‘หัวเว่ย’ ปักธง ‘อีอีซี’ ดัน ‘5จี’ ไทยดีสุดในอาเซียน
อีอีซี จับมือ หัวเว่ย ตั้งHuawei ASEAN Academy ตั้งเป้าภายในปี 2567 จะผลิตบุคลากรด้านดิจิทัล 5 G ได้ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน ยกระดับไทยเป็นศูนย์กลาง 5G ของอาเซียน
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่องในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ดึงเจ้าของเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนและร่วมผลิตบุคลากรรองรับการพัฒนา 5G
รวมถึงบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ที่มาตั้ง Huawei ASEAN Academy โดยวานนี้ (18 มี.ค.) ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อการสร้างทรัพยากรมนุษย์และระบบนิเวศ (Talent ecosystem) รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม ICT สำหรับโลกยุค 5G
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การเปิด Huawei ASEAN Academy ในอีอีซีจะเป็นแรงผลักดันสำคัญเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยและเป็นต้นแบบสำคัญที่สร้างความร่วมมือ 3 แกนหลัก ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรรองรับเทคโนโลยี 5G ยกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัลของไทย
โดยมีกรอบความร่วมมือที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1.สร้างฐานความรู้ ผู้เชี่ยวชาญและแพลตฟอร์ม สำหรับการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี (ICT) จากการจัดตั้ง Huawei ASEAN Academy แห่งแรกของประเทศไทยในอีอีซี โดยมีศูนย์ปฏิบัติการภายในมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อเป็นสถาบันฝึกอบรมหลักเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านดิจิทัลของไทย
2.สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการการพัฒนา ICT นำองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้ให้บริการไปยังภาคอุตสาหกรรมเพื่อใช้ 5G ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3.การฝึกอบรม เสริมศักยภาพด้าน ICT และ 5G ตามหลักการพัฒนาบุคลากรตรงความต้องการ สร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ เข้าสู่การฝึกปฏิบัติ สร้างงานรายได้ดี
4.สร้างการรับรองมาตรฐาน อำนวยความสะดวกแก่อุตสาหกรรมเป้าหมาย
อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเปิด Huawei ASEAN Academy มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างรากฐานความรู้ด้านดิจิทัลให้กับเยาวชนไทย ร่วมกับ สกพอ.และมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อขับเคลื่อนการสร้างทักษะดิจิทัลแบบองค์รวม และการพัฒนาระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกันอย่างเข้มแข็งเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ โควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้สร้างวิกฤติและโอกาส โดยโอกาสที่เกิดขึ้น โควิด-19 ได้ทำให้ธุรกิจดิจิทัลขยายตัวเพิ่มขึ้นมากมีมูลค่าสูงถึง 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ทั่วโลก ซึ่งโอกาสนี้ก็เกิดในไทยเช่นเดียวกัน ส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยได้เร็วขึ้น และภาคธุรกิจต้องการด้านดิจิทัลที่มีประสิทธืภาพ และบุคลากรด้านดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้น
โดยเฉพาะในอีอีซีจะเป็นรากฐานการเติบโตด้านดิจิทัลที่สำคัญ ซึ่งหัวเว่ยร่วมมือกับไทยตั้งแต่ปี 2561 โดยตั้งคราวดาต้าเซ็นเตอร์ขึ้นเป็นแห่งแรก เพื่อให้บริการลูกค้าและสตาร์ทอัพ และในปี 2562 ตั้ง 5 G test base แห่งแรกในอาเซียน ขณะที่ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ จะตั้งคราวด์ดาต้าแห่งที่ 3 รวมทั้งยังได้ตั้ง Base station ไปแล้ว 1 หมื่นจุดทั่วประเทศ และครอบคลุม 85% ของอีอีซี
“จะทำให้อีอีซีมีโครงสร้างพื้นฐาน 5G ที่ดีที่สุดในอาเซียน ทำให้ไทยเป็นผู้นำ 5 G ในอาเซียน ซึ่งอีอีซีเป็นเรื่อธงในเทคโนโลยี 5G จะยกระดับด้านดิจิทัลให้โรงงานในอีอีซีมากกว่า 1 หมื่นแห่ง และโรงแรมกว่า 300 แห่ง”
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ หัวเว่ย จะตั้ง Huawei ASEAN Academy ในพื้นที่มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งจะช่วยฝึกอบรมให้กับนักศึกษา พนักงานบริษัทต่าง ๆ เพิ่มทักษาะด้าน IoT 5 G ซึ่งในปี 2564 จะสร้างบุคลากรไม่ต่ำกว่า 6 พันคน และภายในปี 2567 จะสร้างได้ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน และในอนาคตจะเห็นความร่วมมือในด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถด้านดิจิทัลของไทย ก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นสาขาของ Huawei Academy แห่งแรกในไทย พัฒนาคนในวงการดิจิทัลทั้งระดับสั้น ปานกลาง และระดับปริญญาตรี ที่เน้นในเรื่องดิจิทัล 5G และทำใบรับรอง เพื่อให้แน่ใจว่าจบไปแล้วมีงานทำ มีเป้าหมายพัฒนา 1 หมื่นคนต่อปี เป็นเวลา 3 ปี รวมทั้งสิ้น 3 หมื่นคน รวมทั้งทำแพลตฟอร์ม 5G เมื่อวางระบบ 5G แล้ว จะต้องหาคนเข้ามาลงทุน การสร้างแอพลิเคชั่น จะช่วยทำงานเหล่านี้ด้วยกัน
ทั้งนี้จะขยายสมาร์ทซิตี้ 5G เพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งได้นำร่องไปแล้วที่เมืองบ้านฉาง ครอบคลุม 2.3 หมื่นครัวเรือน และจะขยายไปพื้นที่อื่น เช่น พัทยา ระยอง ซึ่งจะมีงานด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นมากจึงต้องเร่งผลิตคนเพื่อรองรับการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาทำไปแล้วหมื่นกว่าคน คาดว่าภายใน 3 ปี จะสร้างได้ถึง 1 แสนคน ให้เพียงพอต่อความต้องการ
รวมทั้งหลังจากนั้นจะดูเรื่องการลงทุนที่ได้หารือกับหัวเว่ย จะมีชิ้นส่วน 5G ที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งจะมีอุตสาหกรรมที่เชี่อมกับ 5G มาลงทุนที่อีอีซี
สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมใน Huawei ASEAN Academy จะมีหลายอย่าง 5G จะมีหลายเรื่อง ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์ จะต้องมีคนที่รู้เรื่องอุปกรณ์ 5G เพราะจะมีการติดตั้งระบบ 5G เยอะ มีเรื่องการเขียนซอฟท์แวร์ 5G จะมีระบบเดต้าจากเดต้าปกติเป็นเดต้าเลต ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องใช้คนเป็นจำนวนมาก สุดท้ายที่จะร่วมกันทำคือการสร้างกลุ่มคนให้เป็นสตาร์ทอัพใหม่ จะทำปริญญาตรีบางกลุ่ม ดึงเด็กเก่ง ๆ มาพัฒนาความรู้ในการเขียนแอพพลิเคชั่น 5 G ให้เกิดการลงทุนด้านนี้
ทั้งนี้ ช่วง 2 ปีข้างหน้า จะนำ 5G ไปใช้ในระบบอุตสาหกรรม และระบบการผลิตเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นออโตเมชั่นหรือหุ่นยนต์ รวมทั้งการแพทย์และด้าน เช่น การผ่าตัดทางไกล ซึ่งจะผลักดันอุตสาหกรรม ธุรกิจบริหาร โรงแรม โรงเรียน มาใช้ 5G ให้มากที่สุด โดยจะช่วยภาคอุตสาหกรรมลดต้นทุนได้กว่า 30% หลังจากเกิด 5G ก็จะเกิดข้อมูลจำนวนมากและเกิดธุรกิจการเก็บข้อมูล ซึ่งมีผู้ทำแอพพลิเคชั่นในอีอีซี 1 หมื่นโรงงาน โรงแรม 300 แห่งจะนำเข้ามาให้หมด ซึ่งได้คุยกับนิคมอุตสาหกรรมบางแห่ง จะนำระบบ 5G เข้าไปทำโมเดลนี้