เปิดวิสัยทัศน์...ผยง ศรีวณิช ปธ.สมาคมธนาคารไทย กับมุมมอง..วิกฤติการเงินโลก
พระสยาม MAGAZINE เปิดสัมภาษณ์ พร้อมเปิดวิสัยทัศน์ ‘ผยง ศรีวณิช’ ปธ.สมาคมธนาคารไทย
"วิกฤตการเงินโลก" ความท้าทายที่ต้องก้าวข้ามไปให้
เปิดบทสัมภาษณ์ 'ผยง ศรีวณิช' กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เข้ารับตำแหน่งประธานสมาคม ธนาคารไทยคนที่ 24 ผ่านพระสยาม MAGAZINE ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยและทั่วโลกเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด 19 การเปลี่ยนแปลงนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ในการวางยุทธศาสตร์ที่จะเป็นอนาคตของธุรกิจธนาคารหลังจากนี้
7 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปธนาคารไทย
การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกทำให้ภูมิทัศน์ของภาคธนาคารเปลี่ยนไปตลอดกาล สมาคมธนาคารไทยมีทิศทางการบริหารภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 7 ข้อ ที่มุ่งเน้นทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและการยกระดับศักยภาพบุคลากร เพื่อรองรับบริบทโลกใหม่
"สมาคมธนาคารไทยยังคงดำเนินการตาม 7 แผนยุทธศาสตร์ แต่เราอยู่ระหว่างการทบทวนแผน 5 ปีอีกครั้ง เพื่อให้สอดรับกับสภาวการณ์และความท้าทายในปัจจุบันที่มีประเด็นใหม่ ๆ เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลการเงินจากสถาบันการเงินต่าง ๆ (Cybersecurity Open Banking) แนวทางการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน สกุลเงินดิจิทัล การยืนยันตัวตนดิจิทัล และเตรียมความพร้อมแรงงานในโลกอนาคต โดยคาดว่าจะเร่งดำเนินการให้เสร็จภายใน 3 - 4 เดือนข้างหน้า เพื่อให้มีความชัดเจนและสามารถร่วมมือกันพัฒนาและมีการดำเนินการได้อย่างเป็น รูปธรรม" คุณผยงกล่าว
ภารกิจเร่งด่วนแก้วิกฤตโควิด 19
การเข้ารับตำแหน่งในสถานการณ์เช่นนี้ ภารกิจสำคัญเร่งด่วน คือ การช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจและลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งภาคธนาคารพาณิชย์ตระหนักถึงความเดือดร้อนของลูกค้าทุกกลุ่ม จึงได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 อย่างเร่งด่วน และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
"หลังจากการออกมาตรการช่วยเหลือเป็นการทั่วไปในระยะแรก ภาคธนาคารและ ธปท. ได้ประเมินสถานการณ์ลูกหนี้อย่างใกล้ชิด พบว่า สถานการณ์โควิด 19 มีความไม่แน่นอนสูง มาตรการที่มีอยู่จึงอาจช่วยเหลือได้ไม่ตรงจุด จึงได้มุ่งเน้นการออกมาตรการช่วยเหลือเชิงรุก เป็นมาตรการเฉพาะกลุ่มและเหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละราย เพื่อลดภาระการผ่อนชำระและช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีศักยภาพ ก่อนจะขยายไปยังกลุ่มอื่น ๆ ความช่วยเหลือที่ภาคธนาคารพาณิชย์ให้ มีทั้งขยายเวลาชำระหนี้ ลดค่างวด รวมทั้งให้สินเชื่อใหม่เพื่อให้ภาคธุรกิจไทยเดินต่อไปได้"
มุ่งผลักดันธนาคารเพื่อความยั่งยืน
สำหรับคุณผยงแล้ว ธนาคารนอกจากจะเป็นผู้ให้บริการทางการเงินแล้ว ยังเป็นเสมือน ตัวกลางเชื่อมโยงและจัดสรรทรัพยากรเงินทุนในมิติต่าง ๆ การมีผลิตภัณฑ์และการให้บริการที่มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้ เพื่อให้ทรัพยากรถูกจัดสรรไปใช้และสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กรอบแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถทำให้ลูกค้า ชุมชน สังคม และระบบเศรษฐกิจแข็งแรงอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของสมาคมธนาคารไทยได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จ ความร่วมมือ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของอุตสาหกรรมธนาคารไทยได้เป็นอย่างดี
"ภาคธนาคารยังต้องปรับตัวอยู่เสมอ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในภาคการเงินมี mega trend ที่ชัดเจนที่สุดและเร่งขึ้นอย่างมากจากวิกฤตโควิด 19 คือ digital disruption ซึ่งจะนำไปสู่ digital economy ในทุกมิติ ดังจะเห็นได้จากในปี 2563 ที่แม้เศรษฐกิจไทยจะหดตัวราว 6.5% แต่สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยคาดว่า ตัวเลขการใช้จ่าย e-commerce ของผู้บริโภคจะเติบโตมากถึง 35% จากปีก่อนหน้า หรือมีมูลค่าสูงถึง 2.2 แสนล้านบาท
"ปัจจุบัน คนไทยกว่า 40 ล้านคนและร้านค้าอีกหลายแสนร้านค้าเข้ามาอยู่ใน ecosystem ของแอปพลิเคชัน 'เป๋าตัง' ภายในระยะเวลาอันสั้น เพื่อใช้ประโยชน์จากมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความพร้อ ด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะรายย่อยที่พร้อมปรับตัว และในปี 2564 จะมีการต่อยอดใช้ประโยชน์จากช่องทางดิจิทัลของไทยเพิ่มมากขึ้น" คุณผยงกล่าว
การปรับตัวของภาคสถาบันการเงิน
การเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ยิ่งทำให้ธุรกิจธนาคารต้องเร่งปรับโครงสร้างและรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์ และบริการที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น พร้อมทั้งต้องตระหนักถึงการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เช่น ให้บริการที่ผสมผสานกันระหว่างไปสาขาธนาคารและบริการแบบดิจิทัล รวมทั้งการปรับทักษะพนักงานทั้ง reskill และ upskill ได้อย่างเหมาะสม
"ความท้าทายของอุตสาหกรรมธนาคารอยู่ที่การสร้างรายได้ใหม่ ๆ จาก digital ecosystem เพื่อทดแทนรายได้จากธุรกิจดั้งเดิมของธนาคาร นอกจากนี้ ธนาคารยังต้องพร้อมสำหรับการแข่งขันจากผู้เล่นใหม่ ๆ ซึ่งอาจจะเป็นธนาคารที่ให้บริการออนไลน์เท่านั้น ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าธนาคารแบบเดิม หรือจากผู้เล่นที่เป็นเจ้าของ ecosystem เช่น แพลตฟอร์ม e-commerce แพลตฟอร์มดิลิเวอรี โดยใน งานวิจัยของ Morgan Stanley Research ในปี 2563 ที่สำรวจธนาคารในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทย พบว่าธนาคารดั้งเดิมมองว่าผู้เล่นที่เป็นเจ้าของ ecosystem หรือ super app[1] เป็นคู่แข่งที่น่าจะมีความได้เปรียบมากที่สุดในด้านการเติบโตในช่วง 5 ปีข้างหน้า
"อีกทั้งผู้ใช้บริการทางการเงินในโลกยุคดิจิทัลจะได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้ให้บริการต่างเร่งนำ data analytics, AI, Cloud, open API[2] และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยพัฒนาบริการให้ตรงกับความต้องการของแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น ในลักษณะ anywhere, anytime อย่างไรก็ตาม ก็มีความเสี่ยงจากภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการจำเป็นต้องช่วยกันป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้"
นอกจากนี้ คุณผยงยังได้กล่าวด้วยว่า "หากถอยออกจากภาคการเงินมามองดูระบบเศรษฐกิจ จะเห็นว่าเราอยู่ท่ามกลาง mega trend ระดับโลก บริบทใหม่ในยุค new normal หลังโควิด 19 อย่างกระแส de-globalization หรือการที่โลกแบ่งเป็นขั้ว แทนที่จะเป็นการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกระจายไปทั่วเหมือนก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องจับตามอง เนื่องจากแต่ละขั้วต้องการพึ่งพา ตนเองให้ได้มากขึ้น เราจึงได้ยินว่าบางประเทศต้องการให้ supply chain กลับมาอยู่ใกล้บ้าน ขณะที่บางประเทศต้องการลดการพึ่งพาสินค้าเทคโนโลยีจากนอกขั้วของตน การเกิด supply chain disruption นี้ จะส่งผลให้ภาคการผลิตต้องหยุดชะงักไปทั่วโลก เทรนด์นี้จึงอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการหวนกลับมาที่เศรษฐกิจภูมิภาคหรือท้องถิ่น (regionalization or localization) ที่จะมีบทบาทมากขึ้นกว่าเดิม และมีนัยต่อการกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ"
อีกเทรนด์หนึ่งที่จะมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจและแนวทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คือ การให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (environment, social and governance: ESG) รวมถึงนำไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความต้องการให้เป็น green recovery เพื่อจะช่วยลดปัญหาความยากจน พัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต ทำให้ชุมชน สังคม มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ยึดหลัก "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"
เมื่อพูดถึงการทำงานที่คุณผยงสวมทั้งหมวกของนายธนาคารและประธานสมาคมธนาคารไทย ทำให้ต้องมีหลักในการทำงาน เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงได้ตามเป้าหมาย คุณผยงยกให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นต้นแบบ ด้านการทำงาน พระองค์ทรงงานหนักและทรงงานเพื่อส่วนรวมมาโดยตลอด หลักการทรงงานตามแนวพระราชดำริ "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ที่ยึดหลักผลประโยชน์ของปวงชน และการพัฒนาคน เป็นสิ่งที่ประธานสมาคมธนาคารไทยยึดเป็นแนวทางการทำงาน
"ก่อนจะทำอะไร ต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และระหว่างดำเนินการจะต้องทำให้ผู้ที่เราจะไปทำงานกับเขาหรือทำงานให้เขานั้น 'เข้าใจ' เราด้วย เพราะถ้าเราเข้าใจฝ่ายเดียว จะไม่เกิดประโยชน์ตามที่หวังไว้ 'เข้าถึง' ก็เช่นกัน เมื่อรู้ปัญหาแล้ว เข้าใจแล้ว จะต้องทำอย่างไรให้เขาอยากเข้าถึงเราด้วย แนวพระราชดำริดังกล่าวเป็นกระบวนการทำงานแบบบูรณาการในการสร้างสรรค์นวัตกรรมจากความเข้าใจ ศึกษาผู้คนด้วยการสังเกต การพัฒนาด้วยความรู้และภูมิปัญญาที่ไม่จำกัด อยู่แค่มิติใดมิติหนึ่ง ตลอดจนทดลองและปรับปรุงจนได้ผลลัพธ์และประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหา นับเป็นบทเรียนที่ดีที่สุดที่ผมนำมาใช้ในการทำงาน" คุณผยงกล่าวถึงการน้อมนำแนวพระราชดำริ ซึ่งยึดเป็นหลักการทำงานตลอดมา
นอกจากนี้ คุณผยงยังมี "คุณพ่อ" เป็นต้นแบบในการทำงาน "คุณพ่อของผมเป็นคนที่ทำงานหนัก สร้างตัวเองขึ้นมา มีความพอเพียง ใฝ่หาความรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ คิดถึงส่วนรวม ตอบแทนสังคม และคุณของแผ่นดินอยู่ตลอดเวลา ทำให้ลูก ๆ รวมถึงตัวผมได้ซึมซับกรอบความคิดและการปฏิบัติของท่านมาตลอดกว่า 40 ปี"
มองไปข้างหน้า และทำวันนี้ให้ดีที่สุด
หลักปรัชญาในการทำงานของคุณผยง คือ "มองไปข้างหน้า และทำวันนี้ให้ดีที่สุด" เพราะวันนี้ ทุกอย่างรอบตัวล้วนเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ธุรกิจ กฎกติกาต่าง ๆ พฤติกรรมของลูกค้าและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งความคาดหวังของสังคม เราจึงต้องมองไปข้างหน้าให้ไกลว่าอาจจะเกิดอะไรขึ้น และทำสิ่งที่สามารถทำได้ในวันนี้ให้ดีที่สุด
"ในยุคโควิด 19 การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จะยิ่งเกิดขึ้นเร็ว การทำธุรกิจแบบเดิม ด้วย ความเร็วเท่าเดิม ไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่แข่งขันกันด้วยเทคโนโลยีและความคาดหวังของลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้นได้ สิ่งสำคัญคือ ต้องมองไปข้างหน้า ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา และเตรียมพร้อมในวันนี้ให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ต้องเชื่อมั่นว่าจะสามารถก้าวผ่านไปได้ หรือถ้าบาดเจ็บก็ยังเยียวยาได้" ประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าวทิ้งท้าย