'คามาคาเมต' วิ่งสู้ฟัดหาลูกค้าฝ่าวิกฤติ กุมขุมทรัพย์เครื่องหอม 4.8 หมื่นล้าน
ผู้ประกอบการมีมุมมองการทำธุรกิจ “รีเทล” จำหน่ายผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ทั้งเครื่องหอมและเสื้อผ้า ค่อนข้างอยู่ใน Comfort Zone ลูกค้าวิ่งเข้าหาสินค้าและบริการมาโดยตลอด ทำให้ไม่ต้องโปรโมทและสื่อสารการตลาดมากนักตลอดเส้นทางทำธุรกิจ
ทว่า วิกฤติมาเยือน เมื่อปี 2563 ทั้งโลกเผชิญไวรัสมฤตยู “โควิด-19” กระเทือนการค้าขาย “หยุดชะงัก” หน้าร้านที่เคยให้บริการแก่ลูกค้าต้อง “ปิด” เพื่อรับมือโรคระบาด สถานการณ์ความบอบช้ำทางธุรกิจ ยังให้บทเรียนสำคัญจนบริษัทต้องพลิกกระบวนท่าสร้างการอยู่รอด
ศักดิ์สิทธิ์ ภัทรประกฤต รองผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท เฮลเม็ต เคลต์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทมีร้านจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ทั้งเครื่องหอมแบรนด์ “คามาคาเมต” และเสื้อผ้า “เอฟเวอรี่เดย์ คามาคาเมต” รวม 13 สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในทำเลจับกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยว แน่นอนว่าโรคโควิด-19 ที่ระบาดมาราธอนข้ามปี ส่งผลกระทบต่อหน้าร้าน ทำให้ขายสินค้าไม่ได้ ยิ่งกว่านั้น นักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก 70-80% เรียกว่าหดหายไปหมด กระทั่งปัจจุบัน “ยังไร้เงา หาชื่อลูกค้าไม่เจอ”
ที่ผ่านมา บริษัทไม่มีทีมงานต้องทำการตลาดเชิงรุก ไม่เคยทำออนไลน์ แต่วิกฤติทำให้ต้องคิดใหม่ และปรับแผนการทำธุรกิจ เพื่อ “วิ่งเข้าหาลูกค้า” จากที่ไม่เคยทำ รวมถึงการโฟกัสกลุ่มเป้าหมายคนไทย ที่เดิมผู้บริโภคยังไม่ตระหนักเรื่องการใช้เครื่องหอมในชีวิตประจำวันมากนัก เว้นแต่ธุรกิจพักผ่อน ต้อนรับนักท่องเที่ยว(Hospitality)ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม รีสอร์ท สปาฯ
ทั้งนี้ หากมาดูตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องหอมมีมูลค่าราว 48,000 ล้านบาท หากนับผู้เล่นที่เป็นแบรนด์ใหญสัญชาติไทยมีหลักสิบ แต่เมื่อรวมแบรนด์เล็กและต่างประเทศมีนับ “ร้อย” แต่จุดอ่อนหรือ Pain point ของตลาดในไทยคือผู้บริโภคเข้าใจความจำเป็นในการใช้เครื่องหอมค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับต่างชาติ
สำหรับกลยุทธ์เพื่อก้าวข้ามความท้าทายรอบด้าน “ออนไลน์” เป็นสิ่งที่บริษัทจริงจัง แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญว่ายอดขายจะต้องเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ เพราะมองว่าทุกช่องทางขายสำคัญ ดังนั้นจึงต้องผลักดันการเติบโตควบคู่ออฟไลน์ แต่ยอมรับว่าการบุกออนไลน์ยอดขายเติบโตสูงมาก สร้างสัดส่วนได้ 20-30% กอบกู้สถานการณ์ธุรกิจให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ การวิ่งเข้าหาลูกค้า มุ่งเจาะองค์กรมากขึ้น ในการรังสรรค์เครื่องหอมที่มีกลิ่นเอกลักษ์หรือเอ็กซ์คลูสีพเฉพาะบริษัทนั้นๆ เพื่อเป็นของขวัญแก่ลูกค้า รวมถึงการผนึกพันธมิตรขยายฐานสู่ลูกค้าเอสเอ็มอี ที่ผ่านมาบริษัทยังร่วมมือกับ “SUNTUR” (ซันเต๋อ-ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล) ศิลปินวาดภาพประกอบ สร้างสรรค์เครื่องหอมกลิ่นเฉพาะทำให้งานศิลปะมีทั้งรูป กลิ่น
“คามาคาเมต เปิดร้านแรกที่จตุจักร ปี 2544 ส่วนเอฟเวอรี่เดย์ คามาคาเมต เปิดเมื่อ 2556 ผ่านมาหลายสถานการณ์ ทั้งการเมืองปิดราชประสงค์ เรามี 5-6 สาขา วันนั้นหนักมาก แต่โควิด-19 ถือเป็นบทเรียนหนักสุด ต้องปิดให้บริการ 13 สาขา เป็นมหากาพย์แห่งหายนะ เราจึงต้องหาวิธีการใหม่ๆ ทำออนไลน์ หาวิธีให้ลูกค้าทดลองสินค้า ถูกใจแล้วมาซื้อต่อ สร้างป๊อปอัพสโตร์ไปยังพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ เช่น ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เดอะมอลล์บางแคและงามวงศ์วาน ซีคอนศรีนครินทร์ เพื่อสร้างโอกาสและหาลูกค้าใหม่ๆ จากเดิมรีเทลของเราถือเป็นคอมฟอร์ทโซน ไม่เคยวิ่งหาลูกค้า ตอนนี้เราปรับกลยุทธ์ใหม่หมด”
สำหรับภาพรวม 2 เดือนแรก ซึ่งอยู่ในช่วงโควิดระบาดรอบใหม่ สถานการณ์ขายเริ่มลงตัวมากขึ้น แต่ยังไม่กลับเข้าสู่โหมดปกติเหมือนก่อนระบาดรอบแรก เพราะลูกค้าต่างชาติยังเป็นตัวแปรสำคัญ ขณะที่การเปิดร้านปัจจุบันมี 12 สาขา โดยปิด 1 สาขาที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเพชรบุรี เนื่องจากหมดสัญญาเช่าพื้นที่พอดี นอกจากปรับหมากรบใหม่ เร็วๆนี้ บริษัทมีแผนจะรีแบรนด์เครื่องหอมและไลฟ์สไตล์ด้วย