่บริษัทฯ อยู่ระหว่างประสบปัญหารายได้จากการโดยสารลดลง และส่วนธุรกิจที่อยู่นอกเหนือกิจการการบิน (นอน แอร์โร) ยังมีขีดความสามารถในการหารายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด การบินไทยได้ลงนามร่วมกับกองบินตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในสัญญารับจ้างเหมาซ่อมบำรุงรักษาอากาศยานและการฝึกอบอรม ประจำปี 2564 วงเงิน 950 ล้านบาท
โดยมีเรืออากาศโท สมหวัง อรัมสัจจากูล รองผู้อำนวยการใหญ่สังกัดสำนักงาน รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง และรักษาการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายซ่อมใหญ่และพลตำรวจตรี สุทธิพงษ์ เพชรรักษ์ ผู้บังคับการกองบินตำรวจ ร่วมลงนาม
สำหรับความร่วมมือดังกล่าว การบินไทยจะรับจ้างดำเนินการเหมาซ่อมบำรุงอากาศยานของกองบินตำรวจ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 60 ลำ ประกอบด้วย เฮคอปเตอร์ และเครื่องบินโดยสารหลายประเภท โดยส่วนหนึ่งการบินไทยจะทำการซ่อมบำรุงเอง และอีกส่วนหนึ่งจะว่าจ้างบริษัทอื่นดำเนินการต่อ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา ฝ่ายซ่อมใหญ่ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ยังได้ทำการส่งมอบอากาศยาน แบบโบอิ้ง 747-400 ให้กับบริษัท ATC (Air Tran Cargo) ซึ่งซื้ออากาศยานของการบินไทยไปใช้ในการขนส่งทางอากาศ โดยการขายครั้งนี้อยู่ในฝูงบินที่การบินไทยประกาศขายอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 42 ลำ
ประกอบด้วย แอร์บัส A300-600 จำนวน 1 ลำ, แอร์บัส A340-500 จำนวน 3 ลำ, แอร์บัส A340-600 จำนวน 6 ลำ, แอร์บัส A380-800 จำนวน 2 ลำ, โบอิ้ง 737-400 จำนวน 2 ลำ, โบอิ้ง 747-400 จำนวน 10 ลำ, โบอิ้ง 777-200 จำนวน 6 ลำ, โบอิ้ง 777-200ER จำนวน 6 ลำ และโบอิ้ง 777-300 จำนวน 6 ลำ
“ตอนนี้ฝ่ายช่างได้เร่งหารายได้เพิ่มเติม นอกจากประกาศขายอากาศยานเพื่อปรับฝูงบินให้สอดคล้องกับแผนฟื้นฟูกิจการ เป็นการลดค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงแล้ว ยังอยู่ระหว่างเร่งเจรจาหาลูกค้าซ่อมอากาศยานเพิ่มเติมทั้งสายการบิน หน่วยงานภาคเอกชนและราชการที่มีฝูงบิน”
ก่อนหน้านี้ นายเชิดพันธ์ โชติคุณ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้หารือร่วมกับกับฝ่ายซ่อมบำรุงที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาว่า ปัจจุบันฝ่ายซ่อมบำรุงมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าฝ่ายอื่นในบริษัท ขณะที่ผลผลิตยังมีน้อยไม่สัมพันธ์กับรายได้ จึงกำชับให้ฝ่ายซ่อมบำรุงต้องเร่งลดต้นทุนการซ่อมให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้
รวมทั้งให้ฝ่ายช่างสมัครเข้าร่วมโครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนและค่าตอบแทน (Together We Can 2) ซึ่งจะมีผล 1 ม.ค.-30 เม.ย.2564 เพื่อเร่งลดค่าใช้จ่ายและยืดเวลากระแสเงินสดให้บริษัท ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าฝ่ายช่างได้สมัครใจเข้าร่วมโครงการมากถึง 92%