ไม่อยากเสี่ยงตกงาน ส่องอาชีพมาแรง เงินเดือนสูง! ปี 64
Job security นาทีนี้ใครๆก็คงต้องพูดถึง หลังโควิด-19 กวาดธุรกิจล้มทั้งกระดาน หลายองค์กรส่อเค้าเจ๊ง ต้องลด-ปลดคนงานมหาศาล ส่วนองค์กรที่อยู่รอด ต้อง "รีดไขมัน" เป็นการใหญ่ "มนุษย์เงินเดือน" เป็นเป้าหมายแรก ลดต้นทุนคงที่ ไม่อยากตกงาน ต้องเกาะตลาดงาน
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นหายนะใหญ่ของโลก เพราะทำให้คนจำนวนมากเจ็บป่วย เสียชีวิต เศรษฐกิจ ธุรกิจอยู่ในภาวะดิ่งเหว และแม้ไวรัสร้ายจะไม่ได้ทำให้ทั้งโลกต้องเผชิญภาวะ..ข้าวยาก หมากแพง! แต่ก็ทำให้ความมั่นคงของชีวิตหลายด้านต้อง สั่นคลอน! โดยเฉพาะหน้าที่การงานหรือ Job security ลางร้ายที่เป็นเงาตามตัวคือ ความมั่นคงทางรายได้ สุดท้ายจะมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ ความสุขของครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในทุกเดือนที่ธุรกิจอยู่ในอาการโคม่า หายใจพะงาบๆ เติมออกซิเจนแล้ว ก็ยังต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นรัดเข็มขัด ประหยัดต้นทุนรอบด้าน รีดไขมัน ลดเงินเดือนพนักงาน ลดค่าใช้จ่ายสารพัดที่ทำได้ กระทั่งให้พนักงานบางส่วนออกไป เพื่อห้ามมเลือด แต่ที่สุด เมื่อทนพิษบาดแผลไม่ไหว ทำให้ต้องตัดสินใจ ยุติ ล้มมเลิกกิจการ นำไปสู่การ “ปลดคน” มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่เดือดร้อนหนัก ผู้ประกอบการแต่ละราย “สายป่าน” ยาวสั้นไม่เท่ากัน ใครไหวไปต่อได้ ไม่ไหวต้องม้วนเสื่อ
สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้แนวโน้มตัวเลข “คนตกงาน” ว่างงาน เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ทุบซ้ำให้ธุรกิจหลายหมวดหมู่แย่ลงกว่าเดิม ทั้งนี้ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)ประเมินว่าโรคโควิดส่งผลกระทบกับคนทำงานร่วม “ร้อยล้านคน” ปัจจุบันชั่วโมงการทำงาน รายได้ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเทศไทย ไม่เพียงแค่พิษสงจากโควิดเล่นงาน แต่ปัจจัยทางด้านเทคโนโลยี สังคมผู้สูงอายุ ฯ ล้วนกระเทือนหน้าที่การงานทั้งสิ้น ความเปราะบางเหล่านี้เสี่ยงทำให้คนตกงานนับ “สิบล้านราย” และยังมีบัณฑิตที่จบการศึกษาใหม่ร่วม “แสนราย” ในแต่ละปี ถูกผลิตเข้าสู่ระบบงาน
การเปลี่ยนแปลงที่สร้างผลกระทบเชิงลบ ที่การันตีว่าใครจะ “งานทำ-ตกงาน” เป็นเรื่องยากจะคาดเดา แต่นาทีนี้ การรู้ตลาดแรงงาน เข้าใจความต้องการขององค์กร เพื่อพัฒนา เพิ่มพูน “ทักษะ” ความรู้สามารถ เป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะปัจจัยดังกล่าวเปรียบเสมือน “อาวุธ” ที่ติดตัวแต่ละคน ในการออกไปต่อกรกับมนุษย์หางานอีกนับล้าน
++เงินที่หายไป มาพร้อมอาชีพที่ 2
ในงาน AP THAILAND and SEAC Present CTC2021 Active Virtual Conference กูรูจากหลายวงการมาอัพเดทเทรนด์ให้แวดวงธุรกิจ ผู้บริโภครับรู้แนวโน้มใหม่ๆที่จะมีผลต่อชีวิต ความเป็นอยู่ และการทำงาน หนึ่งในนั้นคือ “โลกการทำงาน” ที่ไม่เหมือนเดิม กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Head of Venture Builder หัวหน้าทีมนวัตกรรม SCB10X ผู้ก่อตั้งเพจ 8 บรรทัดครึ่ง ฉายภาพไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การหาปัจจัยสี่เพื่อดำรงชีพพลิกโฉมไปมาก ซื้ออาหารโดยไม่ต้องออกจากบ้าน สั่งผ่านแอ๊พพลิเคชั่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มช้อปอีคอมเมิร์ซได้สบาย ฯ เรียกได้ว่าสมาร์ทโฟนเป็นตัวช่วยตอบสนองความต้องการได้อย่างดี
นั่นเป็น Need หรือความต้องการของผู้บริโภคที่หากอยากได้ต้องใช้ “เงิน” แลกมา เมื่อขาหนึ่งเป็นการ “หารายได้” แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับไม่เอื้อนัก โดยเฉพาะมีรายได้ประจำทางเดียว ทำให้หลายคนปรับตัวหารายได้เสริมจากแหล่งที่ 2 อยู่ตลอดเวลา เช่น ขายสินค้าผ่านออนไลน์
แนวโน้มดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับองค์กรที่จะยอมรับได้ แต่นาทีนี้การ “เปิดกว้าง” พูดคุยกับพนักงานเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อทำความเข้าใจ เพราะนับวันคำว่า “งานประจำ” อาจไม่มีอยู่จริง แม้เวลานี้จะเป็นห้วงเวลาแห่งความยากลำบาก แต่โอกาสที่มนุษย์เงินเดือนจะไม่อยู่ในองค์กรยังมี จึงต้องหาทางสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น
“พนักงานประจำ กับการหารายได้เสริม เป็นเรื่องปกติ คำถามคือ องงค์กรมองพนักงานประจำเหล่านี้ และจะบริหารจัดการอย่างไร เพราะเงินที่เริ่มหายไป ทำให้คนพูดถึงงานที่ 2 มากขึ้น ไม่ใช่ 1 คน 1 งานอีกต่อไป”
++Work From Home เป็นเรื่องจริงจัง
ขณะที่การทำงาน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิด-19 ทำให้เกิดวิถีปกติใหม่หรือ New Normal การทำงานที่บ้าน ทำงานจากที่ไหนก็ได้ในโลก เป็น Remote working ทำงานได้ทุกที่แต่อาจไม่ใช่ทุกเวลา หรือ Work anywhere but not every time ย่อมมีให้เห็นปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น และการทำงนที่บ้านจะไม่ใช่แค่สถานการณ์ “ชั่วคราว” จะกลายเป็นเรื่องจริงจังของมนุษย์เงินเดือน คนทำงานมากขึ้น
ทั้งนี้ หากบริษัทเรียกร้องให้พนักงานกลับไปนั่งทำงานที่ออฟฟิศเหมือนเดิม 100% อาจมีเสียงโวยวายได้ เพราะโควิดระลอก 2 เปลี่ยนพฤติกรรมของคนทำงานเรียบร้อยจนเกิดความ “คุ้นชิน” แม้จะมีวัคซีนมากำราบไวรัส ทำให้สถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายก็ตาม
“บางเรื่องคงไม่สามารถกลับไปสู่จุดเดิมแล้ว”
จุดนี้องค์กรจะได้รับผลกระทบคือ “พื้นที่สำนักงาน” หรือออฟฟิศจะ “ว่าง” จึงต้องบริหารจัดการต้นทุน สินทรัพย์ให้ดี
ส่วนคนทำงาน ในปี 2564 จะรับมืออย่างไรกับตลาดงาน กวีวุฒิ ย้ำว่า การพัฒนาตัวเองตลอดเวลายังคงเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อต่อยอดสู่การขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจให้เติบใหญ่ นี่ไม่ได้เป็นเพียงหนทางสร้างความมั่นคงให้ตัเวอง แต่เป็นโอกาสในการเสริมแกร่งให้องค์กรด้วย เมื่อองค์กรเมื่อเห็นคนมีความรู้ความสามาถย่อมต้องการักษาไว้ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาตนเองไม่ใช่แค่หน้าที่ของคนมีงานทำ คนทำงานปัจจุบัน แต่รวมถึงคนรุ่นใหม่ด้วย เพราะสิ่งที่ร่ำเรียนมา ไม่นานจะมีความรู้ใหม่มาทดแทนเรื่อยๆ ความรู้เดิมอาจถูกลืมเลือนอย่างรวดเร็ว
“บ่อยครั้งเราพูดถึงการพัฒนาองค์กร แต่คน พนักงานนี่แหละต้องพัฒนาตนเอง เมื่อก่อนองค์กรอาจเห็นว่าคนไหนปรับตัวได้หรือไม่ได้ แต่ช่วงนี้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงมาก หากงานยากๆ เราเป็นคนแรกที่ยกมือขอทำ สะท้อนทัศนคตดีที่ดีโอกาสก็จะโผล่มาเป็นของเรา”
++แข่งสมัครงานเดือดกว่าเดิม!
ฟันธง! ว่าตลาดงาน การสมัครงานปี 2564 แข่งขันดุเดือดกว่าเดิมแน่นอน เพราะจำนวน “คนว่างงาน” ที่ปรับตัวสูงขึ้น มุมมองจาก ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย
เมื่อการแก่งแย่งให้ตัวเองมีงานทำงานทวีความรุนแรง คำแนะนำจาก ธิดารัตน์ จึงหนีไม่พ้นเรื่องพื้นฐานอย่างการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เด็กจบใหม่” ที่ยังว่างงานอยู่ต้องไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ควรหมั่นหาความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาทักษะให้ตรงกับความต้องการขององค์กร
ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์
ทั้งนี้ การจะหางานในยุคนี้ผู้สมัครจะต้องมีทักษะด้านความรู้ความสามารถที่เกี่ยวกับงานนั้นๆ หรือ Hard skills เพราะเมื่อองค์กรที่รับเข้ามาแล้วต้องทำงานได้ทันที เนื่องจากธุรกิจทุกวันนี้แข่งกันที่ความเร็วหรือ Speed เป็นสำคัญ แต่จะเก่งด้านเดียวไม่ได้ ทักษะทางสังคมหรือ Soft skill ก็ยังเป็นทักษะสำคัญที่องค์กรมองหาในตัวผู้สมัครเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น การปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง ความฉลาดทางอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และความใฝ่รู้ เพราะองค์กรไม่ได้มีคนเพียงคนเดียว แต่ยังมี “ทีมงาน” อีกมากหน้าหลายตาจากหลายฝ่ายซึ่งต้องการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และต้องประสานงานกันเพื่อให้งานเดินหน้าอย่างราบรื่น
“หากผู้สมัครมีทักษะที่หลากหลายก็จะสร้างความได้เปรียบมากขึ้น เพราะแนวโน้มการทำงานในปัจจุบันพนักงานจะมีหน้าที่รับผิดชอบที่หลากหลายมากขึ้นและอาจถูกปรับบทบาทหน้าที่ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป องค์กรจึงต้องการคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้มาเพิ่มความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการดำเนินงาน”
++ตลาดแรงงานเปราะบางสูง
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นปีก่อน จนถึงขณะนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัว และมีการคาดการณ์ว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีในการฟื้นฟู ดังนั้นทำให้ ตลาดแรงงานปี 2564 ยังมีความเปราะบางสูงต่อเนื่องจากปีก่อน และเพื่อความอยู่รอด องค์กรและผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงยังอยู่ในสภาวะรัดเข็มขัด “ชะลอการจ้างคนเพิ่ม” บางองค์กรอาจมีการปรับโครงสร้าง “ลดจำนวนพนักงานประจำ” และหันมาจ้างพนักงานชั่วคราวแทน
“ปัจจุบันเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวบ้าง แต่เป็นเพียงในบางธุรกิจและยังไม่กระจายตัวในทุกกลุ่มรายได้ การกลับมาระบาดของโรคโควิด-19 ยังกระทบเศรษฐกิจ ธุรกิจอีกรอบ เป็นความเปราะบางกระทบตลาดงานด้วย”
++เจาะฐานเงินเดือนปี 64
นอกจากมีงานทำ สิ่งที่มนุษย์เงินเดือน คนทำงานอยากรู้และอยากได้ คือ “เงินเดือน” เพื่อนำไปใช้จ่าย ดำรงชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข ดังนั้น “อเด็คโก้ ประเทศไทย” ผู้นำด้านการให้บริการทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจร จึงเปิดตัว Salary Guide 2021 คู่มือฐานเงินเดือนประจำปี เผยอัตราเงินเดือนในสายอาชีพต่าง ๆ จากบริษัทชั้นนำที่เป็นลูกค้าของบริษัท ซึ่งมีมากกว่า 3,000 บริษัท มีข้อมูลดังนี้
-IT ครองแชมป์เงินเดือนเด็กจบใหม่ สตาร์ทสูงสุด 60,000 บาท
ข้อมูลการจ้างงานผ่านอเด็คโก้ ปีที่ผ่านมาพบว่าฐานเงินเดือนพนักงานออฟฟิศของเด็กจบใหม่จะเริ่มต้นที่ 12,000 บาท และสูงสุดที่ 60,000 บาท โดยสายงานที่มีเงินเดือนสูงสุดได้แก่สายงาน IT เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน รับกับยุคดิจิทัล ซึ่งมีฐานเงินเดือนอยู่ที่ 18,000 - 60,000 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าปีก่อนจากเดิมที่สูงสุดอยู่ที่ 40,000 บาท
สำหรับอาชีพที่ได้รับเงินเดือนสูงสุดสำหรับเด็กจบใหม่ในปี 2564 ได้แก่ อาชีพ “Software Engineer” ที่มีเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ 60,000 บาท ภายใต้เงื่อนไขด้านทักษะและประสบการณ์ของเด็กจบใหม่ รวมถึงฐานเงินเดือนของแต่ละองค์กรด้วย เนื่องจากอาชีพนี้มีช่วงเงินเดือนอยู่ที่ 20,000 - 60,000 บาท โดยส่วนใหญ่แล้วเด็กจบใหม่ที่ได้รับเงินเดือนสูงมักเป็นเด็กจบใหม่ที่มีประสบการณ์การทำงานมาก่อน เคยรับงานอิสระหรือฟรีแลนซ์ และทำงานสตาร์ทอัพตั้งแต่ยังไม่จบการศึกษา มีทักษะการเขียนโปรแกรมเฉพาะทางหรือมีความชำนาญในการเขียนโปรแกรมหลากหลายภาษา รวมทั้งต้องสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ในระดับดี-ดีมากเนื่องจากต้องทำงานในองค์กรต่างชาติ
รองลงมาได้แก่อาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล(Data Scientist) และวิศวกรข้อมูล(Data Engineer) ที่มีอัตราเงินเดือนอยู่ที่ 30,000 - 50,000 บาท ตอบโจทย์เทรนด์การใช้ข้อมูลมหาศาลหรือ Big Data กำลังมาแรง องค์กรต้องการคนที่จะมาช่วยออกแบบวิธีการจัดเก็บ เรียกใช้งานข้อมูล รวมไปถึงการวิเคราะห์ ทดลองสมมติฐานต่างๆ และสรุปผลข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างสรรค์โปรโมชัน การรักษาฐานลูกค้า และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สองอาชีพนี้จึงเป็นอาชีพที่ตลาดต้องการสูงและมีฐานเงินเดือนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ
-งานสาย Specialist เงินเดือนดี เก่งเฉพาะทางมีสิทธิ์ทำรายได้หลักแสน
นอกจากนี้ ปีที่ผ่านมามีหลายอาชีพเฉพาะทางที่มีฐานเงินเดือนสูง หากมีความสามารถและประสบการณ์สูงจะสามารถทำเงินเดือนทะลุหลักแสนได้แม้ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งผู้จัดการหรือผู้บริหาร เช่น Financial Controller, Legal Consultant, Research & Development Specialist, Company Secretary ซึ่งบางองค์กรตั้งเพดานเงินเดือนสูงสุดที่ 250,000 บาท ต่อเดือน
-อาชีพที่ตลาดมีความต้องการสูงประจำปี 2564
จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากความต้องการจ้างงานของลูกค้าองค์กรในปีที่ผ่านมาและสำรวจความคิดเห็นจาก Recruitment Consultant และ Business Manager ของอเด็คโก้ ยังพบเทรนด์อาชีพที่ตลาดมีความต้องการสูงและมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นในปี 2564 ดังนี้ 1.สาย IT & Digital: ตลาดงานด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและได้รับผลกระทบจากโควิดน้อยที่สุด หลายองค์กรยังคงเน้นเสริมกำลังคนด้านการเขียนโปรแกรม การออกแบบและพัฒนาระบบ การวิเคราะห์ข้อมูล big data โดยตำแหน่งที่เป็นที่ต้องการมาก ได้แก่ Data Engineer, Data Analytic, Data Science, DevOps Engineer และ Solution Architect
2.สาย Engineering & Technical: ในภาพรวมของตลาดงานด้านวิศวกรยังคงขาดแคลนพนักงานขายและพนักงานในระดับผู้จัดการที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค ประสบการณ์สูง สามารถบริหารทีมงานและแก้ปัญหาหน้างานได้ โดยตำแหน่งที่เป็นที่ต้องการมาก ได้แก่ Sales Engineer, Technical Sales Manager, Production Manager และ Project Manager 3.สายงาน Finance: แม้งานบางส่วนของสายงานนี้กำลังถูกทดแทนด้วยปัญญาประดิษฐ์(AI) แต่องค์กรต่างยังคงต้องการผู้บริหารและเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและวางแผนกลยุทธ์ด้านการเงินให้กับองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดเหตุวิกฤตทางด้านเศรฐกิจที่เป็นผลพวกจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยตำแหน่งที่เป็นที่ต้องการมาก ได้แก่ Finance & Accounting Manager (CPD/CPA), Finance Manager (CPD/CPA) และ Financial Controller
4.สายงาน Sales & Marketing: แนวโน้มความต้องการแรงงานในสายการขายและตลาดในปีนี้ยังคงเน้นเสริมกำลังคนที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญเพื่อรุกตลาดดิจิทัลและสร้างยอดขายให้บริษัทผ่านช่องทางออนไลน์ โดยตำแหน่งที่เป็นที่ต้องการมาก ได้แก่ Digital Manager, Sales Manager และ Brand Manager 5.สายงาน Japanese Speaking: สำหรับงานที่ใช้ภาษาญี่ปุ่นนั้น องค์กรญี่ปุ่นยังคงมองหาพนักงานที่มีศักยภาพพร้อมทักษะในการทำงานและทักษะการใช้ภาษาญี่ปุ่นที่ดีมาเสริมองค์กรอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการขาย งานธุรการและเลขา และงานวิศวกร
6.สายงาน Industrial Positions: แม้อุตสาหกรรมหลักในไทยได้รับผลกระทบของโควิด-19 ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม มีบางตำแหน่งที่องค์กรยังคงมีความต้องการสรรหาบุคลากรมาเสริมทีม โดยตำแหน่งที่กำลังเป็นที่ต้องการมีทั้งสายบริหารและสายวิศวกรรม ได้แก่ Accounting & Finance Manager ในสายงานการผลิตและโรงงาน, Sales/Service Engineer ในสาขา EPC ปิโตรเคมี พลังงาน ระบบควบคุมอัตโนมัติ รวมถึงงานในตำแหน่ง Quality & Production Engineer
++โควิด พลิกตลาดงาน-เงินเดือนเปลี่ยน
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผนวกกับการพัฒนาของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งผลให้ภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ ปรับตัวนำมาใช้ขับเคลื่อนการทำงานเพื่อให้อยู่รอดท่ามกลางเศรษฐกิจเปราะบาง ควบคู่กับความก้าวหน้าของแพลตฟอร์มใหม่ ๆ กลายยเป็นปัจจัยที่ทำให้ความต้องการในตลาดแรงงานส่วนใหญ่เกิดการเปลี่ยนแปลงและมีการจ่ายผลตอบแทนเพื่อดึงดูดคนทำงานเพิ่มมากขึ้นในสายเฉพาะทาง มุมมองจาก พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด
พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์
ทั้งนี้ จ๊อบส์ ดีบี (JobsDB) แพลตฟอร์มหางานชั้นนำ เผยรายงานอัตราเงินเดือนของพนักงานไทยประจำปี 2564 หรือ Salary Report 2021) ข้อมูลฐานเงินเดือนต่ำสุด-สูงสุดแบ่งตามประเภทงาน ครอบคลุมตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ถึงระดับผู้บริหาร พบว่าอัตราเงินเดือนเป็นดังนี้
1.ระดับเจ้าหน้าที่ (Officer Level) สายงานไอที มียอดเงินเดือนเริ่มต้นสูงสุดระหว่าง 23,225 ถึง 41,122 บาท ตามด้วย สายงานบริการเฉพาะทาง ระหว่าง 22,872 ถึง 39,331 บาท สายงานโทรคมนาคม ระหว่าง 22,785 ถึง 38,612 บาท สายงานบริการด้านการแพทย์ ระหว่าง 21,945 ถึง 37,320 บาท สายงานอีคอมเมิร์ซ ระหว่าง 21,599 ถึง 35,283 บาท สายงานวิศวกรรม ระหว่าง 21,406 ถึง 35,571 บาท สายงานธนาคาร ระหว่าง 21,036 ถึง 37,623 บาท สายงานประกันภัย ระหว่าง 21,025 ถึง 34,860 บาท สายงานจัดซื้อ ระหว่าง 20,829 ถึง 33,442 บาท และสายงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ ระหว่าง 20,524 ถึง 32,589 บาท
2.ระดับหัวหน้างาน (Supervisor Level) เริ่มด้วย สายงานอีคอมเมิร์ซ มียอดเงินเดือนเริ่มต้นสูงสุดระหว่าง 36,857 ถึง 64,787 บาท สายงานโทรคมนาคม ระหว่าง 36,541 ถึง 67,134 บาท สายงานไอที ระหว่าง 36,522 ถึง 66,920 บาท สายงานบริการเฉพาะทาง ระหว่าง 35,962 ถึง 63,888 บาท สายงานประกันภัย ระหว่าง 35,802 ถึง 63,790 บาท สายงานบัญชี ระหว่าง 35,252 ถึง 58,403 บาท สายงานธนาคาร ระหว่าง 35,124 ถึง 64,460 บาท สายงานขนส่ง ระหว่าง 35,049 ถึง 55,624 บาท สายงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ ระหว่าง 35,037 ถึง 59,943 บาท และสายงานธุรการและงานทรัพยากรบุคคล ระหว่าง 34,919 ถึง 56,372 บาท
3.ระดับผู้จัดการ (Manager Level) โดยสายงานประกันภัย มียอดเงินเดือนเริ่มต้นสูงสุดระหว่าง 55,762 ถึง 90,716 บาท สายงานไอที ระหว่าง 54,435 ถึง 93,324 บาท สายงานธนาคาร ระหว่าง 52,993 ถึง 94,481 บาท สายงานโทรคมนาคม ระหว่าง 52,353 ถึง 94,607 บาท สายงานบริการเฉพาะทาง ระหว่าง 52,274 ถึง 90,941 บาท สายงานบัญชี ระหว่าง 52,061 ถึง 86,158 บาท สายงานธุรการและงานทรัพยากรบุคคล ระหว่าง 51,803 ถึง 85,079 บาท สายงานวิทยาศาสตร์ งานห้องปฏิบัติการ และงานวิจัยพัฒนา ระหว่าง 51,615 ถึง 88,427 บาท สายงานขนส่ง ระหว่าง 51,302 ถึง 80,680 บาท และ สายงานวิศวกรรม ระหว่าง 51,237 ถึง 84,776 บาท
4.ระดับผู้บริหาร (Top Level) ประเดิมด้วย สายงานบริการเฉพาะทาง มียอดเงินเดือนเริ่มต้นสูงสุดระหว่าง 113,563 ถึง 164,071 บาท สายงานอีคอมเมิร์ซ ระหว่าง 113,271 ถึง 161,588 บาท สายงานธนาคาร ระหว่าง 112,917 ถึง 165,114 บาท สายงานวิทยาศาสตร์ งานห้องปฏิบัติการ และงานวิจัยพัฒนา ระหว่าง 109,726 ถึง 160,753 บาท สายงานการผลิต ระหว่าง 109,566 ถึง 161,045 บาท สายงานบริการด้านการแพทย์ ระหว่าง 106,630 ถึง 158,478 บาท สายงานไอที ระหว่าง 105,135 ถึง 160,033 บาท สายงานบัญชี ระหว่าง 104,978 ถึง 159,970 บาท สายงานธุรการและงานทรัพยากรบุคคล ระหว่าง 104,714 ถึง 156,134 บาท และ สายงานวิศวกรรม ระหว่าง 102,298 ถึง 153,763 บาท
พรลัดดา ย้ำว่า รายงานอัตราเงินเดือนข้างต้นยังพบว่า สายงานไอที-ดิจิทัล ทุกระดับงานไต่อันดับขึ้นเมื่อเทียบกับผลการสำรวจเมื่อ 2 ปีก่อน โดยเฉพาะในระดับเจ้าหน้าที่ขึ้นแท่นอันดับ 1 จากอันดับ 3 ส่วนระดับหัวหน้างานและระดับผู้บริหารที่ติดโผสายงานหน้าใหม่ที่มีเงินเดือนสูง จากที่เคยอยู่ในอันดับ 13 และ 12 ตามลำดับ ส่วนสายงานที่น่าจับตามอง ได้แก่ สายงานโทรคมนาคม ที่ขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 5 ในระดับเจ้าหน้าที่ ระดับหัวหน้างาน และระดับผู้จัดการ รวมถึงสายงานธนาคาร ที่ปรับขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 10 ในทุกระดับงาน สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตหลังจากเทคโนโลยี ดิจิทัล ดิสรัปชั่น เช่น ธนาคาร ต้องการพัฒนายกระดับสู่ดิจิทัล แบงก์กิ้ง
ทักษะที่ต้องมีในโลกการทำงานยุคปัจจุบัน
“ผลจากดิจิทัล ดิสรัปชั่นทำให้ความต้องการคนทำงานด้านไอที ดิจิทัลเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาระบบ วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ให้แก่ธนาคาร บริษัทสื่อสารโทรคมนาคม และบริษัทเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงแค่องค์กรยักษ์ใหญ่เท่านั้นที่มีสถิติฐานเงินเดือนที่สูงขึ้น แต่ยังรวมถึงองค์กรขนาดกลางและเล็กที่ลงสนามแข่งขันเพื่อแย่งชิงบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านไอทีมาช่วยพัฒนารากฐานระบบต่าง ๆ ขององค์กร และรองรับการทำงานหลังจากเกิดโรคโควิด-19ด้วย”