BTS ยันไม่สามารถชดเชยรายได้สายสีน้ำเงิน
บีทีเอส ยืนยันไม่สามารถจ่ายชดเชยรายได้กรณีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงรัชโยธิน - ลาดพร้าว กระทบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ชี้ข้อเสนอลงทุนก่อสร้าง เพื่อประโยชน์ประชาชนเดินทาง ไม่ใช่โครงการหลักที่หวังรายได้ หาก รฟม. ยังยืนกรานต้องชดเชย อาจต้องยกเลิกโครงก
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ว่า ขณะนี้การก่อสร้างภาพรวมคืบหน้ากว่า 74% แบ่งเป็นงานโยธาคืบหน้าเกือบ 78% และงานระบบรถไฟฟ้าคืบหน้า 70% ซึ่งบีทีเอสยังมีเป้าหมายจะทยอยทดลองเปิดให้บริการภายในปีนี้
ส่วนความคืบหน้าของโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - รัชโยธิน ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการเจรจาร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในกรณีที่ รฟม.ต้องการให้บีทีเอสชดเชยผลกระทบต่อปริมาณผู้โดยสาร ชดเชยรายได้ หากสายสีเหลืองส่วนต่อขยายมีผลกระทบต่อปริมาณผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
“บีทีเอสยืนยันว่าไม่สามารถจ่ายชดเชยอะไรได้ เพราะเป็นการจ่ายชดเชยให้กับเอกชน และบีทีเอสเราเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ไม่ว่ากรณีอะไร ถ้าหากจะให้เราไปค้ำประกันอะไรเราก็คงทำให้ไม่ได้”
นายสุรพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า ข้อเสนอในการสร้างส่วนต่อขยายโครงการนี้ บีทีเอสเสนอในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง โดยมีเงื่อนไขระบุว่าจะต้องเจรจาโครงการส่วนต่อขยายให้ได้ข้อสรุปก่อนการเปิดให้บริการสายหลัก และขณะนี้ยังถือว่าพอมีเวลาเจรจา แต่หาก รฟม.ยืนยันที่จะให้บีทีเอสค้ำประกัน จ่ายชดเชยอะไร ก็คงไม่สามารถทำได้ ดังนั้นหากการเจรจาไม่แล้วเสร็จ และมีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองสายหลักก่อน ข้อเสนอนี้ก็คงต้องยกเลิกออกไป
“บีทีเอสเสนอสร้างส่วนต่อขยายให้ โดยที่เราจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ใช้งบประมาณกว่า 3 พันล้านบาท เพราะเล็งเห็นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ในการเดินทางเชื่อมต่อ โครงการนี้ก็ไม่ได้มีผลดีอะไรต่อบริษัท เราไม่ได้หวังรายได้เป็นหลัก แต่หวังว่าให้ประชาชนเดินทาง หลังจากนี้การตัดสินใจจะสร้างหรือไม่สร้าง เป็นส่วนของ รฟม.ต้องตัดสิน ว่าจะเห็นแก่ประโยชน์ประชาชนอย่างไร”
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยายช่วงรัชดา-ลาดพร้าว-รัชโยธิน มีระยะทาง 2.6 กิโลเมตร (กม.) โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เสนอลงทุนเพิ่ม ในวงเงิน 3,779 ล้านบาท
สำหรับแนวเส้นทางจะเริ่มจากสถานีลาดพร้าว ที่เชื่อมต่อสายสีน้ำเงินและสายสีเหลือง วิ่งมาตามแนวถนนรัชดาภิเษก ผ่านศาลอาญา ม.ราชภัฏจันทรเกษม เชื่อมแยกรัชโยธิน ระหว่างสถานีพหลโยธิน 24 กับสถานีรัชโยธิน ซึ่งเป็นแนวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2564 ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 1/2564 ได้อนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วโดยให้ รฟม. รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ได้รับหนังสือจากทางบีทีเอสแล้ว รฟม.จึงอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และประเมินเป็นมูลค่า เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ในวันที่ 18 มี.ค.นี้