"อินเวสทรี" เปิดบริการคราวด์ฟันดิ้ง ตั้งเป้าช่วย SMEs ระดมทุนต่อลมหายใจธุรกิจ
แพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิ้ง "อินเวสทรี" เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ วางเป้าหมายช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลาง-ย่อม ตั้งเป้าธุรกิจใช้บริการระดมทุนหุ้นกู้ราว 30 ล้านบาทต่อเดือน พร้อมเสนอดอกเบี้ยจูงใจฝั่งนักลงทุน 6-26% ต่อปี
นางสาวณัทสุดา พุกกะณะสุต ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย จำกัด (INVESTREE) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการเงินทุนด้วยแพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2564 ที่ผ่านมา โดยอินเวสทรีจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระดมทุนผ่านช่องทางบนระบบอินเทอร์เน็ตระหว่างนักลงทุนและผู้ขอออกหุ้นกู้
ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าเป็นแพลตฟอร์มระดมทุนหุ้นกู้คราวด์ฟันดิ้งที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เนื่องจากเห็นว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้เป็นเส้นเลือดฝอยของระบบเศรษฐกิจไทย แต่กลับมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อไม่ถึง 1% ของจีดีพี เมื่อเทียบกับสินเชื่อภาคธุรกิจกลับมีสัดส่วนสูงถึง 85% ของจีดีพี โดยจะเห็นว่าส่วนต่างการเข้าถึงสินเชื่อ (Credit Gap) ที่ใหญ่มากในระบบการเงินไทย
นอกจากนี้ ในช่วงโควิด-19 คือ คู่ค้าหรือลูกค้ายืดเวลาการชำระเงินค่าสินค้าออก ทำให้ขาดสภาพคล่องระยะสั้น แต่ SMEs กลับเข้าไม่ถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้ไม่มีกระแสเงินสดมาหมุนในธุรกิจได้ทันเวลา หลายรายจึงต้องกู้เงินนอกระบบซึ่งมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง
“การเข้ามาระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้บนแพลตฟอร์มของเรา แม้ดอกเบี้ยจะไม่ได้ต่ำมากเท่ากับธนาคาร แต่ดีกว่าเมื่อเทียบสินเชื่อประเภทอื่นๆ เช่น พิโกไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์ สูงสุด 36% หรือบัตรเครดิต สูงสุด 28% รวมถึงสินเชื่อนอกระบบที่ไม่มีกฎหมายกำหนด” นางสาวณัทสุดา กล่าว
โดยอินเวสทรีจะเปิดให้ผู้ประกอบการ SMEs ระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้เสี่ยงสูงแบบไม่มีเรทติ้ง (Unrated High Yield Bond) อายุตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 2 ปี แต่เฉพาะในช่วงโควิด-19 จำกัดอายุการออกเหลือไม่เกิน 1 ปี วงเงินตั้งแต่ 5 หมื่นบาท ถึง 5 ล้านบาท กำหนดอัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 6-26% ต่อปี ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของผู้ประกอบการแต่ละรายผ่านโมเดลการให้คะแนนความน่าเชื่อถือ (Credit Scoring Model)
เบื้องต้นตั้งเป้าผู้ประกอบการระดมทุนผ่านอินเวสทรีเดือนละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30 ล้านบาท และคาดว่าจะมีนักลงทุนหน้าใหม่สนใจเข้ามาลงทุนประมาณ 1,000 ราย โดยในช่วงสัปดาห์หน้า (22-26 มี.ค.) เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ชุดแรกแก่นักลงทุน อายุ 1 เดือน กำหนดดอกเบี้ย 15%
ส่วนคุณสมบัติของผู้ออกหุ้นกู้ ได้แก่ ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทำธุรกิจมาแล้ว 1-2 ปี มีคู่ค้าที่ดีหรือมีใบแจ้งหนี้ (Invoice Financing) มีธุรกรรมซื้อขายบนระบบออนไลน์ และมีโอกาสไปต่อถ้าได้รับเงินทุน ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่มีใบแจ้งหนี้สามารถขอข้อมูลการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ (Payment Gateway) จากธนาคาร หรือสัญญาซื้อขายกับคู่ค้า เพื่อใช้ยื่นประกอบการพิจารณา
"ก่อนเข้ามาในประเทศไทย อินเวสทรีได้ให้บริการแพลตฟอร์มสินเชื่อบุคคนต่อบุคคล (P2P Lending) ในประเทศอินโดนีเซีย นักลงทุนจึงมั่นใจได้ว่าบริษัทฯ มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งในช่วงก่อนที่จะเปิดให้บริการจริง บริษัทฯ ได้ทดลองลงทุนหุ้นกู้ด้วยเงินของบริษัทฯ รวมทั้งหมด 6 ชุด โดยได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ย 14%" นางสาวณัทสุดา กล่าว
ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ตั้งเป้าบริหารไม่เกิน 3% จากประสบการณ์ทำธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียที่มี NPL อยู่ที่ 1.2% นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังขอในอนุญาตติดตามการชำระเงินจากสำนักงาน ก.ล.ต.ส่งให้สามารถดูแลติดตามการชำระเงินแก่ผู้ลงทุนภายหลังการเสนอขายหุ้นกู้ได้อีกด้วย
นายวรกร สิริจินดา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อินเวสทรีฯ กล่าวว่า ในส่วนของนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากและพันธบัตรรัฐบาล แต่มีความผันผวนน้อยกว่าการลงทุนในตลาดหุ้น อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการลงทุนในหุ้นกู้ของผู้ประกอบการ SMEs มีความเสี่ยงสูง ดังนั้น นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลและกระจายการลงทุน
ทั้งนี้ กำหนดยอดลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท แต่นักลงทุนราย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อหุ้นกู้ และลงทุนบนระบบคราวด์ฟันดิ้งทั้งหมดไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนที่มีความมั่งคั่งสูง นิติบุคคลหรือมีบุคคลที่ความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน (Accredited Investor) สามารถลงทุนได้ไม่จำกัดวงเงิน
"นักลงทุนสามารถสมัครเข้ามาใช้บริการได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อีกทั้งยังมั่นใจได้ว่าเงินจะถูกส่งถึง SMEs จริงๆ เพราะเงินในระบบจะถูกเก็บเอาไว้ที่ธนาคารกรุงศรี ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้รับฝากสินทรัพย์ (Custodian)" นายวรกร กล่าว