การจดทะเบียนพาณิชย์ 'ค้าขายออนไลน์'
เปิดคัมภีร์ "พ่อค้าแม่ขายออนไลน์" แบบไหนที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือจดทะเบียนการค้าออนไลน์ มีขั้นตอนและต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
ปัจจุบันการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในช่วงภาวะที่โรคโควิด-19 ระบาด ที่ทำให้ห้างสรรพสินค้าและห้างร้านต่างๆ ต้องหยุดกิจการไปช่วงหนึ่ง รวมถึงตลาดนัดที่เคยคึกคักก็กลับซบเซา
แต่ในขณะเดียวกันในวิกฤตินั้นก็ยังมีโอกาส เมื่อผู้ที่ต้อง Work from Home ผู้ที่ถูกเลิกจ้าง หรือผู้ที่เห็นช่องทางหันมาทำธุรกิจขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการหารายได้ยังชีพเพิ่มเติมหรือเพื่อกอบกู้ยอดจำหน่ายให้ผ่านพ้นมรสุมไปได้แล้ว ยังช่วยให้ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคสามารถจับจ่ายใช้สอยโดยที่ไม่ต้องออกไปเสี่ยงกับโรคระบาดอีกด้วย
แต่พ่อค้าแม่ขายออนไลน์จะรู้หรือไม่ว่า หากประสงค์ให้กิจการร้านค้าออนไลน์ของตนมีความน่าเชื่อถือแล้ว มีวิธีการหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภคได้ นั่นก็คือ การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือจดทะเบียนการค้าออนไลน์ และได้รับเครื่องหมาย DBD Registered หรือ DBD Verified จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผู้เขียนจะนำทุกท่านไปทำความรู้จักกับเครื่องหมายดังกล่าว ดังนี้
ผู้ที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ 4 กลุ่ม คือ
1.ผู้ขายสินค้าหรือบริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและ Social Media
2.ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider : ISP)
3.ผู้ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Web Hosting) และ
4.ผู้ให้บริการเป็นตัวกลาง (ตลาดกลาง) ในการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านอินเทอร์เน็ต (E-Marketplace) เช่น Lazada, Shopee หรือ Kaidee โดยต้องขอจดทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันเริ่มค้าขาย ผู้ค้าต้องทำเว็บไซต์ที่จะใช้ขายสินค้าให้เรียบร้อย เช่น ลงรูปสินค้า คำบรรยาย ราคา วิธีชำระเงิน และวิธีจัดส่งให้ครบถ้วน
สำหรับสถานที่จดทะเบียนพาณิชย์นั้นก็ขึ้นอยู่กับภูมิลำเนาของร้านค้า ณ สถานประกอบการที่ตั้งอยู่ กล่าวคือ ในกรุงเทพฯ ก็จดทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร แต่ถ้าอยู่ในภูมิภาค ผู้ค้าสามารถไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนได้ที่เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล
เอกสารการจดทะเบียนพาณิชย์ ประกอบด้วย 1.แบบคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (กพ.) 2.สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของกิจการ 3.สำเนาทะเบียนบ้านเจ้าของกิจการ 4.แผนที่ตั้งกิจการ 5.เอกสารประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ถ้าเป็นกรณีที่ไม่ใช่เจ้าของบ้านจะต้องมีเอกสารเพิ่มเติมคือ หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่และสำเนาทะเบียนบ้าน หรือหนังสือสัญญาเช่า
ถ้าหากไม่ได้ดำเนินการด้วยตนเองจะต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจด้วย โดยค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนพาณิชย์เพียง 50 บาทเท่านั้น เมื่อร้านค้าออนไลน์จดทะเบียนพาณิชย์แล้ว สามารถขอรับเครื่องหมายรับรองได้ที่กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ www.dbd.go.th กรณีดังกล่าวเป็นไปตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชย์ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2553 ซึ่งพบว่าแม้จะมีประกาศฉบับนี้ใช้บังคับมานับสิบปีแล้ว แต่ผู้ค้าออนไลน์หลายรายกลับไม่ทราบถึงเรื่องนี้ หรือบางรายละเลยเพิกเฉยต่อการจดทะเบียนพาณิชย์ดังกล่าว
ในส่วนเครื่องหมาย DBD Registered นั้นมีความสำคัญกับเว็บไซต์ของผู้ค้าออนไลน์ เพราะเป็นเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ออกให้เจ้าของเว็บไซต์ E-Commerce โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เครื่องหมาย DBD Registered ที่แสดงบนหน้าเว็บไซต์จะช่วยยืนยันว่าร้านมีตัวตนอยู่จริงและตรวจสอบได้ ทำให้ลูกค้ามั่นใจมากขึ้นในการซื้อสินค้าและบริการ
ส่วนความแตกต่างระหว่างเครื่องหมาย DBD Registered กับเครื่องหมาย DBD Verified นั้นอยู่ตรงที่เครื่องหมาย DBD Registered จะรับรองผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ว่าผู้ประกอบการมีตัวตนอยู่จริง
ในขณะที่เครื่องหมาย DBD Verified จะรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยต้องจดทะเบียนและมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดคือ ได้สัญลักษณ์ DBD registered มาติดบนเว็บไซต์ของร้านค้าออนไลน์นานเกิน 6 เดือน จึงอาจกล่าวได้ว่าเครื่องหมาย DBD Verified เป็นการยกระดับและมีความน่าเชื่อถือสูงกว่า DBD Registered นั่นเอง
ประโยชน์ของการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของร้านค้าออนไลน์มีหลายประการ ได้แก่ การสร้างความน่าเชื่อถือให้ลูกค้าในการซื้อสินค้าหรือบริการ ยืนยันความมีตัวตนของผู้ประกอบการ มีสถานที่ตั้งของสำนักงานที่ลูกค้าสามารถติดตามตรวจสอบได้
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถขอรับเครื่องหมายรับรองผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ DBD Registered และเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ DBD Verified ซึ่งได้รับการตรวจประเมินตามเกณฑ์ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ประการสุดท้ายคือได้รับสิทธิในการแจ้งข่าวสาร สิทธิเข้ารับการพัฒนาอบรมตามหลักสูตรที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนดอีกด้วย
เมื่อจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว ร้านค้าออนไลน์จะต้องเสียภาษีหรือไม่นั้น โดยปกติแล้วการจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะไม่ต้องเสียภาษี แต่หากประกอบกิจการแล้วเกิดรายได้ ผู้ค้าก็ต้องเสียภาษีเงินได้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยเมื่อซื้อขายทุกครั้งต้องพิมพ์ใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีเก็บไว้เพื่อจัดทำภาษีส่งกรมสรรพากร ซึ่งนับเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติในฐานะพลเมืองของประเทศ
ร้านค้าออนไลน์ใดจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เราในฐานะผู้ซื้อหรือผู้บริโภคก็ยิ่งต้องสนับสนุน เพราะเป็นร้านค้าออนไลน์ที่ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย หากร้านค้าใดไม่ดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ก็จะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และปรับวันละ 100 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ทั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499
ประการสุดท้าย ผู้เขียนขอฝากว่าการจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สามารถทำได้ด้วยตัวเอง มีขั้นตอนไม่ยุ่งยากและมีประโยชน์หลายส่วน เช่น ช่วยยืนยันความมีตัวตนของร้านค้า ทำให้สามารถค้นหาร้านเจอบนเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อันย่อมส่งผลให้ร้านค้าออนไลน์นั้นๆ มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น และยังเป็นร้านค้าออนไลน์ถูกกฎหมาย
หากผู้ประกอบการยอมเสียเวลาเพียงไม่นานและจ่ายค่าธรรมเนียมเล็กน้อยตามที่กฎหมายกำหนด จากร้านค้าออนไลน์ธรรมดา ร้านค้าของเราก็จะเป็นร้านค้าออนไลน์ที่เป็นมืออาชีพช่วยยกระดับและสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าได้ในตัว