ปัดฝุ่น 'โซลาร์ฟาร์ม' ในไทย ดึงเทรนด์พลังงานสะอาด หนุน 2 โปรเจค 'กองทัพบก' และ 'อีอีซี'
โครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทย ที่เดิมประกาศนโยบายหยุดรับซื้อไฟฟ้าโครงการสุดท้ายไปเมื่อปี 2560 ล่าสุด 2 หน่วยงานรัฐ คือ "อีอีซี" และ "กองทัพบก" เตรียมผุดโปรเจคใหม่จ่อดึงเอกชนร่วมลงทุน
การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ ฟาร์ม) ในประเทศไทย ภาครัฐให้การส่งเสริมออกประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ เมื่อราวปี 2553 และประกาศ ปิดฉาก “โซลาร์ ฟาร์ม” เมื่อปี2560 โดยยุติการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ หลังสิ้นสุดโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร เฟส 2 กำลังการผลิตรวม 154.52 เมกะวัตต์ ดำเนินการแล้วเสร็จ เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในขณะนั้น ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าใกล้เต็มกรอบ 3,000 เมกะวัตต์ ที่บรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP)
เมื่อเร็วๆนี้ โครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทย กำลังกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เมื่อกองทัพบก(ทบ.) ประกาศจับมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก การผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์ ฟาร์ม) พื้นที่ราชพัสดุในการดูแลของกองทัพบกในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศรวมกว่า 4.5 ล้านไร่ หรือ ประมาณการว่า จะมีศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้ถึง 30,000เมกะวัตต์
แต่ระยะแรก ยังเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาในโครงการโซลาร์ฟาร์มพื้นที่มีศักยภาพก่อน จำนวน 3 แสนไร่ โดยจะเริ่มจากพื้นที่ 3,000 ไร่ บริเวณพื้นที่ตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี คาดว่าจะมีความเหมาะสมในการทำโซลาร์ฟาร์ม กำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์อีกทั้ง กองทัพบก ยังส่งสัญญาณเตรียมเชิญชวนให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จะมีความชัดเจนในรูปแบบการลงทุน ก็ต่อเมื่อ กฟผ.ทำการศึกษาความเป็นไปได้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ยังมีโครงการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ ฟาร์ม ในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ผุดขึ้น หลังจาก บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG ได้ร่วมมือกับ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ในการศึกษาความเป็นไปได้ โครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) และพลังงานสำรอง (ระบบกักเก็บพลังงาน) เพื่อใช้ในเขตอีอีซี ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (SET Energy) ที่มี SPCG เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าระยะแรกไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2564-2569
โดยมีเป้าหมาย ต้องการให้อีอีซี เป็นพื้นที่สะอาดต้นแบบ หรือโมเดลใหม่ของประเทศไทยเป็นพื้นที่ชั้นนำของโลกในการใช้พลังงานสะอาดจากพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้แนวคิด สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society)
เช่นเดียวกับ กองทัพบก ที่เล็งเห็นว่า นอกจากส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ในอนาคตหากเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจะสามารถลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศได้อีกทางหนึ่ง
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ทั้ง 2 โครงการดังกล่าว ยังไม่ได้มีการหารือกับกระทรวงพลังงานแต่อย่างใด และแม้ว่า โครงการโซลาร์ฟาร์มในอีอีซี จะดำเนินการในพื้นที่พิเศษที่มี พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 รองรับ แต่ในการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ ที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการลงทุนด้านพลังงานของประเทศ ระยะยาว 20 ปีนั้น ทางกระทรวงพลังงาน จะต้องไปหารือรายละเอียดกับทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.)ด้วย เช่นเดียวกับโครงการโซลาร์ ฟาร์ม ของกองทัพบก ก็จะต้องนำมาหารือถึงความเป็นไปได้ของโครงการ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการจัดทำแผนฯในภาพรวม และไม่เกิดปัญหาต่อระบบไฟฟ้าในอนาคต
“กำลังผลิตไฟฟ้าของ กองทัพบก 3 หมื่นเมกะวัตต์ มันใหญ่มาก จะเกิดขึ้นได้ทั้งหมดหรือไม่ ก็ต้องคุยกัน เพราะพีคไฟฟ้าของประเทศก็ 3 หมื่นเมกะวัตต์ ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าในระบบปัจจุบันก็กว่า 5 หมื่นเมกะวัตต์แล้ว จะต้องดูดีมานด์การใช้ไฟ จะเป็นอย่างไร สอดรับกันหรือไม่ เรื่องนี้ตอบยาก จะเกิดขึ้นได้หรือไม่”
อย่างไรก็ตาม ไอเดียผุดโครงการโซลาร์ฟาร์มพื้นที่ราชพัสดุในการดูแลของกองทัพบก ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้าต่างตื่นตัว และแสดงความสนใจหาโอกาสเข้าร่วมลงทุนในโครงการนี้ นำโดย 2 บริษัทลูก ของ กฟผ. ที่รอเกี่ยวแขนบริษัทแม่เข้าร่วมโครงการ
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ระบุว่า บริษัทสนใจที่จะเข้าไปร่วมลงทุนในโครงการ โซลาร์ฟาร์ม ของ กองทัพบก แต่ยังต้องให้ กฟผ.ศึกษาความเป็นไปได้ให้แล้วเสร็จ รวมทั้งนำเสนอให้กระทรวงพลังงาน พิจารณาบรรจุไว้ในแผนพลังงานแห่งชาติเสียก่อน
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO (เอ็กโก กรุ๊ป) กล่าวว่า ในฐานะบริษัทลูกของ กฟผ. บริษัทมีความพร้อมเข้าร่วมโซลาร์ฟาร์ม เนื่องจากบริษัทมี ธุรกิจ Smart Energy Solution ผู้ให้บริการด้านนวัตกรรมพลังงานอย่างครบวงจร รวมทั้งมีเทคโนโลยีรองรับ จึงพร้อมร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว แต่คงต้องรอผลศึกษาชัดเจนก่อนว่า จะเปิดให้เอกชนร่วมโครงการในลักษณะใด
นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริมเพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM กล่าวว่า บี.กริม ให้ความสนใจกับโครงการนี้ แต่ยังคงรอความชัดเจนว่าจะนำเข้าบรรจุอยู่ในแผนPDP หรือไม่ และต้องรอดูผลการศึกษาของกฟผ.ถึงความเป็นไปได้ในการลงทุน รวมถึงจะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนด้วยอย่างไร