‘เวียดนาม’ โตแรงแซงไทย แข่งพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
“เวียดนาม” แซงหน้าไทยทุกเวทีทั้งการส่งออก-เอฟดีไอ หายใจรดต้นคอพ้นกับดักรายได้ปานกลาง “อังค์ถัด” เผยไทยถดถอยในซัพพลายเชนโลก ขาดความน่าสนใจลงทุน เผยนวัตกรรมเวียดนามเป็นรองแค่สิงคโปร์-มาเลเซีย
เวียดนามประกาศนโยบายครั้งสำคัญในการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามสมัยที่ 13 เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2564 ถึง 1 ก.พ.2564 ซึ่งเห็นชอบเป้าหมายให้เวียดนามเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีอุตสาหกรรมทันสมัยและก้าวข้ามรายได้ปานกลางระดับต่ำภายในปี 2568 เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีอุตสาหกรรมทันสมัยมีรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2573
และมีเป้าหมายเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูงภายในปี 2587 รวมทั้งกำหนดเป้าหมายจีดีพีช่วงปี 2564-2568 ขยายตัวเฉลี่ย 6.5-7.0%
ในขณะประเทศไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) มีเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580 ที่มีรายได้ต่อหัวเกิน 12,235 ดอลลาร์ ซึ่งจะใช้เวลาเกือบ 50 ปี นับจากเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนารายได้ปานกลางระดับต่ำเมื่อปี 2531 ที่มีรายได้ต่อหัวเกิน 1,036 ดอลลาร์
ส่วนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2565 - 2568) ที่คาดว่าจีดีพี 2565-2568 จะขยายตัวระหว่าง 3.2-3.7%
นอกจากจีดีพีที่เวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวมากกว่าไทย ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัวที่เวียดนามมากว่าไทย โดยศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สรุปในปี 2562 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ของเวียดนามอยู่ที่ 16,120 ล้านดอลลาร์ ส่วนไทยอยู่ที่ 4,816 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ด้านการส่งออก ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย กระทรวงพาณิชย์ สรุปข้อมูลปี 2563 เวียดนามมีมูลค่า 282,655 ล้านดอลลาร์ ส่วนไทยมีมูลค่า 231,648 ล้านดอลลาร์
รวมทั้งที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ได้ออกรายงาน WORLD ECONOMIC SITUATION AND PROSPECTS 2021 ซึ่งส่วนหนึ่งมีการรายงานห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global value chains : GVC) หัวข้อ GVC in the aftermath of COVID-19 : implications for Asia and the Pacific ระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้รวมถึงไทยและเวียดนามนำ GVC มาเป็นเครื่องมือผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดความยากจน
รายงานดังกล่าวระบุการเปลี่ยนแปลงสัดส่วน GVC ต่อเศรษฐกิจแต่ประเทศ โดยในปี 2548 เวียดนามมีสัดส่วน GVD ต่อ GDP ที่ 30% ส่วนไทยอยู่ที่ 47% และปี 2558 เวียดนามเพิ่มเป็น 47% แต่ไทยมีสัดส่วนลดลงมาอยู่ที่ 28%
ไทยน่าสนใจลงทุนลดลง
นายสมชาย หาญหิรัญ คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การที่มูลค่า GVC ของไทยลดลงเพราะเอฟดีไอขยายไปลงทุนในประเทศที่ได้เปรียบ เช่น เวียดนามที่ในปี 2563 มีเอฟดีไอสูงกว่าไทย 2-3 เท่าตัว
รวมทั้งเอฟดีไอส่วนใหญ่จะไหลไปเวียดนามและอินโดนีเซีย เพราะเวียดนามมีข้อตกลงสำคัญ 2 ข้อตกลง คือ 1.ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) 2.เอฟทีเอเวียดนาม-สหภาพยุโรป (อียู) แต่ไทยไม่มีทำให้เวียดนามเหมาะเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปประเทศในข้อตกลง ส่วนอินโดนีเซียได้เปรียบไทยเพราะขนาดตลาดภายในใหญ่กว่าไทยถึง 4 เท่าตัว
โดยสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องเร่งปรับตัวในเรื่องในสู่อุตสาหกรรม และเทคโนโลยีที่สูงขึ้น นำระบบดิจิทัล หุ่นยนต์ และเครื่องจักรอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิตและการประกอบธุรกิจ และเร่งจัดทำข้อตกลงเอฟทีเอกับประเทศขนาดใหญ่ รวมทั้งการปรับฐานไปสู่ห่วงโซ่การผลิตในสินค้าไฮเทค ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีชั้นสูง จะช่วยเพิ่มสัดส่วนซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมชั้นสูงที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
3ปัจจัยเศรษฐกิจแซงไทย
นายปิติ ศรีแสงนามผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตรวดเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากวิธีคิดและระบบการปกครองที่เมื่อกำหนดแผนหรือแนวทางการพัฒนาประเทศแล้ว จะเดินหน้าตามแผนประกอบกับระบบการปกครองแบบสังคมนิยมที่สั่งการจากส่วนกลางได้ทำการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ส่วนปฏิรูปจริงจัง ได้แก่
1.การปฏิรูปกฎหมายโดยใช้กระบวนการ Regulatory guillotine ตั้งแต่ปี 2550-2551 โดยโละกฎหมายล้าสมัย รวมกฎหมายที่ซ้ำซ้อนและร่างกฎหมายใหม่ส่งเสริมการค้าและการลงทุนสอดคล้องสากล ซึ่งใช้มาตรฐานองค์กรการค้าระหว่างประทศ (WTO) ทำให้ลดต้นทุนเอกชนได้ปีละ 1.4 พันล้านดอลลาร์
2.สนับสนุนบรรยากาศและการใช้ประโยชน์จากการค้าเสรี โดยเวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) 16 ฉบับกับ 53 ประเทศ ขณะที่ไทยมี 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ เวียดนามจึงดึงการลงทุนได้มากกว่า 3.เวียดนามให้ความสำคัญในการพัฒนาคนต่อเนื่อง ทำให้มีแรงงานตรงความต้องการของผู้ประกอบการที่ลงทุนในประเทศ
เวียดนามเปลี่ยนโฉมการศึกษา
นางโดมินิเก อองล์ตเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญโครงการอาวุโส สถาบันระหว่างประเทศเพื่อวางแผนการศึกษา (ไอไออีพี) กล่าวกับเว็บไซต์เวียดนามเน็ตเมื่อเดือน ม.ค.ถึงการพัฒนาระบบการศึกษาของเวียดนามช่วง 5 ปีที่ผ่านมาว่าการศึกษาเวียดนามเปลี่ยนหลายอย่าง ให้ความสำคัญกับประเด็นสังคมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาก่อนประถมวัยและการศึกษาขั้นสูงขยายตัว รัฐบาลตั้งเป้าจัดการศึกษาระดับก่อนประถมวัยและมัธยมศึกษาถ้วนหน้าอัตราเด็กที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนอยู่ในระดับต่ำ ถือเป็นความก้าวหน้าเมื่อเทียบประเทศอื่น
แม้โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอย แต่เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตได้ในปี 2563 หากการใช้จ่ายด้านการศึกษาคงสัดส่วนปัจจุบัน การลงทุนด้านการศึกษาจะเพิ่มขึ้น
สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ประทับใจมากที่สุด คือ ระบบการศึกษาที่เน้นคุณภาพ การศึกษาหลักสูตรใหม่ของเวียดนามเปลี่ยนมากในด้านระบบการประเมินนักเรียน วิธีสอนและสื่อการสอน ทั้งหมดนี้ชี้ถึงความมุ่งมั่นและรับผิดชอบปรับปรุงคุณภาพการศึกษาแตกต่างจากประเทศในกลุ่มโออีซีดีที่พัฒนาระบบมานาน
การเพิ่มจำนวนศูนย์สารสนเทศและศูนย์ภาษาต่างประเทศช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นหลักฐานชัดเจนบ่งบอกถึงการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและอุทิศตัวของภาคส่วนอื่น นอกเหนือจากภาครัฐต่อระบบการศึกษาเวียดนาม
“นวัตกรรม”รองสิงคโปร์-มาเลย์
ด้านองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก เผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 2 ก.ย.2563 ระบุว่า เวียดนามครองอันดับ 42 จาก 131 ประเทศในดัชนีนวัตกรรมโลก (จีไอไอ) ด้วยคะแนน 37.12 เต็ม 100 เป็นอันดับ 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย และเป็นอันดับ 9 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแต่เป็นที่ 1 ในกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ 29 ประเทศ
บริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ ล้วนตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในเวียดนาม ส่วนหนึ่งเพราะได้เปรียบต้นทุนที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางการผลิต ทั้งมีแรงงานอายุน้อย มีความรู้ดีด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม
อย่างไรก็ตาม รายงานแนะว่า หากเวียดนามต้องการเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีทันสมัย จะต้องทุ่มเททรัพยากรด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการศึกษาขั้นสูงให้มากกว่านี้