‘สิงห์ เอสเตท’ลุยธุรกิจใหม่ เสริม ‘มั่งคั่งมั่นคง’
วิกฤติโควิด-19 กระทบธุรกิจ 'สิงห์ เอสเตท' เร่งปรับโครงสร้างธุรกิจ มองหาโอกาสใหม่ลงทุนเสริมพอร์ต ล่าสุด ซื้อหุ้น 30% โรงงานผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม คาดปิดดีลหลังเดือนเม.ย.นี้ และรับรู้รายได้ 7.5 พันล้านบาท ในปี 2567
ปฏิเสธไม่ได้ว่า 'วิกฤติโควิด-19' กระทบกลุ่มธุรกิจของ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S ผู้พัฒนาและลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้เครือบุญรอดบริวเวอรี่ของตระกูล 'ภิรมย์ภักดี' ปี 2563 ไม่น้อย !! บ่งชี้ผ่าน 3 ธุรกิจหลักของ 'สิงห์ เอสเตท' นั่นคือ1.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่อาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกรวม 140,000 ตารางเมตร คิดเป็นสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 15%
2.ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทซึ่งมีจำนวน 39 แห่ง ใน 5 ประเทศ มีจำนวนห้องพักรวมกัน 4,647 ห้อง คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 24% และ3.ธุรกิจโครงการที่พักอาศัยจำนวน 23 โครงการ ประกอบด้วยที่อยู่อาศัยแนวราบ และคอนโดมิเนียม เช่น แบรนด์สันติบุรี The ESSE และแบรนด์อื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 57% ของรายได้ทั้งหมด
แต่หากอนาคตบริษัทไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป แต่ยังยึดติดอยู่กับการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิม โอกาสสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง และมีผลตอบแทนสม่ำเสมอคงยาก ! จึงเป็นที่มาของการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหม่ด้วยการมองหา 'โอกาสใหม่' ทั้งในและทั่วโลกในกลุ่ม ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม, ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า , ธุรกิจบริการด้านวิศวกรรม จัดเป็น New S-curve เสริมแกร่งให้ธุรกิจหลัก เร่งเครื่องการเติบโตก้าวกระโดด
สะท้อนผ่านการประเดิมธุรกิจใหม่ตัวแรกอย่างธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าหลังบริษัทได้รับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการเข้าซื้อหุ้นสามัญ 30% ใน 'โรงงานผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม' (Co-generation power plant) ขนาดใหญ่ จำนวน 3 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกัน 400 เมกะวัตต์ โดยเป็นสิทธิ์ซื้อที่ราคาพาร์ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,392 ล้านบาท
โดยโรงไฟฟ้าแห่งแรกนั้น เป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าและพลังงานความร้อนร่วมของบริษัท อ่างทอง เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ จังหวัดอ่างทอง โดยดำเนินการผลิตอยู่แล้ว ด้วยกำลังการผลิตอยู่ที่ 123 เมกะวัตต์
ส่วนโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 และ 3 เป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งใหม่ที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง มีบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 1 จำกัด และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 2 จำกัด เป็นเจ้าของใบอนุญาต ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ มีกำหนดเปิดดำเนินการในปี 2566 โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่โรงงานละ 140 เมกะวัตต์
'การเข้าซื้อหุ้นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จะเริ่มขึ้นเมื่อได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของ สิงห์ เอสเตท ซึ่งมีกำหนดจัดการประชุมสามัญประจำปีในวันที่ 23 เม.ย. นี้'
4 ธุรกิจสร้างการเติบโต
'จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี' ประธานกรรมการ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S กล่าวว่า การได้สิทธิ์ซื้อหุ้นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าถือเป็นการขยายลงทุนสู่ 'ธุรกิจใหม่' (New Business) ซึ่งเป็นการปรับพอร์ตรายได้ (Diversify) ด้วยการสร้างพอร์ต 'รายได้ประจำ' หรือ Recurring Income ที่สร้างสินทรัพย์ที่มั่นคงด้านรายได้ต่อเนื่อง ไม่สวิงตามความผันผวนของเศรษฐกิจมากนัก
ทั้งนี้ การได้สิทธิ์ซื้อหุ้นด้วยเงื่อนไขที่น่าดึงดูดใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะเป็นหนึ่งจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะทำให้ สิงห์ เอสเตท ก้าวไปสู่การเป็นหนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผลิตกระแสไฟฟ้า และให้บริการด้านวิศวกรรมอันดับต้นๆ ของประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งในการเดินหน้าขยายธุรกิจของเราให้ใหญ่ขึ้นสามเท่า เป็นบริษัทที่มีรายได้ 20,000 ล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 3 ปี (2564-2566)
'ในปี 2564 เรากำลังก้าวเข้าสู่เฟสต่อไปของการพัฒนาธุรกิจโดยเดินหน้าสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ที่จะมาส่งเสริมซึ่งกันและกันกับ 3 กลุ่มธุรกิจเดิม เพื่อต้องการสร้างธุรกิจนี้ให้ยิ่งใหญ่ อย่างมั่นคง และมีผลตอบแทนที่แน่นอนสม่ำเสมอ พร้อมๆ กับการสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโต โดยที่เราจะใช้ประโยชน์จากการผนึกกำลัง (Synergy) กันของ 4 กลุ่มธุรกิจของสิงห์ เอสเตท มาเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน จากการเติมเต็มซึ่งกันและกันของกลุ่มธุรกิจต่างๆ การใช้ทรัพยากรร่วมกัน และการบูรณาการธุรกิจ'
นอกจากนั้นยังจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ได้มากกว่า อีกทั้งยังจะช่วยให้ สิงห์ เอสเตท มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น จากการที่ธุรกิจในเครือมีวงจรทางธุรกิจที่แตกต่างกัน มีรูปแบบความเสี่ยงไม่เหมือนกัน และเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ประจำและสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทให้ความสำคัญกับการนำบริษัทเดินทางจากจุดเริ่มต้นในฐานะบริษัทของครอบครัวที่บริหารจัดการสินทรัพย์และดำเนินธุรกิจอสังหาฯ ของตระกูล สู่การเป็นบริษัทมหาชน ที่มีการบริหารงานอย่างมืออาชีพ มีสินทรัพย์อยู่ในกิจการอสังหาฯ ที่หลากหลาย กระจายอยู่ในหลายภูมิภาค โดยเส้นทางแห่งอนาคตเชื่อมั่นในศักยภาพประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานที่มั่นทางธุรกิจของสิงห์ เอสเตท พร้อมเดินหน้ามองหาโอกาสสร้างการเติบโตใหม่ๆ ในระดับโลกควบคู่กัน
'หลังจากได้สิทธิ์เข้าซื้อหุ้น ใน 3 โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ 3 แห่ง เรากำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจอื่นเพิ่มเติม ซึ่งจะได้เห็นการประกาศลงทุนในธุรกิจใหม่อีกแน่นอนในอนาคตอันใกล้'
'ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร S กล่าวว่า ใบอนุญาตโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีขนาดกำลังการผลิตระดับนี้ ไม่ใช่สิ่งที่จะหามาได้ง่ายๆ และการได้รับสิทธิ์ในการเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่สำคัญถึง 3 แห่ง ในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก จะทำให้บริษัทมีฐานธุรกิจที่มั่นคงในอุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทันที โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์
โดยหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สิทธิ์ในการเข้าซื้อหุ้นได้รับนั้นน่าดึงดูดใจเป็นอย่างมาก คือ การที่ไฟฟ้าจำนวน 270 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นเกือบ 70% ของกระแสไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้ขายล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว และเป็นราคาตามที่ตกลงกันแล้ว ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าจะสร้างรายได้เข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน เสริมศักยภาพให้กับบริษัทในการเป็นธุรกิจที่จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้เป็นอย่างดีในทุกสถานการณ์ (Resilient Business)
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าอ่างทอง เพาเวอร์ เป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ทำกำไรได้โดยไม่จำเป็นต้องขายไฟให้กับผู้ใช้ทั่วไป และกระแสไฟฟ้าจำนวน 75% ของกระแสไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ ได้ถูกทำสัญญาซื้อโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นระยะเวลา 25 ปี 'ด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไรจนสูงขึ้นกว่าอัตราที่ประเมินไว้ในขั้นต้น'
โดยคาดว่าโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จะสามารถสร้างรายได้ราว 7,500 ล้านบาท ในปี 2567
โดยธุรกิจไฟฟ้าจะเข้ามาต่อยอดธุรกิจหลักอสังหาริมทรัพย์ และสร้างรายได้ให้บริษัทได้อย่างมากมาย และด้วยความแข็งแกร่งทางการเงินที่ปัจจุบันมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) 0.96 เท่า ประกอบกับการมีเครดิตดี สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีก 25,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงเป็นจังหวะเหมาะสมในการเดินหน้าลงทุนกลุ่มธุรกิจใหม่
ทั้งนี้ ภายใต้ตลาดที่มีความไม่แน่นอนสูง! สภาพแวดล้อมทางธุรกิจยากจะคาดเดาทั้งในไทยและทั่วโลก การจัดทัพขับเคลื่อน 4 กลุ่มธุรกิจที่เชื่อมโยงกัน จะช่วยให้ธุรกิจสิงห์ เอสเตท มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น จากการที่ธุรกิจในเครือมีวงจรทางธุรกิจที่แตกต่างกัน มีรูปแบบความเสี่ยงไม่เหมือนกัน และเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ประจำและสม่ำเสมอ
'การเข้าซื้อหุ้นในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จะสร้างผลตอบแทนที่น่าดึงดูดใจเป็นอย่างมากให้กับ สิงห์ เอสเตท และมากไปกว่านั้นคือจะสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจทั้งหมด ด้วยการเข้ามาส่งเสริมซึ่งกันและกัน กับธุรกิจต่างๆ'