หอการค้าไทย-จีน ลุยแผนหลังโควิด โรดโชว์ดึงลงทุนจีน22มณฑล
หอการค้าไทย-จีน เตรียมเดินสายโรดโชว์ 22 มณฑลของจีน ดึงดูดนักลงทุนกลุ่มเป้าหมายเข้ามาตั้งฐานการผลิตในอีอีซี คาดปี 2564 จะมีนักลงทุนจีนเพิ่ม 20% ส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนในอุตฯ New S-Curve อิเล็กทรอนิกส์ บริการด้านดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ หุ่นยนต์ เกษตรแปรรูป
นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน เปิดเผยว่า หลังจากที่นายโจ ไบเดน ประธานาธอบดีสหรัฐเดินหน้ามาตรการกีดกันการค้ากับจีนสานต่อนโยบายสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทในจีนจำนวนมากย้านฐานการผลิตออกนอกจีนเพื่อหลีกสงครามการค้า โดยไทยเป็นเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญ
ดังนั้นหอการค้าไทย-จีน จึงเดินหน้าหารือหน่วยงานหอการค้าจีนในไทยที่มีกว่า 22 มณฑล เช่น หอการค้าไทย-เซี่ยงไฮ้ ,หอการค้าไทย-กวางตุ้ง เพื่อเจรจาดึงดูดการลงทุนและประเมินว่ามีอุตสาหกรรมใดบ้างที่จะมาลงทุนไทยเพื่อจะอำนวยความสะดวก ซึ่งหลังการระบาดของโควิด-19 หอการค้าไทย-จีน จะเดินทางไปโรดโชว์ดึงดูดการลงทุนในมณฑลและบริษัทเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่จะเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
“หลังโควิด-19 สงบลง จะมีนักลงทุนจากจีนมาไทยจำนวนมาก โดยหอการค้าไทย-จีน จะเร่งเดินสายออกไปโรดโชว์ 22 มณฑล โดยเริ่มจากมณฑลที่มีคนจีนอพยพมาไทยมากที่สุดก่อน เพราะมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นทางสายเลือกกับคนไทยเชื้อสายจีนทำให้ต่อยอดลงทุนได้ง่าย”
สำหรับอุตสาหกรรมที่จีนต้องการมาไทยจะมีทั้งเอสเอ็มอีและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve ที่จะเข้ามาลงทุนใน อีอีซี เช่น อิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง ธุรกิจบริการด้านไอที ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่จะรองรับระบบ 5จี อุตสาหกรรมที่จะเข้ามาต่อยอดอุตสาหกรรม 4.0 อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ แปรรูปอาหาร และ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
นอกจากนี้ หอการค้าไทย-จีน ได้ลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐบาล รัฐวิสหกิจ และหน่วยงานเอกชนของจีนหลายหน่วยงาน เช่น องค์กรส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ China Council for the Promotion of International Trade (CCPIT) ที่มีระดับรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งหลังโควิด-19 คลี่คลายมีแผนที่จะนำผู้ประกอบการจีนมาจัดงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ในไทย รวมไปถึงการจับคู่ธุรกิจระหว่างไทย-จีน และในอนาคตจะมีความร่วมมือด้านอื่นตามมา
ทั้งนี้ ที่ผ่านมานักลงทุนจีนเข้าไปลงทุนในมาเลเซียอันดับ 1 เพราะว่าคนมาเลเซียเชื้อสายจีนมีความเป็นจีนสูงมาก และมักไปดึงคนจีนไปลงทุนในมาเลเซีย ส่วนเวียดนามมีเป็นอันดับ 2 เพราะติดกับจีนและใช้ภาษีจีนสื่อสาร
ในขณะที่ไทยเป็นอันดับ 3 แต่คาดว่าหลังโควิดจีนจะให้ความสำคัญในการลงทุนไทยมากขึ้น เพราะอีอีซีได้สิทธิประโยชน์จูงใจสูงและไทยมีภูมิศาสตร์ที่แข็งแกร่งเหมาะเป็นฐานการผลิตในอาเซียนและส่งออกไปต่างประเทศ แต่มีเอสเอ็มอีจีนจำนวนมากมาลงทุนในไทยร่วมกันคนไทยเชื้อสายจีน โดยคนไทยถือหุ้นมากกว่าและไม่ขอรับสิทธิจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เมื่อรวมตัวเลขเหล่านี้ทำให้นักลงทุนชาวจีนในไทยอาจจะมีใกล้เคียงอันดับ 1 มาเลเซีย
นายวิวัฒน์ เวศย์ไกรศรี รองประธาน หอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า สงครามการค้าเป็นแรงกดดันสำคัญให้ผู้ประกอบการจีนมาลงทุนไทยเพิ่มขึ้น โดยชาวจีนที่ขยายฐานการผลิตเข้ามาในไทย ส่วนใหญ่จะเป็นจีนเชื้อสายแต้จิ้วจากมณฑลทางใต้ของจีนโดยเฉพาะมณฑลกวางตุ้งมากที่สุด ซึ่งคนแต้จิ๋วที่มาลงทุนในไทยนอกจากจะเพราะโครงสร้างพื้นฐานและสิทธิประโยชน์การลงทุนที่ดี อีกสาเหตุ คือ คนเชื้อสายจีนในไทยกว่า 80% จะมีเชื้อสายแต้จิ๋ว ทำให้มีความผูกพันธฺด้านภาษา เชื้อชาติสูง
รวมทั้งมณฑลกวางตุ้งมีเมืองสำคัญ คือ เมืองเชินเจิ้น ที่เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของจีนเป็นแหล่งบ่มเพาะเทคโนโลยีสมัยใหม่ และมีเงินลงทุนสูงทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะเข้ามาลงทุนไทยเพิ่มขึ้นมาก
นอกจากนี้มณฑลทางตอนใต้อีกหลายแห่งสนใจที่จะเข้ามาลฃงทุนในไทยอีกมากในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย และอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ตลอดจนอุตสาหกรรมไฮเทคชั้นสูงที่มีเป้าหมายเข้ามาในอีอีซีทำให้คาดว่าหลังจากโควิด-19 สงบ จะมีนักลงทุนจากจีนเช้ามาในไทยเพิ่มขึ้นกว่า 20% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นฟูได้หลังโควิด-19
นอกจากนี้ นักลงทุนจีนที่เข้ามาในไทยส่วนใหญ่ร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทย ซึ่งหอการค้าไทย-จีน จะอาศัยหน่วยงานเครือข่าย 60 สมาคม เข้ามาประสานงานร่วมลงทุน หรือร่วมในระบบซัพพลายเชน และอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนชาวจีน ซึ่งสมาคมเหล่านี้ประกอบด้วยหลากหลายธุรกิจที่สามารถเข้าไปร่วมลงทุนกับชาวจีนได้ในทุกสาขาธุรกิจ
สำหรับนักลงทุนจีนที่เข้ามาในไทยส่วนใหญ่จะเข้ามาลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนจะไม่ค่อยเข้ามาลงทุนเดี่ยว ทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และใช้ไทยเป็นฐานการผลิตไปสหรัฐ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว
ทั้งนี้ แม้เวียดนามหรือประเทศอื่นในอาเซียนมีมาตรการออกมาดึงดูดนักลงทุนชาวจีน แต่จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการจีนยังคงมองว่าไทยยังได้เปรียบเรื่องบุคลากรที่ทักษะ
“หลังจากที่ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนมานานกว่า 46 ปี ทำให้มีความสัมพันธ์กับไทยที่แน่นแห้ง และไทยยังเป็นประเทศที่มีชาวจีนโพ้นทะเลมากที่สุดของโลก โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้ไปเยือนเมืองซัวเถา และเข้าไปชมหอประวัติศาสตร์ ก็ได้เห็นหลักฐานการติดต่อและการส่งเงินจากคนจีนโพ้นทะเลในไทยกลับไปช่วยประเทศจีนในช่วงที่ยากลำบากเป็นจำนวนมากยาวนานตั้งแต่รัชกาลที่ 5-6 ทำให้ประธานาธิบอีจีนชื่นชนคนไทยมาก ซึ่งความลึกซึ้งทางสายเลือดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวจีนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทย”