E-Waste ปัญหาใหญ่ยุคดิจิทัล
ปัญหา E-Waste มีแนวโน้มวิกฤติขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนต้องตระหนักในความรุนแรงของปัญหา และมีส่วนร่วมแก้ไขอย่างถูกวิธี
ปัญหาหนึ่งของยุคดิจิทัลที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ คือ การเพิ่มขึ้นของขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste ซึ่งเกิดจากซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
แต่ละปี ทั่วโลกมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกผลิตเพิ่มราว 50 ล้านตัน ในปี 2563 ประมาณการว่าอยู่ที่ 57 ล้านตัน ขณะที่ความสามารถของโลกในการกำจัดขยะเหล่านี้ ทำได้เพียงหนึ่งในห้าเท่านั้น
สาเหตุที่ปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมีอย่างน้อย 3 ประการ
ประการแรก ผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจเติบโต คนมีรายได้ดีขึ้น ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มรายได้ ชุมชนเมืองและรสนิยมแบบสังคมเมืองกระจายตัว จำนวนผู้บริโภคที่เข้าถึงสื่อโฆษณาของบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น
ประการที่สอง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ประเภทอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีมากขึ้น อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันเกือบทั้งหมดเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า นอกจากนี้ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและตลาดที่ขยายตัว ยังทำให้ราคาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ถูกลง ผู้บริโภคเข้าถึงง่ายขึ้น
ประการที่สาม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์สื่อสารกลายเป็นสิ่งจำเป็น ทุกคนต้องใช้ มีการออกรุ่นใหม่สม่ำเสมอ ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนเครื่องใหม่ถี่ขึ้น แม้แต่โทรทัศน์ที่เปลี่ยนจากโทรทัศน์ธรรมดากลายเป็น Smart TV ที่ต่ออินเตอร์เน็ตหรือทำอะไรได้มากกว่าโทรทัศน์แบบเดิมๆ ก็ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนโทรทัศน์กันมากขึ้น
ในส่วนของประเทศไทย มีขยะ E-Waste ราว 400,000 ตันต่อปี พบว่า 82% มาจากบ้านเรือนทั่วไป 14% มาจากสำนักงาน 3% มาจากโรงแรมและอพาร์ทเมนท์
โดยในแง่การนำไปกำจัด พบว่า 51.27% นำไปขาย 25.32% เก็บไว้ในบ้าน 15.6% ทิ้งปนขยะทั่วไป 7.84% ให้ผู้อื่น โดยประเทศไทย ถูกจัดเป็นประเทศอันดับ 2 ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผลิต E-Waste มากสุด เป็นรองเพียงอินโดนีเซียเท่านั้น
สถานการณ์ E-Waste ของไทยอยู่ในภาวะอันตรายและน่าเป็นห่วง เพราะมีเพียง 4% ของขยะ E-Waste ที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ขณะที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เหลือมากถึง 82.6% ไม่สามารถติดตามได้ว่า ไปอยู่ที่ไหน หรือได้รับการจัดการถูกต้องหรือไม่
ปัญหาสำคัญของ E-Waste หากกำจัดไม่ถูกวิธี คือ ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เนื่องจาก E-Waste ประกอบด้วยด้วยสารเคมีและโลหะหนักจำนวนมาก เช่น ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท สารหนู ซึ่งเสี่ยงรั่วไหลต่อสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างการจัดการซากขยะแบบไม่ถูกวิธี เช่น เผาสายไฟเพื่อเอาทองแดงไปขาย ซึ่งก่อให้เกิดไอระเหยและโลหะหนักที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง หรือการใช้กรดสกัดโลหะมีค่าจากแผงวงจร ซึ่งทำให้เกิดน้ำเสีย โดยหากบำบัดไม่ถูกวิธี นำไปทิ้งลงท่อหรือแหล่งน้ำสาธารณะ ทำให้เกิดการปนเปื้อนในธรรมชาติ กระทบระบบนิเวศ สุขภาพคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างผลกระทบของสารต่างๆ ต่อสุขภาพ เช่น ตะกั่ว ซึ่งพบมากในหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีฤทธิ์ทำลายระบบประสาท ต่อมไร้ท่อ ไต ระบบเลือด และส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก แคดเมียม ซึ่งพบมากในแผงวงจร ส่งผลต่อระบบหายใจ สะสมที่กระดูก ทำให้กระดูกผุ โลหิตจาง ส่งผลต่อการมีบุตรหรือพันธุกรรม ส่วนปรอท ซึ่งพบในหลอดฟลูออเรสเซนต์และจอ LCD สามารถสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน ทำลายอวัยวะต่างๆ และระบบประสาท หรือสารหนู ที่พบในแผงวงจรไฟฟ้าของโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ มีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทผิวหนังและระบบย่อยอาหาร
ทั้งนี้พบว่า แม้ที่ผ่านมา หลายหน่วยงานจะออกมาตั้งจุดรับทิ้ง E-Waste แต่พบว่ายังไม่ทั่วถึง ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก จนการทิ้ง E-Waste ไม่ได้รับความนิยม ก่อให้เกิดผลเสียอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่
ประการแรก ทิ้งไม่ถูกวิธี คือทิ้งกับขยะบ้านปกติ ไม่มีการคัดแยก จนขยะเหล่านั้นปล่อยสารพิษสู่สภาพแวดล้อม
ประการที่สอง ขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากถูกเก็บอยู่ในบ้านเรือนประชาชน จนมีการคาดการณ์ว่ากว่า 25% ของซาก E-Waste เหล่านี้หรือราว 100,000 ตันถูกเก็บอยู่ในบ้านเรือนประชาชน
เป็นที่น่าดีใจ ปัจจุบัน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) บริการ 'ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์' โดยบริการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้ว ส่งต่อให้หน่วยงานที่สามารถกำจัดอุปกรณ์ E-Waste อย่างถูกวิธีเช่น บริษัทค่ายมือถือที่เป็นพันธมิตร โดยประชาชนสามารถฝากกับบุรุษไปรษณีย์ได้เลย มีขั้นตอนการฝากง่ายๆ ดังนี้
1. นำ E-Waste 5 ประเภท ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต, สายชาร์จ, หูฟัง, พาวเวอร์แบงก์ และแบตเตอรี่มือถือ ใส่กล่อง และเขียนหน้ากล่องว่า “ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์”
2. ฝากทิ้ง กับบุรุษไปรษณีย์ ที่มาส่งจดหมาย หรือพัสดุ ที่บ้านได้เลย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
ทั้งนี้จากจำนวนบุรุษไปรษณีย์กว่า 20,000 คนที่ครอบคลุมทั่วประเทศ เชื่อว่าหากทุกฝ่ายช่วยกันประชาสัมพันธ์ถึงอันตรายของ E-Waste จากการกำจัดไม่ถูกวิธี พร้อมเผยแพร่ให้ประชาชนทราบว่าไปรษณีย์ไทยมีบริการดังกล่าว เชื่อว่าจะช่วยให้ประชาชนตื่นตัว และร่วมมือกับไปรษณีย์ไทยมากขึ้น ก่อผลดีต่อสิ่งแวดล้อมประเทศในระยะยาว หวังว่าจะมีองค์กรใหญ่ๆ ร่วมแก้ปัญหา E-Waste อย่างไปรษณีย์ไทยและพันธมิตรเยอะๆ
ปัญหา E-Waste มีแนวโน้มวิกฤติขึ้นเรื่อยๆ เราทุกคนต้องตระหนักในความรุนแรงของปัญหา และมีส่วนร่วมแก้ไขอย่างถูกวิธีครับ