ข่าวดี! 'ม.33 เรารักกัน' กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน กรุงไทยรับลงทะเบียนถึงโรงงาน
อัพเดทมาตรการ "ม.33 เรารักกัน" สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33 กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่ต้องกังวล กระทรวงแรงงานประสาน ประกันสังคมและธนาคารกรุงไทย ตั้งโต๊ะรับลงทะเบียนถึงโรงงาน หรือไปลงทะเบียนที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่
อัพเดทมาตรการ "ม.33 เรารักกัน" มาตรการที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตน มาตรา 33 ในระบบประกันสังคม ด้วยการจ่ายเงินเยียวยา 4,000 บาท ผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง เพื่อให้ช่วยเหลือในการดำรงชีพ หรือซื้อสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จากที่กลุ่มนี้เป็นหนึ่งในประชากรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
แต่ที่ผ่านมายังมีประเด็นที่น่าห่วงกังวลถึงบางกลุ่มที่ประสบปัญหาไม่มีสมาร์ทโฟน ซึ่งนอกจากไม่สามารถลงทะเบียน ม.33 เรารักกัน ได้แล้ว ยังไม่มีสมาร์ทโฟนสำหรับการใช้จ่ายซื้อสินค้าเมื่อได้รับสิทธิ ซึ่งจะต้องดำเนินการผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ล่าสุดมีข่าวดีสำหรับกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ลงทะเบียน 'ม.33เรารักกัน' รับเงิน 4,000 หมดเขต 7 มี.ค.นี้
- 'เราชนะ' ตรวจสอบได้สิทธิ์ แต่ 'ยืนยันตัวตน' ไม่สำเร็จ เปลี่ยนไปใช้บัตรประชาชนแทนได้!
- สรุป 5 ขั้นตอนลงทะเบียน 'ร้านค้าเราชนะ' ต้องทำอย่างไร? ประเภทไหนเข้าร่วมได้บ้าง?
สำหรับประเด็นนี้ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา "สุชาติ ชมกลิ่น" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากเข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาให้กับแรงงาน มาตรา 33 กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน ให้สามารถลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 4,000 บาทให้รวดเร็วที่สุดนั้น
กระทรวงแรงงาน ได้ประสานกับสำนังานประกันสังคมจังหวัด และธนาคารกรุงไทย ไปตั้งโต๊ะรับลงทะเบียนตามโรงงานต่างๆ เช่น จากการสอบถามข้อมูลฝ่ายบุคคลของบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP พบว่ามีพนังานที่ไม่มีสมาร์ทโฟนกว่า 1,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และอยู่ในกลุ่มเกษตรกร
นอกจากนี้สำหรับโรงงานที่มีกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟนไม่มากนั้น ให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวที่อยู่ในระบบประกันสังคมไปลงทะเบียนที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่นั้นๆ ได้
อย่างไรก็ตาม เงินเยียวยาที่ได้รับในแต่ละสัปดาห์นั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ให้หมดภายในสัปดาห์ที่ได้รับ เนื่องจากรัฐเปิดให้สามารถสะสมได้ และสามารถใช้สิทธิได้ถึงวันที่ 31 พ.ค.2564
ซึ่งการใช้สิทธิวงเงินในมาตรการ ม.33 เรารักกัน สามารถใช้ได้ 4 ประเภทร้านค้าหลักๆ ดังนี้
1.ร้านถุงเงินธงฟ้าประชารัฐ
2.ร้านค้าคนละครึ่ง
3.ร้านค้าเราชนะ
4.ขนส่งสาธารณะที่เข้าร่วมมาตรการ
โดยในเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ผู้ที่มีสิทธิในมาตรการนี้สามารถเข้าไปค้นหาร้านค้าหรือผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการได้ โดยสามารถเลือกได้ทั้งจากประเภทร้านค้า ไม่ว่าจะเป็นอาหารและเครื่องดื่ม ธงฟ้า กิจการ OTOP สินค้าทั่วไป โรงแรมที่พัก สุขภาพความงาม ขนสาธารณะ รับเหมา/งานช่าง/ทำความสะอาด และสุขภาพ/การแพทย์ นอกจากนี้ยังสามารถค้นหาตามจังหวัดจากแผนที่ที่ปรากฏได้เช่นกัน
อ้างอิง : สำนักงานประกันสังคม, กระทรวงแรงงาน