ไทยแก้ปัญหาพลาสติกในทะเล ลดอันดับประเทศจาก 6 เป็น 10 ของโลก สำเร็จ!

ไทยแก้ปัญหาพลาสติกในทะเล ลดอันดับประเทศจาก 6 เป็น 10 ของโลก สำเร็จ!

รัฐบาลเอาจริงแก้ปัญหาพลาสติกในทะเล ลดอันดับประเทศจาก 6 เป็น 10 ของโลก สำเร็จ! เดินหน้าต่อ 9 มาตรการ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งเดินหน้าแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลอย่างจริงจัง ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ  โดยให้สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ  เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green: BCG Model)  ที่รัฐบาลกำหนดเป็นโมเดลเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นวาระแห่งชาติอีกด้วย
 
นางสาวรัชดา ยังกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลอย่างจริงจัง โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการด้านต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ (1)  จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 - 2573   โดยตั้งเป้าเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ และไมโครบีดส์ ภายในปี 2562   (2)เลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมใส่อาหาร หลอดและแก้วพลาสติกชนิดบางแบบใช้ครั้งเดียว ภายในปี 2565 รวมถึงการนำขยะพลาสติกเป้าหมาย กลับมาใช้ใหม่ ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 เป็นต้น   จนทำให้ประเทศไทยสามารถปรับลดอันดับประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลสูงสุดในโลกจากอันดับ 6 เป็น อันดับที่ 10 ได้สำเร็จ  โดยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้กว่า 25,284 ล้านใบ หรือ 228,820 ตัน   

นอกจากนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงที่เกี่ยวข้องยังจะนำข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลทั้ง 9 ข้อ มาพิจารณาดำเนินการเพื่อการจัดการขยะในภาพรวมของประเทศที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมด้วย ประกอบด้วย


1. ให้มีการนำระบบมัดจำค่าขวดพลาสติกมาใช้ 


2. ให้มีการส่งเสริม สนับสนุนการออกแบบผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


3. ให้มีการส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินธุรกิจ และการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)


4. ให้มีการออกกฎหมาย กำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบในการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ที่ตนผลิต 


5. ให้มีการออกกฎหมาย กำหนดให้ประชาชนในฐานะผู้ทำให้เกิดขยะ มีหน้าที่ในการคัดแยกขยะ


6. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาการดำเนินงานในการเก็บ ขน และกำจัดขยะ ให้เป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั่วถึงเขตพื้นที่รับผิดชอบของตนโดยเฉพาะทางน้ำ


 7. ให้มีการส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากขยะ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อชุมชนรอบข้าง


8. ให้มีการจัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดให้มีเรือเก็บขยะที่เพียงพอ สำหรับการปฏิบัติงานในจังหวัดชายฝั่งทะเล และส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีในการจัดเก็บขยะในน้ำ ทั้งในแม่น้ำ ลำคลอง และทะเล เพื่อให้เรือเก็บขยะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


9. ให้หน่วยงานของรัฐ บูรณาการจัดการขยะพลาสติกกับองค์กรภาคเอกชน และประชาชน ตลอดจนรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เรื่องสร้างจิตสำนึกในการลดใช้พลาสติก และการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี