เอ็มบีเคผนึกพันธมิตรปั้น‘เจแปนทาวน์'ใจกลางกรุง

เอ็มบีเคผนึกพันธมิตรปั้น‘เจแปนทาวน์'ใจกลางกรุง

แผนปรับปรุง"เอ็มบีเค เซ็นเตอร์"มูลค่าหลายพันล้านคาดเสร็จสิ้นราวไตรมาสสุดท้ายปี 2564 พร้อมอวดโฉมใหม่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเดินทางกลับมาเยือนประเทศไทยปี 2565 ที่จะตื่นตาตื่นใจไปทุกย่างก้าวบนพื้นที่ 84,000 ตร.ม.สมศักดิ์ศรีแลนด์มาร์กใจกลางกรุง

เราจะทำพื้นที่ เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ให้แต่ละจุดเป็นที่ที่ทุกคนต้องมา! แบบตื่นตาตื่นใจทุกย่างก้าวใน 84,000 ตารางเมตร มีความหมาย ทุกคนมาแล้ว เจาะจงมาใช้เงิน”

สมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) บอกถึงเป้าหมายใหญ่ของการยกเครื่องศูนย์การค้า เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ที่ปักหมุดให้บริการจาก รุ่นสู่รุ่น” นานกว่า 3 ทศวรรษ หรือรู้จักกันดีแต่เดิมในนาม มาบุญครอง! ซึ่งในแต่ละทริปของนักท่องเที่ยวมาเยือนกรุงเทพฯ ต้องขอมาใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งวัน

นั่นคือภารกิจและความท้าทายในช่วงสุดท้ายของชีวิตการทำงาน! ของสมพล ที่เกษียณอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีสัญญาใจกันไปอีก 2 ปี (2564-2565) ก่อนอำลาหมวกผู้บริหารอย่างเป็นทางการ 

งานนี้ทุ่มสุดตัว! เพื่อส่งไม้ต่อ และเดินออกไปอย่างมีความสุข  ต้องทำให้เกิดความสำเร็จและรุ่งเรืองในปี 2565

ตามไทม์ไลน์แผนการปรับปรุง เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ มูลค่าหลายพันล้านน่าจะจบไตรมาสสุดท้ายปี 2564 รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเดินทางกลับมาเยือนประเทศไทยปี 2565

อาจนับเป็นข้อดีอย่างเดียวของวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้ไอเดียเขย่าพื้นที่ปรับผังร้านค้าใหม่! ถูกนำมาใช้อย่างถูกจังหวะ ทั้งตอบรับเมกะเทรนด์! ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และรุนแรง โดยเฉพาะโควิดเอฟเฟกต์ ก่อให้เกิดความต้องการใหม่ๆ รูปแบบการใช้ชีวิต การดำเนินงาน การอยู่ร่วมกันในสังคม โมเดลธุรกิจต่างๆ เปลี่ยนไป  

เมื่อโควิดหยุดทุกอย่าง เราคงรอให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาไม่ไหว ต้องมาเริ่มต้นใหม่กับคนไทย ซึ่งเป็นแนวคิดที่เคยอยู่ในใจมาระยะหนึ่งแล้ว จึงเป็นห้วงเวลาสำคัญในการปรับตัวครั้งใหญ่รอบ 36 ปีที่เรายังไม่เคยจัดโซนนิ่งอย่างจริงจัง และขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ  เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ”

แผนพลิกโฉมเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ประจวบเหมาะกับห้วงเวลาที่แม่เหล็กอย่าง ห้างสรรพสินค้าโตคิว” พันธมิตรทางธุรกิจที่ร่วมกันส่งมอบความสุขและประสบการณ์ชอปปิงสไตล์ญี่ปุ่นให้คนไทยควบคู่กันมายาวนานตลอด 35 ปี ตัดสินใจอำลาตลาดเมืองไทยอย่างถาวร ส่งคืนพื้นที่ 4 ชั้นขนาด 12,000 ตารางเมตร ซึ่งได้ปิดให้บริการเมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยแม่เหล็กใหม่! พร้อมจะเปิดให้บริการได้ราวไตรมาส 3 ของปีนี้

โดยมีพันธมิตรหลักร้านค้าปลีกสัญชาติญี่ปุ่น ดองกิ” หรือ  “DON DON DONKI” พื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร เป็นแฟลกชิฟสโตร์ใหญ่สุดในเมืองไทย ให้บริการ 24 ชั่วโมง พร้อมอีกหลายพันธมิตรทางธุรกิจรายใหญ่ที่เตรียมเปิดตัวความร่วมมือในเดือน มี.ค.นี้ หนึ่งในนี้ คือ กลุ่มสหพัฒน์ นำทีมโดยเรือธง ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล  โอ.ซี.ซี. และ ร้านซูรูฮะ ที่จะมาปั้นโมเดลธุรกิจใหม่เป็นแห่งแรก!

 "ความร่วมมือระหว่างเอ็มบีเค และแม่เหล็กใหม่ทั้งดองกิ และ สหพัฒน์ เปิดตัวแล้วเปรี้ยงอลังการ! แน่นอน อย่าง ไอ.ซี.ซี. คิดมาใหม่เอี่ยมอ่อง สำหรับพื้นที่แฟชั่นในชั้น 1 ดึงบริษัทในเครือทั้งหมดมาลงเป็นแม่เหล็กใหม่ให้เอ็มบีเคแข็งแรงในคอนเซปต์เจแปนทาวน์! ใจกลางกรุงเทพฯ ส่วนชั่้น 3 กำลังดูเทรนด์จะเป็นอีกหนึ่งบิ๊กเซอร์ไพรส์" 

เอ็มบีเค เซ็นเตอร์  ทยอยปรับพื้นที่บางส่วนภายในศูนย์ จัดวางผังร้านค้าใหม่ (Store Layout) เพิ่มเติมร้านค้าและบริการใหม่ ทั้งกลุ่มร้านอาหารสำหรับครอบครัวและพบปะสังสรรค์ ร้านจำหน่ายสินค้ากีฬาจากแบรนด์ดังทั่วโลก ร้านเพื่อสุขภาพและความงาม ร้านเครื่องประดับเพชรทอง รองรับกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ ทั้งวัยทำงาน นักเรียน นักศึกษา และ กลุ่มครอบครัว อาทิ ร้านป้อน บ้านคุณแม่ ทิม ฮอร์ตันส์ ชินคันเซ็น ซูชิ  นอกจากนี้ มีร้านอาหารที่เปิดให้บริการตั้งแต่เช้าจนถึงตี 1 และร้านที่มีอยู่เดิมได้มีการย้ายพื้นที่เพื่อขยายร้านและพัฒนาร้านรูปแบบใหม่ เช่น ฮองมิน เอสแอนด์พี

ทั้งนี้ บางโซนทยอยเปิดให้บริการแล้ว ได้แก่ เลิร์นนิ่งฮับ อาณาจักรแห่งการเรียนรู้ใจกลางเมืองรวม 24 สถาบัน (ชั้น 4-5-6) เช่น OnDemand, DA’VANCE ByA’Ping, Positive Learning, EP Focus, The BTS, Sup’K, Excellent Education Center Monkey Monkey Academic training Center และ Math Logik ส่วนสถาบันอื่นๆ ที่อยู่ชั้น 4 และ 6 นั้น จะเริ่มเปิดเดือนมี.ค. และ เม.ย. ตามลำดับ

เรานิยามสินค้าและบริการต่างๆ ในรูปแบบ ศูนย์ เช่น ศูนย์กล้อง ศูนย์โทรศัพท์ เรียกว่า รวมอัลบั้มไว้ที่เอ็มบีเค ส่วนสินค้าที่ระลึก หรือสินค้าสำหรับชาวต่างชาติตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาของเขา เราก็นำพื้นที่มาพัฒนาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งได้ความร่วมมือจากคู่ค้าที่พร้อมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับเอ็มบีเคโฉมใหม่" 

สมพล กล่าวต่อว่า อีกโอกาสใหม่ที่สำคัญ คือ ตลาดกลางคืน! ที่มีลูกค้าเป็นกลุ่มคนทำงาน...ตั้งแต่รอบหัวค่ำ สำหรับคนทำงานปกติมองหาแหล่งแฮงเอาต์ช่วงค่ำ กลุ่มคนทำงานเลิกค่ำ ดึก หรือเที่ยงคืน เลิกงานแล้วต้องการซื้ออาหาร ช่วง 01.00-02.00 น. รวมทั้ง 03.00/04.00/05.00 น. ซึ่งเวลานี้กำลังศึกษาตลาดเชิงลึกคาดว่าไตรมาส 3 น่าจะมีรูปธรรม

ธุรกิจอาหารจะเป็นแม่เหล็กใหญ่ของศูนย์การค้าและเรือธงของเอ็มบีเคในการดึงดูดลูกค้า  ที่วางแนวทางให้ชั้น 1-2 เป็นศูนย์รวมอาหารเช้า กลางวัน เย็น ค่ำ “4 มื้อ” ตั้งแต่ฝั่งพญาไทไปจนถึงโรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส เรียกได้ว่าเป็นแหล่งแฮงเอาต์สำหรับคนทำงานเลยทีเดียว 

 ในห้วงวิกฤติโควิดที่ส่งผลกระทบต่อเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ อย่างรุนแรง จากปริมาณนักท่องเที่ยวที่วูบหายจากตลาด!  ซึ่งปริมาณลูกค้าหมุนเวียนก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดเฉลี่ยอยู่ที่ 80,000-100,000 แสนคนต่อวัน เป็นสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 60-70% การระบาดของโควิดรอบแรกมีลูกค้าใช้บริการเฉลี่ยเพียง 30,000-40,000 คนต่อวันเท่านั้นเกือบทั้งหมดเป็นชาวไทย ขณะที่การระบาดรอบสองลดเหลือ 28,000-30,000 คน แทบจะเริ่มต้นนับใหม่!

ปี 2564 นี้จากปัจจัยวัคซีนทำให้สถานการณ์น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังวางใจไม่ได้ คาดว่ากลางปี 2565 ต่างชาติกลับมาจะได้ลูกค้าหมุนเวียน 80,000 คน เราเตรียมการตลาดไว้รองรับทั้งการทำแอพพลิเคชั่นสำหรับชาวต่างชาติ”

เอ็มบีเค มีพื้นที่รวม 140,000 ตร.ม. เป็นพื้นที่ขาย 84,000 ตร.ม. มีร้านค้ากว่า 1,700 ร้านค้า โฉมใหม่นี้จะดึงดูดลูกค้าเข้าใช้บริการเพิ่มสูงถึง 120,000 คนต่อวันในอนาคตเมื่อเหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่สัดส่วนลูกค้าจะเปลี่ยนจากนักท่องเที่ยว 60% เหลือ 50% เท่ากันระหว่างลูกค้าชาวไทยและต่างชาติ พร้อมมุ่งสร้าง 

Brand perception ศูนย์การค้าของคนไทยที่มีร้านค้า สินค้าและบริการ อีเวนท์ หลากหลายครบครัน ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ไม่ใช่แค่ขายโทรศัพท์มือถือ! 

ดองกิ’ลุยเปิดครบ20สาขาใน5ปี

ณัฏฐวุฒิ ตั้งคารวคุณ ประธาน บริษัท ทีโอเอ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ปีนี้มีแผนขยายธุรกิจ “ดองกิ” เพิ่ม 2 แห่ง ได้แก่ ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์  และเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ รวมมีสาขาบริการ 4 แห่ง รองรับการขยายตัวของฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่สามารถเดินทางไปญี่ปุ่นได้ในช่วงเวลานี้ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19

่แผนระยะยาวของดองกิ มุ่งปักหมุดให้ได้ 20 สาขา ภายใน 5 ปีจากนี้ ส่วนมูลค่าการลงทุนขึ้นอยู่กับขนาดของสาขา หากเป็นสาขาขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนราว 150 ล้านบาท

ดองกิ เป็น “1ใน4” กลุ่มธุรกิจของทีโอเอ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง ร่วมกับ ธุรกิจสีอุตสาหกรรมและชิ้นส่วนรถยนต์ ธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ และธุรกิจเคมีภัณฑ์ โดยปี 2563 ที่ผ่านมามีสัดส่วนรายได้ 2% จาก 10,200 ล้านบาท โดยธุรกิจจำหน่ายรถยนต์มีรายได้สูงสุด 55%