กพอ.ดันแผนลงทุน “5จี” นำร่องบ้านฉางเมืองต้นแบบ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งแรกของปี 2564 โดยได้มีการพิจารณาแผนการลงทุน 5จี ในอีอีซี เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของอีอีซี
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า กพอ.ได้พิจารณาแผนการลงทุนอุตสาหกรรม 5จี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนของภาคเอกชนซึ่งประเทศไทยได้ประโยชน์ในการเร่งรัดผลักดันโครงการ 5จี เร็วกว่าประเทศอื่นในอาเซียน
ทั้งนี้ กพอ.เห็นชอบการพัฒนา 5จี ในพื้นที่บ้านฉาง จ.ระยอง ที่มีแผนการพัฒนาให้เป็นสมาร์ทซิตี้ รวมทั้งกระจายไปยังพื้นที่อื่นที่จะมีการลงทุนต่อเนื่องจากเอกชนหลายประเทศ เช่น บริษัทหัวเหว่ย ของจีน
นอกจากนี้ปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ท่อ เสา สาย และสัญญาณ 5 จี ทั่วประเทศไทยที่จะมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท จะเกิดมูลค่าเพิ่มในธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องประมาณ 5 เท่าของมูลค่าที่มีการลงทุนหรือประมาณ 2 ล้านล้านบาท
รวมทั้ง สกพอ.ได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ 5จี เพิ่มเติม และสามารถมาใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมได้หากมีความจำเป็น ซึ่งในอนาคตประเทศไทยจะใช้ความพร้อมเรื่อง 5จี ขยายการบริการข้อมูลให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย
“5จี จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับการผลิต และธุรกิจในอีอีซี ซึ่งเมื่อมีการลงทุนในเรื่องนี้จะต้องผลักดันให้ภาคธุรกิจ โรงงานในอีอีซีประมาณ 1 หมื่นแห่ง รวมถึงสถานศึกษา โรงพยาบาลให้มาใช้ประโยชน์ ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ยังมีในเรื่องของภาคเกษตรอัจฉริยะ การพัฒนาหุ่นยนต์ การทำแอพพลิเคชั่น ที่จะเกิดเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ส่วนการเตรียมบุคลากรในปี 2564-2565 จะมีการผลิตบุคลากรเรื่องดิจิทัลจำนวน 62,890 คน”
สำหรับแผนพัฒนา 5จี ที่ผ่านมาความเห็นชอบได้กำหนดไว้ 4 แนวทาง คือ
1.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน : จากสัญญาณสู่ข้อมูลกลาง โดยมีการติดตั้งเสาสัญญาณเกิน 80% ของพื้นที่อีอีซี ซึ่งเอไอเอสติดตั้งแล้ว 100% ของพื้นที่ ส่วนทรูติดตั้งแล้ว 82% ของพื้นที่
สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านสัญญาณ (ท่อ-เสา-สาย-สัญญาณ) ติดตั้ง 50% ในเดือน ก.พ.2564 ซึ่งมีต้นทุนถูกที่สุด และสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ประสานการใช้ Smart Pole ร่วมกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ลงทุนเสาเพิ่มให้ทุกคนเช่าใช้ รวมทั้งจะมีค่าบริการถูกที่สุด ซึ่ง สดช.และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อตั้งราคาให้สะท้อนความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ
ส่วนโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลกลางจะครอบคลุมศูนย์ข้อมูล คลาวด์และข้อมูลกลาง โดย สดช.กำหนดให้ข้อมูลภาครัฐทุกหนวยงานรวมอยู่ในคลาวด์ของภาครัฐ (Government Cloud) ซึ่ง สกพอ.มีแผนที่จะสนับสนุนการตั้งดาต้าเซ็นเตอร์และคลาด์เอกชน ในขณะที่ สกพอ.และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ช่วยปรับกฎระเบียบให้สามารถตั้ง Common Data Lake ในอีอีซี
2.ด้านการใช้ประโยชน์ : ก้าวสู้ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเพิ่มผู้ใช้ 5G ในภาคการผลิต กำหรดเป้าหมายโรงงาน 10,000 แห่ง โรงแรม 300 แห่ง รวมถึงส่งเสริมการใช้ในหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล และส่งเสริมการใช้ในโครงบสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบิน ท่าเรือ รถไฟ เมือง ชุมชน
นอกจากนี้จะมีการนำ 5จี สร้างประโยชน์ให้ชุมชน โดยจะมีการนำร่องพื้นที่ บ้านฉาง จ.ระยอง พัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบชุมชนอนาคต รวมถึงในแผนพัฒนาเกษตรอีอีซีจะนำระบบเกษตรอัจฉริยะมาใช้ และจะมีการผลักดัน Digital Hospital Center ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา
รวมทั้งจะมีการสร้างธุรกิจใหม่จาก 5จี ซึ่งจะครอบคลุมการใช้ประโยชน์ 5จี สู่ Robotics and Automation การส่งเสริมการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านดิจิทัลและการใช้ข้อมูลสนับสนุนการลงทุน Data Center, Cloud, Common data lake และการส่งเสริมสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะการพัฒนาแอพพลิเคชัน เพื่อรองรับ Robotics and Automation และ Data and Digitization
3.การพัฒนาบุคลากร 3 ปี (2564-2566) รวม 115,282 คน แบ่งเป็นบุคลากรที่ผ่านการพัฒนาแล้ว 8,392 คน รวมถึงบุคลากรที่อยู่ในแผนการพัฒนาปี 2564-2565 จำนวน 62,890 คน ครอบคลุมบุคลากรด้าน Robotics and Automation และบุคลากรด้านดิจิทัล ซึ่งจะมีการส่งเสริมธุรกิจผลิตอุปกรณ์ เครื่องจักรและเครื่องมือ (หุ่นยนต์ ชิ้นส่วนและมอเตอร์) รวมถึงส่งเสริมแพลตฟอร์มการใช้ระบบอัตโนมัติ
รวมทั้งจะมีการประสานการจัดตั้งอย่างน้อย 44,000 คน แบ่งเป็นของ Huawai ปีละ 10,000 คน รวม 3 ปี 30,000 คน ส่วนของ VMware ปีละ 2,300 คน เศษ รวม 3 ปี 7,000 คน และการพัฒนาของ HP ปีละ 2,000 คนเศษ รวม 7,000 คน และจะมีการสนับสนุนให้ทุกบริษัทที่มาลงทุนด้านดิจิทัลร่วมลงทุนในการพัฒนาบุคลากร
4.การมีส่วนร่วมและการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนรับรู้และมีส่วนร่วมในการพัฒนาอีอีซี โดยจะมีการส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาที่ยั่งยืน และยกระดับการเรียนรู้นำไปสู่ DQ Citizenship การดำเนินการดังกล่าวจะใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งได้มีการดำเนินการจัดตั้งเรียบร้อยแล้ว