ธุรกิจ‘รับสร้างบ้าน’ส่งสัญญาณฟื้นตัว จี้รัฐหนุนมาตรการภาษีช่วยกระตุ้น
นายกฯ สมาคมรับสร้างบ้าน เผยธุรกิจเริ่มขยับรับสัญญาณบวก “วัคซีนโควิด-กระแสเงินออมเพิ่ม 10%” หนุนความเชื่อมั่นตลาดกลุ่ม 4-5 ล้าน เดินหน้าจัดงานรับสร้างบ้าน Focus 2021 หวังยอด 2 พันล้าน เล็งขอรัฐออกมาตรภาษีช่วยกระตุ้นอีกระลอก
นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจรับสร้างบ้านเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวหลังตลาดชะงักจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 สะท้อนจากตัวเลขการออมเงินเพิ่มขึ้นถึง 10% จากปกติอยู่ที่เฉลี่ย 2-3% ต่อปี ซึ่งหลังจากเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และสถานการณ์โควิดรอบ2 เริ่มคลี่คลาย เป็นโอกาสดีสำหรับธุรกิจรับสร้างบ้าน เพราะประชาชนเริ่มมีความเชื่อมั่นในสภาวะเศรษฐกิจ กล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยตามปกติ ประกอบกับมีเงินออมสำหรับสร้างบ้าน
โดยเฉพาะกลุ่มระดับกลางระดับราคาหลังละ 4-5 ล้านบาท มีดีมานด์ค่อนข้างมากเพราะ เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ มีเงินออมและมีความมั่นคงทางรายได้จึงไม่มีปัญหาในการขอสินเชื่อกับธนาคาร ต่างจากกลุ่มสร้างบ้าน 3 ล้านบาทลงไปที่มีดีมานด์แต่ติดปัญหาการขอสินเชื่อ ทำให้ภาพรวมในปีนี้ธุรกิจรับสร้างในระดับราคาหลังละ 4-5 ล้านบาท เติบโตกว่ากลุ่มอื่นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ในเชิงมูลค่า แต่ในเชิงปริมาณน้อยกว่าระดับราคา 3 ล้านบาท
จากความเชื่อมั่นและความต้องการที่กลับมาของลูกค้าที่ต้องการสร้างบ้าน ทำให้สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ตัดสินใจจัดงานประจำปี “รับสร้างบ้าน FOCUS 2021” โดยเพิ่มวันจัดงานจาก 4 วัน เป็น 5 วัน ระหว่างวันที่ 10-14 มี.ค. ที่อิมแพค เมืองทองธานี โดยหลังจากเปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนร่วมงานล่วงหน้าตั้งแต่เดือนม.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 3,000 คน มากกว่าปกติ 30%
“ตัวเลขการลงทะเบียนที่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงดีมานด์ที่กลับมา สมาคมฯ คาดว่างานปีนี้จะสร้างยอดขายกว่า 2,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากงานเดียวกันในปี 2562 โดยปีนี้มีบริษัทร่วมออกบูธกว่า 30 แห่ง แบบบ้านกว่า 1,000 แบบ ราคาหลากหลายตั้งแต่ 1-100 ล้านบาท พร้อมส่วนลดไม่ต่ำกว่า 10%”
สมาคมรับสร้างบ้าน ในฐานะที่เป็นสมาชิกสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้หารือถึงข้อสรุปมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และประชาชนที่ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง กับภาครัฐ ให้เข้ามาช่วยเกี่ยวกับมาตรการภาษี อาทิ มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนองเหลือรายการละ 0.01% กับกลุ่มราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ให้รวมถึงธุรกิจรับสร้างบ้านเข้าไปอยู่ในนิยามดังกล่าว จากเดิมครอบคลุมเฉพาะบ้านจัดสรรและบ้านมือสองเท่านั้น รวมถึงการได้รับสนับสนุนมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) จากธนาคารของรัฐ
ช่วงที่ผ่านมา สมาคมฯ พยายามนำเสนอข้อมูลภาพรวมของบ้านสร้างเอง ซึ่งแต่ละปีมีมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 50,000 ล้านบาท ขณะที่ต่างจังหวัดมีมูลค่าสูงถึง 150,000 ล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลออกมาตรการมาสนับสนุน เชื่อว่าจะเป็นอีกแรงกระตุ้นให้คนตัดสินใจสร้างบ้านเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมของธุรกิจรับสร้างบ้านปีนี้กลับมาโต 5% หรือคิดเป็นมูลค่า 12,000 ล้านบาท