'หุ้น' กับ 'หุ้นกู้' ต่างกันอย่างไร?

'หุ้น' กับ 'หุ้นกู้' ต่างกันอย่างไร?

พามือใหม่หัด "ลงทุน" ไปทำความรู้จัก "หุ้น" กับ "หุ้นกู้" สินทรัพย์ชื่อคล้ายกันที่ไม่เหมือนกัน พร้อมทั้งโอกาสและความเสี่ยงของการลงทุนในทั้ง 2 สินทรัพย์ เรื่องควรรู้ก่อนตัดสินใจลงทุน

ปัจจุบัน "การลงทุน" เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และมีข้อมูลข่าาวสาร มีช่องทางต่างๆ ให้ศึกษาทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ และในบางครั้งก็สามารถหาความรู้เกี่ยวกับลงทุนต่อยอดความมั่งคั่งได้โดยไม่ต้องใช้เงินมหาศาลอย่างในอดีต

"หุ้น" เป็นการลงทุนอีกหนึ่งรูปแบบที่คนรุ่นใหม่หันมาสนใจลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่ง โดยเฉพาะในช่วง "โควิด-19" ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า จากต้นปี 2564 ถึงสิ้นเดือน ม.ค.64 มีการเปิดบัญชีเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์กว่า 2 แสนบัญชี ทำให้นักลงทุนเปิดบัญชีรวมแล้วกว่า 3.7 ล้านบัญชี ซึ่งพีคในช่วงที่มีการเปิดจอง "หุ้น OR" ด้วย

สำหรับคนอยากลงทุนในหุ้น หรือที่บางคนเรียกติดปากกว่า "เล่นหุ้น" แต่ยังไม่ได้เริ่มต้นหรืออยู่ระหว่างศึกษา อาจเคยสับสนว่า "หุ้น" กับ "หุ้นกู้" และบางคนเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งเดียวกัน

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงชวนมาดูความแตกต่างของสินทรัพย์ 2 อย่างนี้ว่า มีความเสี่ยง โอกาส รวมถึงช่องทางในการลงทุนที่ต่างกันอย่างไร และเหมาะกับใครบ้าง?

เมื่อนำคุณสมบัติหลักๆ ของหุ้น กับ หุ้นกู้ มาเปรียบเทียบกันแบบข้อต่อข้อ ก็จะทำให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจน ดังนี้

161676762726

  

  •  รู้จัก "หุ้น" เบื้องต้น 

"หุ้น" (Stock) คือตราสารที่ทำออกมาเพื่อระดมทุนไปใช้ในกิจการ และขายให้กับ "ผู้ถือหุ้น" (Holder) ซึ่งจะมีสิทธิในฐานะเป็น "เจ้าของ" กิจการนั้นๆ ด้วย หมายความว่าเมื่อกิจการนั้นได้กำไรก็จะได้กำไรไปด้วย และหากกิจการขาดทุนก็จะขาดทุนไปเช่นกัน

โดยกำไรที่ว่า เจ้าของกิจการจะให้ผลตอบแทนที่กิจการจะให้กับผู้ถือหุ้นเป็น "เงินปันผล" ส่วนกำไรอีกแบบที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับมาจาก "ส่วนต่างราคา" ของหุ้นตัวนั้นๆ เมื่อราคาหุ้นขึ้นไปมากกว่าราคาตอนที่ซื้อ หรือราคาที่ซื้อเฉลี่ยรวมกัน หากขายหุ้นก็จะได้ส่วนต่างราคาตรงนี้เป็นกำไรได้ด้วย

ซึ่ง "หุ้น" แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ 

- หุ้นสามัญ (Common Stock)

ตราสารที่ออกโดยบริษัทมหาชนจำกัด (บมจ.) ที่ต้องการระดมเงินทุน จากประชาชน โดยผู้ถือหุ้นสามัญจะมีสิทธิร่วมเป็นเจ้าของบริษัท มีสิทธิในการออกเสียงลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนของหุ้นที่ถือครองอยู่ พูดง่ายๆ คือร่วมเป็นผู้ตัดสินใจในปัญหาสำคัญในที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้ด้วย

- หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock)

ตราสารที่ผู้ถือมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการเช่นเดียวกับหุ้นสามัญ แม้จะไม่มีสิทธิในการออกเสียงลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้น แต่เมื่อกิจการมีกำไรจากการดำเนินงาน ผู้ถือ "หุ้นบุริมสิทธิ" จะได้รับเงินปันผลในอัตราคงที่ ซึ่งอาจจะมากหรือน้อยกว่าผู้ถือหุ้นสามัญก็ได้

ขณะเดียวกัน หากกิจการนั้นต้องเลิกกิจการ "ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ" ก็จะได้รับเงินคืนทุนก่อน "ผู้ถือหุ้นสามัญ"

     

  • ความเสี่ยงของการ "ลงทุนหุ้น" 

ความเสี่ยงทางธุรกิจ 

ราคาหุ้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ปัจจัยหลายอย่างมีผลกระทบต่อราคาหุ้น เช่น ผลประกอบการของบริษัทหรือทั้งอุตสาหกรรม หรือภาวะเศรษฐกิจทั่วไปที่อาจกระทบต่อกิจการที่กำลังลงทุนอยู่

- ความเสี่ยงทางการเงิน

เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการที่กิจการสร้างภาระผูกพันทางการเงินไว้ เช่น การก่อนี้ ถ้ากิจการใดมีการก่อนี้จำนวนมาก กิจการนั้นก็จะมีภาระการจ่าย ดอกเบี้ย ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายคงที่จำนวนมาก หากกิจการไมสามารถทำกำไรได้ตามเป้าที่วางไว้ กำไรของกิจการก็จะไม่เพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยได้ เมื่อกิจการไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยตามภาระผูกพันได้ ก็ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงที่อาจจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้

  

  •  รู้จัก "หุ้นกู้" เบื้องต้น 

หุ้นกู้ (Corporate Bond) คือ ตราสารหนี้ (Bond) ที่ออกโดยภาค "เอกชน" เพื่อระดมทุนไปใช้ในกิจการต่างๆ ตามแผนของบริษัท โดย "ผู้ซื้อหุ้นกู้" จะอยู่ในสถานะของ "เจ้าหนี้" ของกิจการที่เราซื้อหุ้นกู้ โดยลักษณะที่สำคัญของหุ้นกู้คือ ผู้ออกหุ้นกู้จะต้องให้คำสัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันตลอดช่วงอายุของหุ้นกู้ และจะชำระเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดอายุของหุ้นกู้ด้วย

โดยหุ้นกู้จะกำหนดอายุที่แน่นอน ส่วนใหญ่จะมีอายุ 3 ปี 5 ปี 7 ปี หรือ 10 ปี (การออกหุ้นกู้ในลักษณะนี้แต่ทำโดยรัฐบาล จะถูกเรียกว่า "พันธบัตรรัฐบาล")

อันดับความน่าเชื่อถือ หุ้นกู้

  •  ความเสี่ยงของการ "ลงทุนหุ้นกู้" 

- ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย

หุ้นกู้จะมีมูลค่าสูง เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง ในทางตรงกันข้ามก้จะมีมูลค่าลดลง เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น 

- ความเสี่ยงด้านเครดิต

หุ้นกู้จะมีจุดที่แตกต่างจาก หุ้น หรือหุ้นสามัญ คือจะมีการจัด Credit Ratings หรือ อันดับความน่าเชื่อถือ ที่สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้ และภาพรวมของกิจการที่ออกหุ้นกู้ โดยสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

- ความเสี่ยงจากกิจการ

นอกจากอันดับความน่าเชื่อถือแล้ว หุ้นกู้ยังมีเงื่อนไขอีกเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจก่อนลงทุน นั่นคือ เงื่อนไขการค้ำประกัน (Collateralization) ซึ่งมีไว้ในกรณีที่บริษัทที่ออกหุ้นกู้ประสบปัญหาหรือต้อง "เลิกกิจการ" หรือต้องประสบกับสภาวะ "ล้มละลาย" ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ตามที่สัญญา โดยสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

1. หุ้นกู้ไม่มีค้ำประกัน (Unsecured bonds)

หุ้นกู้ในไทยส่วนใหญ่ เป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งจะอาศัยความน่าเชื่อถือของบริษัทของตัวเอง และความสามารถในการจัดสรรกระแสเงินสดและดอกเบี้ยภายในกำหนด

2. หุ้นกู้มีประกัน (Secured bonds)

หุ้นกู้ที่มีสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ค้ำประกันอยู่ เช่นที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ โดยมูลค่าของสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันมักจะมีมูลค่าเท่ากับหรือมากกว่าจำนวนหุ้นกู้ที่เสนอขาย 

3. หุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ (Subordinated bonds)

หุ้นกู้ด้อยสิทธิมีลักษณะเหมือนหุ้นกู้ทั่วไป แต่เมื่อกิจการที่ออกหุ้นกู้ล้มละลายหรือเลิกกิจการ ผู้ที่ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์จะได้รับเงินต้นคืนหลังจากผู้ถือหุ้นกู้ที่มีประกัน และเจ้าหนี้สามัญประเภทอื่น โดยลำดับในการชำระเงินต้นคืนเมื่อกิจการล้มละลาย จะเรียงลำดับการจ่ายเงินก่อนหลัง ดังนี้

1. หุ้นกู้มีประกัน
2. หุ้นกู้ไม่มีประกัน
3. หุ้นกู้ด้อยสิทธิ์
4. หุ้นสามัญ

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นการลงใน "หุ้นสามัญ" หรือ "หุ้นกู้" ก็ย่อมมีเรื่องของความเสี่ยงที่ตามมา ซึ่งการลดความเสี่ยงที่ดีที่สุด คือการศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสินทรัพย์รวมถึงกิจการที่กำลังจะไปลงทุน เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ สอดรับกับเป้าหมายการลงทุนของตัวเอง เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายหมายการลงทุนของตัวเองมากที่สุดนั่นเอง 

"การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน"

 

ที่มา: สมาคมตราสารหนี้ ThaiBMA ตลาดหลักทรัพย์ฯ