เปิดแฟ้ม 'งบฯปี 65' ขาดดุล 7 แสนล้าน. สัญญาณเตือนเร่งปฎิรูประบบงบประมาณประเทศ
การจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ซึ่งได้เข้าสู่การพิจารณารายละเอียดของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมายังคงสะท้อนให้เห็นผลกระทบและข้อจำกัดของงบประมาณรายจ่ายของประเทศที่ไม่เพียงแต่ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19
หากแต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงภาระงบประมาณในการจัดสวัสดิการดูแลกลุ่มเปราะบาง ขณะที่การตั้งเป้าในการจัดเก็บงบประมาณที่ลดลงจากปี 2564 ก็สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่นัก
สำนักงบประมาณได้รายงานรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณปี 2565 โดยในปีงบประมาณ 2565 หน่วยงานเศรษฐกิจได้ประมาณการเก็บรายได้ไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 2564 ที่เป้าหมายการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 2.67 ล้านล้านบาท สวนทางกับการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปี 2565 จะฟื้นตัวได้มากกว่าในปี 2564 จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการบริโภคในประเทศ ซึ่งในประเด็นนี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้ชี้แจงใน ครม.ว่าในทางปฏิบัติกระทรวงการคลังต้องพยายามจัดเก็บรายได้ให้ได้มากกว่าเป้าหมายอยู่แล้ว
การตั้งเป้าในการจัดเก็บรายได้ไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาทจึงเป็นเป้าหมายที่อนุรักษ์นิยม (conservative)และหากจัดเก็บงบประมาณได้เกินเป้าหมายที่วางไว้รวมทั้งเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างน่าพอใจรัฐบาลก็สามารถจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายกลางปีได้
สำหรับงบประมาณปี 2565 มีวงเงินและโครงสร้างงบประมาณในส่วนที่สำคัญได้แก่
1.รายจ่ายประจำ จำนวน 2.36 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 64 1.77 แสนล้านบาท หรือลดลง 6.98%
2.รายจ่ายเพื่อชดเชยเงินคงคลัง จำนวน 596.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% จากปีงบประมาณก่อน
3.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย จำนวน 2.497 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 100%
4.รายจ่ายเพื่อการลงทุนจำนวน 6.24 แสนล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณก่อน 2.49 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 3.84%
และ 5.รายจ่ายเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้จำนวน 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.01%
อีกส่วนที่มีเป็นสาระสำคัญของงบประมาณในปี 2565 ก็คือเป็นปีที่การขาดดุลงบประมาณสูงกว่างบประมาณลงทุน ซึ่งถือว่าเป็นปีงบประมาณแรกหลักจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2551 ในเหตุการณ์“วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” ที่มีการตั้งงบประมาณขาดดุลสูงกว่างบลงทุนโดยในปีงบประมาณ 2565 มีการขาดดุลงบประมาณไว้กว่า 7 แสนล้านบาท ขณะที่งบลงทุนอยู่ที่ประมาณ 6.24 แสนล้านบาท
ซึ่งการมีการขาดดุลงบประมาณสูงกว่างบลงทุนเป็นกรณีที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยปกติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 20 วรรคสอง บัญญัติให้ต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นและมาตรการในการแก้ไขต่อรัฐสภา พร้อมกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ
ทั้งนี้สำนักงบประมาณได้มีการหารือกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลังและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาแก้ไขโดยเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่นๆ เช่น การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) การลงทุนโดยใช้โครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund)รวมทั้งพิจารณาการใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมาใช้ให้เหมาะสม
สำนักงบประมาณได้ชี้แจง ครม.ถึงการที่มีการตั้งงบประมาณขาดดุลในปี 2565 สูงถึง 7 แสนล้านบาท เนื่องจาก ในปี พ.ศ. 2565 รัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายที่เป็นวงเงินรายจ่ายประจำสูงถึง 2.457 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นภาวะค่าใช้จ่ายหลายด้าน เช่น ภาระค่าใช้จ่ายตามสิทธิ กฎหมาย ข้อผูกพัน ค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการสังคม และกลุ่มเปราะบางต่างๆ ค่าใช้จ่ายในการจัดบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานของรัฐ รายจ่ายตามแผนบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ รวมทั้งค่าจัดบริการสาธารณะพื้นฐานของรัฐ รายจ่ายตามแผนบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติแต่ละระดับ รวมถึงการขับเคลื่อนแผนงานสำคัญของรัฐบาลที่มีลักษณะ้เป็นรายจ่ายประจำที่ต้องจัดสรรเงินสูง
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ปิดเผยว่า ในการจัดทำงบประมาณปี 2565 ได้มีการพิจารณาถึงความเร่งด่วนและจำเป็น โดยในส่วนที่มีความจำเป็นและนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ให้ความสำคัญคืองบประมาณที่เป็นสวัสดิการในการดูแลกลุ่มเปราะบางที่ยังคงได้รับผลกระทบมีความลำบากจากสถานการณ์โควิด-19 ให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงซึ่งโดยรวมแล้วงบประมาณในการจัดสวัสดิการต่างๆให้กับประชาชนในปี 2565 สูงถึงประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท
การขาดดุลงบปะมาณที่เพิ่มขึ้นทุกๆปีงบประมาณจากข้อมูลที่รวบรวมมาพบว่าในปี 3 ปีงบประมาณย้อยหลังการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 4.69 แสนล้านบาในปีงบประมาณ 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 6.08 แสนล้านบาทในปี 2564 และเพิ่มเป็น 7 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2565
การจัดเก็บรายได้ที่ลดลง ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐมีมากขึ้นจนสะท้อนผ่านการขาดดุลงบประมาณที่สูงกว่างบฯลงทุน กรอบกับภาระการจัดสรรสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีทำให้รัฐบาลต้องหันกลับมาปฏิรูประบบงบประมาณอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับการปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูประบบภาษีและระบบการคลัง รวมไปถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
ไม่เช่นนั้นการบรรลุเป้าหมายในการจัดทำ “งบประมาณสมดุล” ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งที่รัฐบาลวางไว้ในแผนการเงินระยะปานกลาง และระยะยาวคงไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง