โรคใบยางพาราร่วงระบาด8.9แสนไร่
เกษตรเร่งหามาตรการแก้ไขโรคใบยางร่วง หลัง ระบาดไปแล้วกว่า 8.9 แสนไร่ หวั่นกระทบผลผลิต รายได้เกษตรกร แนะดูแลดิน ฟื้นสภาพ พัฒนาสายพันธุ์
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย เร่งพิสูจน์หาเชื้อที่ส่งผลให้เกิดโรคใบยางพาราร่วงใหม่ จากปัจจุบัน ที่ผลวิเคราะห์พบแล้วว่ามาจาก Colle totrichum sp แต่ยังไม่รู้ว่าเป็น สปีชีส์ ใด ทั้งนี้เพื่อจะแนวทางป้องกัน ยับยั้งและฟื้นฟูได้อย่างถูกต้อง โดยโรคใบยางร่วงนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ในทุกประเทศที่มีการผลิตยางพารา เช่นอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย โดยอินเดียมีการระบาดมากที่สุด ประมาณ 2 ล้านไร่
ในขณะที่ไทยมีการระบาดไปแล้วกว่า 8.9 แสนไร่ ในทุกจังหวัดภาคใต้ ยกเว้น กระบี่และชุมพร ดังนั้นเพื่อบรรเทาความเสียหายในเบื้องต้น เกษตรกรต้องมั่น สังเกต หากตรวจพบใบยางร่วงผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ ทำการฉีดพ่น ซึ่งปัจจุบันดำเนินการไปแล้วในหลายพื้นที่
อย่างไรก็ตามจากข้อสันนิษฐานเบื้องต้น พบว่าโรคใบยางร่วงนี้จะเกิดขึ้นกับต้นยางที่อายุมาก ดังนั้นแนวทางการแก้ไขเกษตรกรต้องดูแลเรื่องดิน ทำการฟื้นฟู อาจต้องโค่นและปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีกว่า รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพัฒนาสายพันธุ์ให้ดีขั้นด้วย
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา เริ่มระบาดเข้าสู่ประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2562 มีพื้นที่การระบาดประมาณ 800,000 ไร่ ส่งผลให้ใบยางพาราเกิดอาการร่วงอย่างรุนแรง ทำให้ผลผลิตยางพาราลดลงถึง 50% เกษตรกรชาวสวนมีรายได้ลดลงตามไปด้วย ซึ่งในปีนี้พื้นที่การระบาดใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
นายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กล่าวว่า ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ผู้แทนเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ซึ่งมีความเห็นว่าควรจะร่วมกันศึกษาเชื้อสาเหตุให้ได้ผลที่แน่ชัด หาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพ่นสารและจำนวนครั้งที่ต้องพ่น จัดทำมาตรฐานประเมินความรุนแรงของโรค (Standardize) สำรวจผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง