บิ๊กคอร์ปรุก“เทคคอมพานี” ปตท.เร่งลงทุน 6 ธุรกิจใหม่
ปตท.วางเป้าหมายขยายพอร์ตการลงทุนรับ New Energy แตะสัดส่วน 20-23% ภายในปี 2573 มุ่ง 6 ธุรกิจใหม่รับเทรนด์โลก ดันใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อน
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จัดสัมมนา “ส่องหุ้นไทย...ฝ่าวิกฤติโควิดระลอกใหม่” วานนี้ (25 ก.พ.) โดยมีผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมแสดงความเห็นถึงทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ “ล้วงลึกหุ้นมหาชน…ก้าวสู่ Tech Company ธุรกิจแห่งโลกอนาคต” ว่า เทรนด์ของโลกในปัจจุบันหลายบริษัททั่วโลกกำลังปรับตัวและนำเรื่องของ Tech เข้ามาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ
โดย ปตท.มองว่าเทรนด์ของพลังงานในอนาคตจะมุ่งไป 2 เรื่อง คือ GO GREEN และ GO ELECTRIC ซึ่งในช่วงของการเปลี่ยนผ่านพลังงานดังกล่าว ก็เชื่อว่า ก๊าซธรรมชาติ จะยังเป็นพลังงานที่สำคัญ และกลุ่ม ปตท.จะรุกเข้าสู่ Gas Value Chain โดยจะเห็นว่า ปตท.สผ.จะเริ่มปรับพอร์ตการลงทุนโฟกัสเข้าไปในแหล่งก๊าซมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ปตท.จะได้กำหนดกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้แนวคิด PTT by PTT หรือ Powering Thailand’s Transformation หรือ PTT ที่มุ่งหวังทำให้กลุ่ม ปตท.เป็นองค์กรด้านพลังงานของประเทศไทย ที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ทุกภาคส่วน ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พัฒนาสังคม และคุณภาพชีวิตของคนไทย
นอกจากนี้ ปตท.จะต่อยอดการเติบโตจากธุรกิจหลัก เร่งพัฒนาและขยายธุรกิจใหม่ เข้าสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูงตามทิศทางโลกใน 6 ด้าน ได้แก่ 1. New Energy 2. Life Science 3. Mobility & Lifestyle 4.High Value Business 5. Logistics & Infrastructure 6.AI & Robotics Digitalization
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ปตท.ได้จับมือพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อมุ่งเข้าสู่ธุรกิจจพลังงานแห่งอนาคต เช่น การพัฒนา EV Changer Platform และ EV Station การจัดตั้งบริษัท SWAP & GO เพื่อลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่สำหรับยายนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเริ่มเข้ามาทำตลาดในเดือน มี.ค.นี้ รวมถึงการเปิดบริษัทเพื่อทำธุรกิจให้บริการซื้อ-ขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียนอย่างครบวงจร ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มตัวกลางให้กับผู้ประกอบการไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมาเทรดกันได้
รวมทั้งล่าสุดเริ่มมียอดขายเข้ามาแล้ว เช่น โรงงานจอห์นสันในประเทศไทย และการเข้าไปลงทุนในบริษัท GRP ซื้อเป็นบริษัทลูกของ GPSC เพื่อเสริมศักยภาพขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น โซลาร์เซลล์ และลม ในต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ เพื่อเกาะกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น ความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตยารักษามะเร็งแห่งแรกของประเทศไทย ตามแผนเริ่มก่อสร้างปี 2565 ,การจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเชีย) เพื่อลงทุนธุรกิจ Life Science ซึ่งในระยะต่อไปนี้ ก็อาจจะเห็นการปิดดีลควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) ออกมา และร่วมกับกรมการแพทย์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์วัสดุปิดแผลชนิดไบโอเซลลูโลสคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล ซึ่งจะเริ่มจำหน่ายในประเทศไทยเร็วนี้ๆ
รวมถึง ปตท.ยังได้เข้าไปลงทุนเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ผ่านการลงทุนกองทุน (Venture Capital : VC) ใน 7 กองทุน ในต่างประเทศ และลงทุนตรงใน 3 บริษัท เช่น Drone & Robotic เป็นต้น
นายอรรถพล กล่าวว่า ในปีนี้ ปตท.ตั้งเป้าหมายจะผลักดัน AI Driven Organization ซึ่งจะเป็นการนำ Tech เข้ามาใช้ในทุกภาคส่วน ทั้งการทำธุรกิจและกระบวนการทำงาน โดยจะจัดให้แต่ละหน่วยงานมีการประกวดผลงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการวัดผลความสำคัญในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กรก และเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับพนักงานได้ทดลองทำเรื่องใหม่ๆ รองรับปรากฎการณ์ใหม่ๆทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการพอร์ตฟอลิโอของ ปตท.แม้ว่าปัจจุบัน จะออกแบบได้ดีพอสมควรเห็นได้จากในปี 2563 ธุรกิจพลังงานหลายใหญ่ของโลก มีผลการดำเนินงานติดลบ และ ปตท.ยังสามารถประคองผลงานให้เป็นบวกได้ แต่ในอนาคตจะต้องปรับพอร์ตให้มั่นคงมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2573 จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของพอร์ต New Energy เป็น 20-23% ซึ่งจะเข้ามาส่วนเสริมรายได้ให้กับพอร์ตของ ปตท.ในอนาคต
“เรายังเป็น Core Energy แต่จากนี้ถึง 2030 พอร์ตเรา 20-23% จะเป็น New Energy & New Frontier ตามกระแสโลก”
ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจของ ปตท.และบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2568) และใช้วงเงินรวม 103,267 ล้านบาท (ไม่รวมโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการลงทุนหรือแสวงหาโอกาสในการลงทุน) และจัดเตรียมงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้า จำนวน 332,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง สร้างความเข้มแข็งและความสามารถในการแข่งขันพัฒนาเศรษฐกิจไทย