รู้ทัน 'บ้านออมเงิน' ฉากหน้าออมกินดอก ที่แท้ก็ 'แชร์ลูกโซ่'

รู้ทัน 'บ้านออมเงิน' ฉากหน้าออมกินดอก ที่แท้ก็ 'แชร์ลูกโซ่'

เจาะ 6 วิธีจับสังเกต "บ้านออมเงิน" กับกลยุทธ์ "ออมกินดอก" แบบที่ไหนเข้าข่าย "แชร์ลูกโซ่" ที่กลายเป็นกลลวงยอดฮิต หลอกให้ "ออมเงิน" อ้างผลตอบแทนสูงลิบ

"บ้านออมเงิน" หรือ "ออมกินดอก" กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง หลังแชร์ "บ้านออมเงิน Milk Milk" หลอกลงทุนสูญเงินหมุนเวียนรวมไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท 

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่การออมกินดอก หลอกให้คนทุ่มเงินจำนวนมาไปออมได้สำเร็จตามคำเชิญชวน และลูกไม้ในการชวนออมเงินก็แทบไม่ได้ต่างไปจากวงออมกินดอกวงก่อนๆ ที่จบด้วยการถูกเชิดเงินหนี

แต่ทำไมกลุ่มคนเหล่านี้ถึงยังทำสำเร็จ และอะไรเป็นชนวนที่ทำให้หลายคนยอมเอาเงินจำนวนไม่น้อยไปวางไว้บนความเสี่ยงมหาศาลเหล่านี้?

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปดูโมเดลการชักชวนออมเงินดอกเบี้ยสูง ที่ทำให้หลายคนตกเป็นเหยื่อ รวมถึง 6 วิธีการจับสังเกตการชักชวนออมหรือลงทุน ที่มีโอกาสเป็น "แชร์ลูกโซ่" ที่มีโอกาสสูญเงินแบบไม่คาดคิด

บทความที่เกี่ยวข้อง:  'แชร์ลูกโซ่' 2020 เป็นอย่างไร? เปิด 6 จุด จับสังเกตก่อนตกเป็นเหยื่อ

   

  •  "ออมกินดอก" ผลตอบแทนสูง เป็นไปได้จริงไหม? 

คำบอกเล่าของผู้ลงทุน "บ้านออมเงิน Milk Milk" รายหนึ่ง เล่าว่า "เริ่มต้นลงทุนที่ 10,000 บาท ก็ได้กำไรมา 3,000 บาท และลงทุนต่อเรื่อยๆ ร่วม 2 เดือน ทั้งแบบ 7 วัน 15 วัน 1 เดือน ซึ่งได้กำไรมาโดยตลอด ทำให้ตัดสินใจเพิ่มยอดเงิน จนเมื่อวันที่ 21 ก.พ. ประกาศปิดบ้าน แล้วก็ไม่สามารถติดต่อเจ้าของบ้านได้อีก ทำให้สูญเงินไปประมาณ 200,000 บาท"

โมเดลของ "บ้านออมเงิน" หรือออมกินดอกทั้งหลาย คือการฝากเงินเฉยๆ แบบไม่มีความเสี่ยง แต่จะได้รับผลตอบแทนสูงมาก สม่ำเสมอ และได้เร็วตั้งแต่ครั้งแรกที่ลงทุน พูดง่ายๆ คือยิ่งออมมากยิ่งได้ดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนมาก เรียกได้ว่า เงินต่อเงิน แค่นั่งอยู่เฉยๆ มีรายได้ 

การชักจูงในลักษณะนี้ ทำให้มีคนหลงเชื่อเพื่อลองลงทุน เมื่อได้รับผลตอบแทนสมใจช่วงแรกๆ จนต้องบอกต่อ หรือเชิญชวนให้คนรอบตัวมาร่วมออมเงิน

เบื้องหลังของการให้ดอกเบี้ยสูงลิบในช่วงแรกคือ การนำเงินของสมาชิกใหม่มาเวียนเป็นผลตอบแทนให้สมาชิกเก่าตามที่กล่าวอ้างในช่วงแรก เพื่อสร้างความหน้าเชื่อถือจนสมาชิกนำเงินมาวางเยอะขึ้น

แต่เมื่อไม่สามารถหาสมาชิกใหม่มาลงทุนเพิ่มได้ ก็จะไม่มีเงินมาจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สัญญาไว้ ในที่สุดก็เริ่มเบี้ยวผลตอบแทน และปิดบ้านฯ ไป ส่วนเจ้าของบ้านถ้าไม่หนีหายเข้ากลีบเมฆ ก็จะมาในรูป ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ไม่ต่างอะไรกับ "แชร์ลูกโซ่" อย่างที่เคยมีมาแทบไม่ผิดเพี้ยน

บทความที่เกี่ยวข้อง: 

      

  •  6 ข้อ จับสังเกต "แชร์ลูกโซ่" 

"แชร์ลูกโซ่" ก็มักจะมีโมเดลที่คล้ายๆ กัน เสมอ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมลักษณะสำคัญของแชร์ลูกโซ่ จาก กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สคบ. และ กองปราบปราม ที่มักจะแฝงมาในคำเชิญชวนรูปแบบต่างๆ ที่ต้องหยุดคิด และพิจารณาก่อนตัดสินใจเอาเงินของเราไปอยู่ในจุดเสี่ยง และตกเป็นเหยื่อ ดังนี้

1. ผลตอบแทนสูงกว่าความเป็นจริง 

คำชักชวนหลากหลายรูปแบบ ที่มีใจความสำคัญสื่อถึงการสร้างผลตอบแทนที่ได้มาง่ายๆ ยิ่งลงทุนเยอะ ยิ่งมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง เป็นจุดสังเกตหลักที่ต้องเอะใจทันทีที่ได้รับคำเชิญชวนเหล่านี้ เพราะการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูงลิบในระยะเวลาสั้นๆ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก หรือเรียกว่าเป็นไปไม่ได้เลยก็คงไม่ผิด

สถิติผลตอบแทนจาก "การออม" และ "ลงทุน" ที่เป็นไปได้ (ปี 2020)

- ออมทรัพย์ปกติ 0.25% ต่อปี
- ฝากประจำ 1-2% ต่อปี
- กองทุนรวม 1-12% ต่อปี
- หุ้น ตลาดหุ้นไทยที่ซื้อแล้วถือลงทุนมาเป็นเวลา 10 ปี จะได้รับผลตอบแทนในช่วงตั้งแต่ -3.24% ถึง +18.63% ต่อปี

ดร.พีรพัฒน์ ฝอยทอง ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย/นักวางแผนการเงินส่วนบุคคล ได้อธิบายถึงการออมกินดอก ไว้ในเฟซบุ๊คส่วนตัว พร้อมบอกเหตุผลที่ฟันธงว่าการออมกินดอกตามภาพที่ปรากฏเป็นแชร์ลูกโซ่ เนื่องจากมีการอ้างว่าออม 300 บาท 4 วัน จะได้เงิน 400 บาท หมายความว่าได้ กำไร 100 บาท หรือคิดเป็น 33.33% ใน 4 วัน ฉะนั้นถ้าคิดเป็น 1 ปีก็กำไร 3,041.36% ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ในมิติของการลงทุน

  

 2. เชียร์ให้เงินเยอะ ไม่มีพูดถึงความเสี่ยง 

"การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน"

คำเตือนที่ต้องหยิบขึ้นมาเตือนตัวเองทุกครั้งเมื่อต้องลงทุนในบางสิ่งบางอย่างเสมอ เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าการ "ลงทุน" แล้วก็จะได้รับ  "ความเสี่ยง" ตามมา 

ความเสี่ยงในการลงทุนมีหลายระดับ ขึ้นอยู่กับลักษณะสินทรัพย์ที่ลงทุน ยิ่งความเสี่ยงมาก ยิ่งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนและขาดทุนสูง หรือที่เรียกว่า "High risk High Return" ก่อนการลงทุนจึงมีกฎหมายกำหนดให้ทำแบบประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นเพื่อให้รู้ว่า ทรัพย์สินที่เรากำลังจะลงทุนมีโอกาสขาดทุนอยู่เท่าไร ผู้ลงทุนรับความเสี่ยงได้หรือไม่ 

ฉะนั้น คำเชิญชวนลงทุน หรือทำธุรกิจใดๆ ที่จะนำมาซึ่งผลกำไรสูงๆ แบบไร้ความเสี่ยงหรือเสี่ยงต่ำแบบไม่สอดคล้องกับผลตอบแทน จึงเป็นจุดสังเกตสำคัญที่กำลังบ่งบอกว่า คุณกำลังต้องเผชิญกับความเสี่ยงมหาศาล ที่มีโอกาสสูญเงินทั้งหมดเข้าแล้ว

    

3. เน้นหาเครือข่าย และยิ่งชวนคนมาลงทุนได้ยิ่งได้เงินเยอะ 

อีกหนึ่งจุดสังเกต ซึ่งเป็นกลวิธีที่กลุ่มมิจฉาชีพนำมาใช้อยู่เสมอ คือการชักชวนให้หาคนมาร่วมลงทุนเยอะๆ โดยมีแรงจูงใจคือ ใครที่สามารถหาคนมาร่วมลงทุนได้ จะให้ผลตอบแทนเป็นเงิน

วิธีนี้อาจไม่ใช่เรื่องกระจายความรวย แต่เป็นเพิ่มสภาพคล่องให้ขบวนการ เพื่อนำเงินไปหมุนเวียนเป็นผลตอบแทนให้สมาชิกในช่วงแรกๆ ก่อนปิดโครงการ หรือหนีหายไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อเงินตึงมือ

ส่วนใหญ่กลโกงนี้มักจะแฝงมากับการ "ชักชวนทำธุรกิจ" ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งไม่ต่างจากแชร์ลูกโซ่สุดคลาสิกที่มีมาทุกยุคสมัย และก็ยังไม่มีท่าทีที่จะหมดไปในยุคนี้ เช่น ร่วมลงทุนทำผลิตภัณฑ์การันตีผลตอบแทน การสมัครเป็นสมาชิกเครือข่ายธุรกิจที่สามารถสร้าง Passive Income ได้แบบไม่ต้องลงมือทำอะไร แค่ใช้เงินร่วมลงทุน ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าการชวนทำธุรกิจจะเป็นแชร์ลูกโซ่ทั้งหมด เพราะมีธุรกิจที่เป็นธุรกิจจริงๆ แต่มีลักษณะเป็นเครือข่ายคล้ายกับแชร์ลูกโซ่ คือ ธุรกิจขายตรง ซึ่งธุรกิจประเภทนี้มักจะมีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง และสามารถตรวจสอบได้ผ่าน ข้อมูลรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจขายตรง ที่จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และได้วางหลักประกันตามกฎกระทรวง การวางหลักประกันการประกอบธุรกิจ ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2561

หรือ รายชื่อผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ที่จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และได้วางหลักประกันตามกฎกระทรวง การวางหลักประกันการประกอบธุรกิจ ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2561 

  

 4. หว่านล้อม กดดันให้รีบตัดสินใจ  

อีกหนึ่งเทคนิคทางจิตวิทยา ที่มักตามมากับผลตอบแทนสูงลิบ คือการพยายามหว่านล้อมให้รีบลงทุนเพื่อลดโอกาสในการไตร่ตรอง หรือตรวจสอบข้อมูล

เช่น เสนอว่าเป็นสิทธิพิเศษเฉพาะคุณเท่านั้น มีแค่วันนี้วันเดียว ถ้าปฏิเสธแล้วจะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้อีก ฯลฯ หากพบการเชิญชวนที่เร่งให้รีบตัดสินใจ ไม่เปิดโอกาสให้ตรวจสอบข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา สันนิษฐานไว้ก่อนว่าการลงทุนนี้อาจไม่โปร่งใส 

  

 5. อ้างว่ามีคนมีชื่อเสียงร่วมลงทุน 

ความน่าเชื่อถือของการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ หรือผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ที่มาร่วมลงทุน แต่ขึ้นอยู่กับรายละเอียดการลงทุน ว่าการลงทุนนั้นมีการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด ความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน และมีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนได้จริงตามที่มีการกล่าวอ้างไว้หรือไม่

ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน ดังนั้น การชูจุดเด่นของการลงทุนโดยอ้างว่ามีคนมีชื่อเสียงเป็นแม่ข่าย หรือมีคนดังร่วมลงทุนจึงสันนิษฐานได้ว่าการลงทุนนี้อาจไม่ชอบมาพากล 

  

 6. ตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีหน่วยงานรองรับ 

"การตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่กำกับดูแล" คือการตรวจสอบขั้นพื้นฐานที่ทำให้สามารถรู้ได้ว่า สิ่งที่กำลังจะลงทุนมีที่มาที่ไป เชื่อถือได้ ไม่ใช่มีเพียงการกล่าวอ้าง

โดยหากมีการแอบอ้างว่าเป็นธุรกิจขายตรง จะสามารถตรวจสอบธุรกิจขายตรงที่มีการขึ้นทะเบียนได้จาก ข้อมูลรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจขายตรง ที่จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และได้วางหลักประกันตามกฎกระทรวง การวางหลักประกันการประกอบธุรกิจ ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2561

หรือ รายชื่อผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ที่จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และได้วางหลักประกันตามกฎกระทรวง การวางหลักประกันการประกอบธุรกิจ ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2561 

นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการชักชวนให้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอเรนซี (cryptocurrency) สามารถค้นหารายชื่อผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตเพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์/สินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านช่องทาง SEC CHECK FIRST ได้ด้วยตนเอง 

แม้รูปแบบแชร์ลูกโซ่ทุกวันนี้ จะมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนๆ บ้าง แต่ยังคงมีเป้าหมายเดิมคือ "หลอกลวง" โดยอาศัย "ความโลภ" หรือ "ความไม่รู้" เป็นเครื่องมือ ดังนั้นจึงควรติดตามกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพให้รู้เท่าทันอยู่เสมอ ที่สำคัญคือก่อนลงทุน หรือใช้เงินเพื่อสร้างผลตอบแทนรูปแบบใดก็ตาม อย่าลืมไตร่ตรองอย่างรอบคอบ และพึงระลึกเสมอว่าไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ขนาดนั้น

หากพบข้อสงสัยหรือต้องการร้องเรียนเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ สามารถติดช่องทางต่างๆ ได้ ดังนี้

  • ติดต่อด้วยตนเองที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
  • ติดต่อผ่านสายด่วน 1202 หรือ 02-831-9888
  • ติดต่อผ่านเว็บไซต์ www.dsi.go.th หรือ opm.1111.go.th
  • ติดต่อผ่านเฟซบุ๊ก "กรมสอบสวนคดีพิเศษ"
  • ติดต่อผ่านตู้สีขาว "DSI"
  • ติดต่อผ่านศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาคทั่วประเทศ
  • ติดต่อผ่านแอปพลิเคชัน "DSI Map Extended"

อ้างอิง: คมชัดลึก ดร.พีรพัฒน์ ฝอยทอง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย