พื้นที่ EEC ต้นแบบสำรวจ 'สำมะโน' ยุคดิจิทัล
(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) สำนักงานสถิติแห่งชาติลงพื้นที่ติดตาม 'คุณมาดี' เก็บข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะในพื้นที่ต้นแบบ EEC พร้อมเตรียมยกระดับการทำงานสู่รัฐบาลดิจิทัล
สำมะโนประชากร หรือจากเดิมเรียกว่า สํารวจสำมะโนครัว คือ การนับจำนวนผู้คน หรือพลเมืองทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย แล้วแจกแจงว่าผู้คนเหล่านั้นมีคุณลักษณะอย่างไรบ้าง เช่น ผู้หญิง ผู้ชาย อายุ สัญชาติ ฯลฯ และกระจายตัวกันอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศอย่างไร สำนักงานสถิติแห่งชาติ จะทำการรวบรวมข้อมูลประชากรของประเทศในรูปของการทำสำมะโนประชากรต่อเนื่องทุกๆ 10 ปี
สำนักงานสถิติแห่งชาติ มีบทบาทสำคัญในการผลิต ให้บริการข้อมูลสถิติ และบริหารจัดการระบบสถิติของประเทศ โดยการส่งเจ้าหน้าที่ ที่เรียกว่า คุณมาดี ออกสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลจากทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย
ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ สสช.วันเพ็ญ พูลวงษ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบ Face to Face ที่ไม่สามารถส่งเจ้าหน้าที่ลงไปในพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์ประชาชนได้ สสช. จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและทบทวนวิธีการทำสำมะโนในรูปแบบใหม่ โดยได้จัดให้มีการศึกษา ‘โครงการการศึกษาและพัฒนาต้นแบบการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะจากฐานข้อมูลทะเบียน’ ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่องที่จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาแนวทางการปรับเปลี่ยนและพัฒนารูปแบบ กรอบแนวคิด และวิธีการทำสำมะโน โดยใช้ฐานข้อมูลทะเบียนเสริมวิธีการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ เพื่อให้ได้ข้อมูล ที่ถูกต้อง ครบถ้วน และครอบคลุมประชากรของประเทศ
สำหรับโครงการดังกล่าว จะดำเนินการใน 3 จังหวัดซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ได้แก่ จังหวัดระยอง จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี ใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีราชาและอำเภอพนัสนิคม เป็นการเก็บข้อมูลจากประชากรทุกคนตามที่อยู่อาศัยจริง ณ วันที่กำหนด โดยใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตในการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งได้ดำเนินการระหว่างเดือนธันวาคม 2563 - เดือนมีนาคม 2564
การปรับเปลี่ยนวิธีการทำสำมะโนจากแบบดั้งเดิมมาใช้ฐานข้อมูลทะเบียนเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพเนื่องจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการทำสำมะโนของประเทศ เพราะสามารถใช้ข้อมูลจากทะเบียนที่หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ มีอยู่แล้วมาใช้แทนการปฏิบัติงานสนามได้ หากวิธีการนี้ได้ถูกนำมาใช้จะทำให้ประชาชนตอบคำถามและใช้เวลาน้อยลง ซึ่งจะนำไปสู่การให้ความร่วมมือของประชาชนในการตอบข้อมูลกับ สสช.
มากขึ้น และได้ข้อมูลที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นด้วย
ผลการศึกษาจากโครงการนี้ อาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการปรับเปลี่ยนวิธีการทำสำมะโนในอนาคต ที่มุ่งเน้นการจัดทำข้อมูลและให้บริการข้อมูลสถิติที่สอดคล้องตอบโจทย์ ถูกต้อง และทันต่อสถานการณ์ของประเทศ ในยุคการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล โดยพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้ในการเก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูลให้มากขึ้น
ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจบิซอินไซต์ รายงาน