สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯผุดไอเดีย “อ่านเท่” ปั้นเทรนด์รักการอ่าน ปลุกอุตฯหนังสือ
ธุรกิจหนังสือยังถูก "ดิสรัป" จากโลกออนไลน์ต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคเบนความสนใจจากการอ่าน ไปเสพคอนเทนท์ ความบันเทิงอื่นๆ ตลาดตำรับตำราจึงหดตัวเหลือ 12,000 ล้านบาท สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ปิ๊งแนวคิด "อ่านเท่" สร้างเทรนด์ให้หนอนหนังสือ ฟื้นตลาด 15,000 ล้านบาท
“เวลาชีวิตของผู้บริโภค” คือสิ่งที่อุตสาหกรรม “หนังสือ” ต้องแย่งชิงกับแพลตฟอร์มออนไลน์ กิจกรรมต่างๆ เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนใช้หมดในแต่ละวัน หากดูสถิติปัจจุบัน ผู้บริโภคเทเวลาให้กับโลกออนไลน์เกือบ 9 ชั่วโมง(ชม.)ต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูง หากแยกตามวัย คนทำงานใช้เวลาราว 8 ชม.ต่อวัน นักเรียนนักศึกษาใช้ 6-8 ชม.เพื่อหาความรู้ และทุกคนใช้เวลาอีก 6-8 ชม. เพื่อนอนหลับพักผ่อน
ตัวแปรรอบด้านที่ดิสรัปการอ่านตำรา ทำให้อุตสาหกรรมยังอยู่ในภาวะยากลำบาก ยิ่งปี 2563 โรคโควิด-19 ระบาด กระทบหน้าร้านหรือช่องทางจำหน่ายหนังสือ จนทำให้ภาพรวมหดตัวลง 30-40% เม็ดเงินที่คาดการณ์จะแตะ 18,000 ล้านบาท กลับลดเหลือ 12,000 ล้านบาท โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (Pubat) เล่าสถานการณ์ตลาดหนังสือ
พื้นฐานธุรกิจจะโตมักเกิดจาก “ความต้องการ” หรือดีมานด์ผู้อ่าน รวมถึงหนังสือใหม่ๆที่ออกมาเสิร์ฟหนอนหนังสือ ปกติที่มีราว 9,000-10,000 ปกต่อปี ทว่าปีที่แล้วตำราปกใหม่หายไปราว 50% โดยหนังสือใหม่ที่ออกมา มักโกยเงินจากคนรักการอ่านราว 70% เมื่อตลาดมีปัจจัยลบรายล้อมจึงทำให้ผู้ประกอบการลำบาก
ทว่า อุตสาหกรรมหนังสือใช่จะมีแต่ข่าวร้าย “ดิสรัป” ธุรกิจ เพราะปัจจัยที่ทำให้ตลาดคึกคัก คือ วรรณกรรมชายรักชายหรือวาย เพราะมีการเติบโตอย่างน่าสนใจ รวมถึงหนังสือประวัติศาสตร์ ที่ได้รับความนิยมจากผู้อ่านจนติด “ท็อป 3-5” จากที่ไม่เคยติดโผเลย รวมถึงการมีอีบุ๊ก ออนไลน์ นักเขียนที่แต่งวรรณกรรม เขียนหนังสือป้อนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆมากขึ้น ช่วยฟื้นตลาดได้ แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่เพียงพอให้ธุรกิจหนังสือใหญ่ทะลุถึง 25,000 ล้านบาทเหมือน 10 ปีที่แล้ว
ปี 2564 จึงเป็นอีกปีที่ท้าทายการทำงานของ โชนรังสี ในฐานะนายกสมาคมฯ จึงผุดไอเดียใหม่ๆผลักดันวงการให้โต โดยงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 49 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 19 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 17-25 เม.ย. 2564 ที่ไบเทค บางนา ชูคอนเซปต์ “อ่านเท่” เพื่อสร้างค่านิยมให้ประชาชนรู้สึกว่าการอ่านเป็นหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของชีวิต พร้อมดึงคนดัง 49 คน เช่น กรณ์ จาติวกณิช, ตัน ภาสกรนที, อุ๋ย บุดดาเบลส และณภัทร เสียงสมบุญ มาสร้างแรงบันดาลใจด้วย
ระยะยาวจะยกระดับการอ่านให้เข้มข้น ตอกย้ำความสำคัญด้วยแนวคิด นักอ่านทุกคนไม่ใช่ผู้นำ แต่ “ผู้นำทุกคน” คือนักอ่าน หรือ Reader is a Leader
“เราต้องการสร้างวัฒนธรรม การหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเป็นเทรนด์ เหมือนกับเทรนด์อื่นในสังคม เช่น การเล่นเซิร์ฟสเก็ต นิยมครัวซองต์ จึงดึงผู้ทรงอิทธิพลหรืออินฟลูเอ็นเซอร์ ไอดอล คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตจากวงการต่างๆ เพราะมีหนังสือที่พลิกชีวิต”
แม้สมาคมฯจะวางกลยุทธ์การตลาดอย่างรอบคอบ แต่สิ่งที่หนักใจคือ “กำลังซื้อผู้บริโภค” เพราะการจัดงานหลังสงกรานต์ ผู้คนใช้จ่ายเงินไปกับวันหยุด เทศกาล ทำให้ต้องอัดโปรโมชั่น แจกอี-คูปองส่วนลดเพื่อชอปปิงหนังสือในงาน เมื่อซื้อล่วงหน้า 400 บาท จะได้รับคูปองมูลค่า 500 บาท ซึ่งจะเปิดขายเร็วๆนี้ดักหนอนหนังสือ และยังมีส่วนลดจากลาซาด้า ช้อปปี้ และเจดีเซ็นทรัล รวมมูลค่า 5 ล้านบาท มาเพิ่มอำนาจซื้อให้กลุ่มเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจ กำลังซื้อ โรคระบาดที่ยังเปราะบาง ปีนี้มีสำนักพิมพ์เข้าร่วมงาน 223 สำนักพิมพ์ จากปกติมากกว่า 312 สำนักพิมพ์ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดราว 400 สำนักพิมพ์
ส่วนจำนวนผู้เข้าชมงานปีนี้คาดว่าจะแตะ 1.6-1.7 ล้านราย และเงินสะพัดในงานกว่า 200 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนซึ่งหดตัวค่อนข้างมาก แม้จะมีกิจกรรมและช่องทางขายผ่านออนไลน์ 56 ล้านบาท เม็ดเงินหดตัวสูงถึง 80% จึงไม่สามารถชดเชยภาพรวมที่หายไปได้ แต่การขายหนังสือผ่านอีคอมเมิร์ซทำให้ได้ฐานข้อมูลลูกค้าละเอียดมากขึ้นทั้งด้านประชากรศาสตร์ และยอดการซื้อเฉลี่ย 650 บาทต่อบิล เทียบกับซื้อในงานหนังสือเฉลี่ย 500-1,000 บาทต่อบิล และสำนักพิมพ์มีประสบการณ์ค้าขายออนไลน์มากขึ้น
แม้ปี 2563 ธุรกิจหนังสือได้รับผลกระทบหนัก ยอดขายตก ร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ขนาดเล็ก “ปิดตัว” แต่ปี 2564 คาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ 20-25% มูลค่าแตะ 15,000 ล้านบาท
“การฟื้นตัวของธุรกิจหนังสือขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ในภาวะปกติเมื่อเศรษฐกิจหดตัว ตลาดจะไม่กระทบมากนัก และประชาชนจะหาหนังสือที่ช่วยพัฒนาตนเอง หากตกงาน มองหาอาชีพใหม่จะต้องอ่านหนังสือเพื่อเรียนรู้การเป็นเจ้าของธุรกิจ อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้อุตสาหกรรมหนังสือขยายตัว รัฐต้องช่วยวางโครงสร้างพื้นฐานเอื้อทั้งซัพพลายเชนเช่นกับจีน ได้จัดสรรงบประมาณส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือทั้งระบบ ปลายน้ำมีร้านหนังสือเป็นแฟล็กชิพของความสุข ศูนย์การเรียนรู้ ตอบไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ทำให้คนรุ่นใหม่อ่านหนังสือกลายเป็นนักรบเศรษฐกิจขับเคลื่อนประเทศ”