เกษตรกรยุค 5จี ‘ปรับตัว’ เข้าถึงผู้บริโภคยุคนิวนอร์มอล
"เกษตรกร" ที่จะประสบความสำเร็จในยุคนิวนอร์มอล อาจไม่ใช่แค่ผู้ผลิตที่ชำนาญด้านเพาะปลูกอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลและ Transform ตัวเอง ให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในยุค 5จี
นับตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2563 การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และการประกอบอาชีพของคนแทบทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจ พนักงานที่เป็นมนุษย์เงินเดือน พ่อค้าแม่ค้าหรือผู้ที่ประกอบอาชีพรับจ้างเพื่อหาเช้ากินค่ำ ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มเกษตรกร อย่างชาวไร่ชาวนาหรือชาวประมง ซึ่งแม้โควิด-19 จะไม่กระทบโดยตรงต่อกระบวนการผลิต หรือเพาะปลูก แต่เขากลับต้องพบความท้าทายไม่น้อย ทั้งจากปริมาณความต้องการสินค้าเกษตรที่ลดลง เนื่องจากผู้บริโภคขาดกำลังซื้อ ไปจนถึงการหยุดชะงักระบบขนส่งสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ครึ่งแรกของปี 2563 พืชผลทางการเกษตรรวมกว่า 1 ล้านตัน ไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศไทยได้ และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร (จีดีพีภาคเกษตร) ใน 2563 อาจหดตัวลงถึง 3.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่า 6.49 แสนล้านบาท
การนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร ปรับปรุงคุณภาพผลผลิต แก้ไขปัญหาหรือลดข้อจำกัดต่างๆ ที่อาจกระทบต่อเกษตรกรเป็นหนึ่งในความพยายามที่หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชนให้ความสำคัญ ที่จริงแล้ว เทคโนโลยีมีบทบาทในภาคเกษตรมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะนวัตกรรม AgriTech หมายถึง การเกษตรสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อน ตั้งแต่ระดับต้นน้ำอย่างปรับปรุง และคัดเลือกสายพันธุ์ การพัฒนากรรมวิธีเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิตให้มีคุณภาพ อย่างการใช้เครื่องจักรกลและระบบเพาะปลูกอัตโนมัติ เช่น ใช้โดรนสำหรับหว่านเมล็ดพืช รดน้ำ และพ่นปุ๋ย หรือใช้ระบบวิเคราะห์โรคพืชและศัตรูพืช ซึ่งใช้อย่างแพร่หลายในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างใน สหรัฐ ออสเตรเลีย และเยอรมนี
อีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญ คือ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจะสามารถกระจายสินค้าไปให้ถึงมือผู้บริโภค หรือคนปลายน้ำได้อย่างไรให้สะดวกและรวดเร็ว โดยเฉพาะสินค้าเกษตรอย่างผักสด ผลไม้ หรืออาหารทะเลที่มีอายุ และเสี่ยงต่อการเน่าเสีย นับว่า เป็นความท้าทายยิ่งในสถานการณ์ที่หลายภาคส่วน ต้องเผชิญหน้ากับข้อจำกัดในการขนส่งจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เกษตรกรยุคปัจจุบัน จึงต้องเร่งปรับตัวและหันมาให้สำคัญกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีหรือช่องทางออนไลน์ เพื่อนำผลผลิตไปสู่มือผู้บริโภค แพลตฟอร์มดิจิทัลหรือแอพพลิเคชั่น กลายมาเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำคัญช่วยเพิ่มช่องทาง และขยายการเข้าถึงฐานผู้ซื้อจำนวนมาก โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง
แอพพลิเคชั่นที่ให้บริการจัดส่งสินค้าแบบออนดีมานด์ รวมถึง แกร็บ (Grab) มีบทบาทส่งเสริมให้เกษตรกรไทยปรับตัวและรับมือยุคนิวนอร์มอล เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล เข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ได้รวดเร็ว กลางปี 2563 ที่ผ่านมา แกร็บ ประเทศไทย ได้จับมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ริเริ่มโครงการ “ตลาดเกษตรกร” (Farmers’ Market) เพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายและจัดส่งผลไม้จากหลากหลายท้องถิ่นผ่านบริการ “แกร็บมาร์ท” (GrabMart)
พร้อมขยายความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์เปิดตัวโครงการ “ตลาดสดคนไทย” (Thai Fresh Market) รวบรวมผลผลิตทางการเกษตรใน 7 จังหวัดทั่วประเทศ มาไว้บนแอพพลิเคชั่น Grab ให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าจากเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยได้สะดวกยิ่งขึ้น
นอกจากประเทศไทยแล้ว แกร็บ ยังได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านแพลตฟอร์มหรือแอพพลิเคชั่น Grab ด้วย นี่เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างสะท้อนให้เห็นว่า เทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มดิจิทัล ได้เข้ามามีบทบาทช่วยปลดล็อกให้เกษตรกร เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ และยกระดับวิถีเกษตรกรรมได้ครบวงจร ตั้งแต่พัฒนาสายพันธุ์ กรรมวิธีเพาะปลูก ไปถึงการขยายโอกาสเพิ่มยอดขายผ่านการกระจายสินค้าไปในช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในยุค 5จี เกษตรกรที่จะประสบความสำเร็จในยุคนิวนอร์มอล อาจไม่ใช่แค่ผู้ผลิตที่ชำนาญด้านเพาะปลูกอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลและ Transform ตัวเองเพื่อให้บริหารจัดการตั้งแต่การผลิตไปจนถึงส่งมอบสินค้าและบริการได้เองทุกขั้นตอนอย่างเต็มตัว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคต