เปิดทางเลือกต่อลมหายใจ 'ธุรกิจโรงแรม'
จับตา "Asset Warehousing" มาตรการการขายโรงแรม/โอนกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของในโรงแรมดังกล่าวให้สถาบันการเงิน ที่จะช่วยลดภาระการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการ หนึ่งในทางรอดต่อลมหายใจ "ธุรกิจโรงแรม"
ธุรกิจโรงแรมในภาพรวมคงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปีจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ได้กลับมาระบาดระลอกใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือโรงแรมในหลายส่วน ได้แก่ มาตรการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ตลอดจนมาตรการการแบ่งเบาภาระรายจ่าย รวมถึงมาตรการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในประเทศ
มาตรการเหล่านี้ได้สะท้อนความพยายามของภาครัฐในการช่วยเหลือผู้ประกอบการตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดกลางและเล็ก เพียงแต่สถานการณ์การระบาดระลอกใหม่และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่อาจต้องใช้เวลานาน ทำให้แผลลึกขึ้น จึงจำเป็นต้องหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ
มาตรการ Asset Warehousing แต่คงต้องรอความชัดเจนในหลายประเด็น แม้ว่ารายละเอียดเบื้องต้นอาจออกมาในรูปการขายหรือขายฝากสินเชื่อธุรกิจโรงแรมให้กับสถาบันการเงินในราคาและเงื่อนไขที่ตกลงกัน มากกว่าการจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อรับโอนหนี้จากธนาคารพาณิชย์ แต่วัตถุประสงค์หลักคงไม่ต่างกัน
นั่นคือการขายโรงแรม/โอนกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของในโรงแรมดังกล่าวให้สถาบันการเงิน จะช่วยลดภาระการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการ อันจะช่วยทำให้มีสภาพคล่องทางอ้อมเพิ่มขึ้น และ/หรือลดภาระจากการแบกต้นทุนรายจ่ายของโรงแรมในแต่ละเดือนในจังหวะที่สถานการณ์ผู้เข้าพักลดลงมาดังเช่นในปัจจุบัน ขณะที่ เปิดทางเลือกให้ผู้ประกอบการสามารถซื้อโรงแรมคืนได้เมื่อสถานการณ์คลี่คลายขึ้นจนเข้าสู่ภาวะปกติ รวมถึงสิทธิในการให้ผู้ประกอบการรายเดิมเช่าเพื่อดำเนินธุรกิจและดูแลโรงแรมให้ยังคงอยู่ในสภาพดี
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ยังมีหลายเรื่องที่ต้องรอความชัดเจน ได้แก่
- หากเป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ศักยภาพและยังมีสายป่านทางการเงินที่ดี โดยอาจมาจากธุรกิจประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากโรงแรมและที่พักนั้น อาจเลือกคงสภาพความเป็นเจ้าของในธุรกิจและขอรับการปรับโครงสร้างหนี้จากสถาบันการเงินมากกว่า
ขณะที่ฝั่งสถาบันการเงินคงประเมินลูกค้าที่เข้าโครงการจากความสามารถและศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ซึ่งแปรผันตามขนาดกิจการ พื้นที่ให้บริการ รวมถึงแนวทางการทำธุรกิจเฉพาะสำหรับโรงแรมแต่ละแห่ง เพื่อบ่งชี้ถึงโอกาสการกลับมาสร้างรายได้ในอนาคตของกิจการ
- ราคาขายหรือราคาโอนกรรมสิทธิ์ จะเป็นไปตามวงเงินสินเชื่อที่มีกับธนาคารพาณิชย์หรือไม่ และกิจการมีหลักประกันส่วนเกินหรือไม่และมากน้อยเพียงใด
- ราคาซื้อคืน-ค่าประกันภัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการจะเช่าเพื่อดำเนินธุรกิจต่อ
- มีการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้และตั้งสำรองหนี้/ทรัพย์สินรอการขายสำหรับสถาบันการเงินหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด เนื่องจากจะมีผลโดยตรงต่อต้นทุนโดยรวมและความสามารถของสถาบันการเงินในการรับซื้อโรงแรม และปล่อยสภาพคล่องเพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการ
- ส่วนประเด็นการเพิ่มสภาพคล่องสำหรับการดูแลรักษาสภาพโรงแรมให้พร้อมใช้งานนั้น หากต้องการให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำพิเศษเพื่อไม่ให้เป็นภาระมากเกินไป คงจำเป็นต้องมีแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำและกลไกการลด/ชดเชยความเสี่ยงเครดิตของผู้ประกอบการร่วมด้วย เช่น กลไก บสย. การปรับปรุงมาตรการซอฟท์โลน ของ ธปท. หรือการสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เป็นต้น
ทั้งนี้ บทสรุปของเงื่อนไขต่างๆ ข้างต้น จะเป็นตัวกำหนดการตอบสนองของผู้ประกอบการว่าจะเลือกเข้ามาตรการ Asset Warehousing เพื่อคงโอกาสในการทำธุรกิจโรงแรมของตนหรือไม่ โดยเปรียบเทียบกับไพ่อื่นๆ ที่มีอยู่ในมือปัจจุบัน ซึ่งเชื่อว่าปัจจุบัน ภาครัฐและสถาบันการเงินอยู่ระหว่างการหาข้อสรุปของรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มาตรการมีประสิทธิผลสูงสุด