เศรษฐกิจ
'กรมศุลกากร' แจงยิบวิธีคำนวณราคาสินค้านำเข้า ของไม่เกิน 1,500 บาท
"กรมศุลกากร" แจงยิบวิธีคำนวณราคาสินค้านำเข้า ของไม่เกิน 1,500 บาท ปมดราม่าสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ราคาของไม่เกิน 1,500 บาท ทำไมโดนจ่ายเงินเพิ่มอีก 500 บาท
ตามที่มีกระแสข่าวในสังคมโซเซียลระหว่าง วันที่ 4 - 5 เมษายน 2564 ต่อมาวันที่ 7 เมษายน 2564 ได้เผยแพร่ข่าวในหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์กรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ราคาของไม่เกิน 1,500 บาท ทำไมโดนจ่ายเงินเพิ่มอีก 500 บาท
"กรมศุลกากร" ขอชี้แจงให้ทราบว่า การประเมินค่า "ภาษีอากร" ของกรมศุลกากรดังกล่าวมีขั้นตอนที่ชัดเจนและเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติที่เป็นสากล ซึ่งสินค้าหรือพัสดุที่ขนส่งระหว่างประเทศสามารถแยกพิจารณา ได้เป็น 2 กรณี โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. การส่งของทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะทำการตรวจเพื่อคัดแยกสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ที่ได้เปิดถุงแล้วออกเป็น 3 ประเภท และดำเนินการ ดังนี้
- ประเภทที่ 1 ของยกเว้นอากร คือของที่นำเข้าโดยทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ซึ่งแต่ละรายมีราคารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยไม่เกิน 1,500 บาท ตามภาค 4 ประเภท 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 หรือตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้แต่เพียงเป็นตัวอย่าง และไม่มีราคาในทางการค้าตามภาค 4 ประเภท 14 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด ให้นำส่ง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำจ่ายต่อไป
- ประเภทที่ 2 ของต้องชำระอากร คือของที่นำเข้าโดยทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ซึ่งส่งจากผู้ส่งคนหนึ่งถึงผู้รับคนหนึ่งในคราวเดียวกัน หรือเข้ามาถึงพร้อมกัน ไม่ว่าจะมีจำนวนกี่หีบห่อ หากมีราคา FOB รวมกันไม่เกิน 40,000 บาท และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัดหรือของที่ต้องส่งตัวอย่างวิเคราะห์สินค้าก่อนปล่อย ให้พนักงานศุลกากรเปิดตรวจและประเมินอากร แล้วส่งมอบให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำจ่ายให้ผู้รับและเรียกเก็บภาษีอากรแทนกรมศุลกากร
- ประเภทที่ 3 ของอื่น ๆ นอกจากประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ให้ส่งมอบแก่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อส่งมอบเข้าเก็บรักษาในโรงพักสินค้า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือส่งไปที่สำนักงาน/ด่านศุลกากร แล้วแต่กรณี เพื่อปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ถูกต้องครบถ้วนต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
2. การนำเข้าโดยผู้ประกอบการของเร่งด่วน (Express Consignment)
ผู้ประกอบการของเร่งด่วน (Express Consignment) คือ ผู้ที่กรมศุลกากรจดทะเบียนให้เป็นผู้รับผิดชอบการขนส่งเข้ามาใน หรือ นำออกไปนอกราชอาณาจักร โดยให้บริการกับผู้รับฝากแบบประตูถึงประตู (DOOR TO DOOR) และต้องดำเนินพิธีการศุลกากรตามที่กรมศุลกากรกำหนดแทนผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออก ผู้ประกอบการเร่งด่วน เช่น Fed Ex UPS DHL และ TNT เป็นต้น โดยสิ่งของเร่งด่วนที่นำเข้ามาเข้ามาจากต่างประเทศ สามารถจัดแบ่งได้ 4 ประเภท ดังนี้
ของเร่งด่วนประเภทที่ 1 คือ เอกสารที่ไม่ต้องเสียอากร ตาม ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด
เนื่องจากสินค้าเป็นเอกสารซึ่งไม่ต้องเสียอากร จึงเพียงสำแดงข้อมูล รายละเอียดของสินค้า และประเภทพิกัด ตามชนิดของที่มีมูลค่ารวมมากที่สุด
ของเร่งด่วนประเภทที่ 2 คือ ของไม่ต้องเสียอากร หรือของที่ได้รับยกเว้นอากร โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
- ของที่ไม่ต้องเสียอากรตามภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้าแห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด
- ของที่นำเข้าซึ่งแต่ละรายมีราคา CIF (Cost Insurance and Freight) ไม่เกิน 1,500 บาท ที่ได้รับยกเว้นอากร ตามประเภท 12 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด
- ตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้แต่เพียงเป็นตัวอย่างและไม่มีราคาในทางการค้าที่ได้รับยกเว้นอากรตามประเภท 14 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด
วิธีคำนวณภาษี กรณีที่บัญชีราคาสินค้า (Invoice) ระบุรายละเอียดค่าประกันภัย (Insurance) และค่าขนส่งของ (Freight) ครบถ้วนแล้ว ก็ให้ใช้ราคาตามบัญชีราคาสินค้านั้น แต่ในกรณีที่ไม่มีรายละเอียดค่าประกันภัย (Insurance) และค่าขนส่งของ (Freight) ให้บวกค่าประกันภัยอีกร้อยละ 1 ของราคา FOB และให้คิดค่าขนส่งของโดยใช้อัตราเฉลี่ยค่าขนส่งของตาม ZONE ที่กรมศุลกากรอนุมัติให้ใช้สำหรับสินค้าเร่งด่วน และสำแดงข้อมูลรายละเอียดของสินค้า และประเภทพิกัด ตามชนิดของที่มีมูลค่ารวมมากที่สุดในใบตราส่งนั้น (HAWB)
ของเร่งด่วนประเภทที่ 3 คือ ของต้องเสียอากร ที่นำเข้าทางสนามบินศุลกากรโดยแต่ละใบตราส่งสินค้าทางอากาศ (House Air Waybill) มีราคา FOB (Free On Board) ไม่เกิน 40,000 บาท และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด หรือของที่ได้รับยกเว้นอากรตามภาค 4 หรือของที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร หรือของที่ต้องส่งตัวอย่างวิเคราะห์สินค้าก่อนปล่อย
วิธีคำนวณภาษี เนื่องจากฐานในการคำนวณภาษีขาเข้าต้องใช้ Term CIF ดังนั้น ฐานสำหรับการคำนวณภาษีต้องมี มูลค่าของสินค้าที่นำเข้า (Cost) ค่าประกันภัยสินค้า (Insurance) และค่าขนส่งของ (Freight) ในกรณีที่บัญชีราคาสินค้า (Invoice) ระบุรายละเอียดค่าประกันภัย (Insurance) และค่าขนส่งของ (Freight) ครบถ้วนแล้ว ก็ให้ใช้ราคาตามบัญชีราคาสินค้านั้น แต่ในกรณีที่ไม่มีรายละเอียด ค่าประกันภัย (Insurance) และค่าขนส่งของ (Freight) ให้บวกค่าประกันภัยอีกร้อยละ 1 ของราคา FOB และให้คิดค่าขนส่งของโดยใช้อัตราเฉลี่ยค่าขนส่งของตาม ZONE ที่กรมศุลกากรอนุมัติให้ใช้สำหรับสินค้าเร่งด่วนเช่นเดียวกับสินค้าประเภทที่ 2 เมื่อได้ราคา CIF แล้วให้นำจำนวนนั้นมาคูณอัตราภาษีขาเข้า และนำราคา CIF มารวมกับจำนวนภาษีขาเข้าเพื่อเป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะได้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ จำนวนเงินที่ผู้นำเข้าต้องชำระให้กับทางกรมศุลกากร คือ ค่าภาษีขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม และสำแดงข้อมูลรายละเอียดของสินค้า และประเภทพิกัด ตามชนิดของที่มีอัตราอากรสูงสุดในใบตราส่งนั้น (HAWB)
ของเร่งด่วนประเภทที่ 4 คือ ของอื่น ๆ นอกจากของตามประเภทที่ 1 ประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 (ของต้องกำกัด หรือของที่ได้รับยกเว้นอากรตามภาค 4 หรือของที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร หรือของที่ต้องส่งตัวอย่างวิเคราะห์สินค้าก่อนปล่อย หรือของที่มีราคา FOB (Free On Board) เกิน 40,000 บาท)
วิธีคำนวณภาษี ใช้ Term CIF ในการคำนวณภาษีขาเข้า ซึ่งหากกรณีที่บัญชีราคาสินค้า (Invoice) ไม่มีรายละเอียดค่าประกันภัย (Insurance) และค่าขนส่งของ (Freight) ให้บวกค่าประกันภัยอีกร้อยละ 1 ของราคา FOB และให้คิดค่าขนส่งของโดยใช้อัตราเฉลี่ยค่าขนส่งของตาม Full IATA Rate เมื่อได้ราคา CIF แล้วให้นำจำนวนนั้นมาคูณอัตราภาษีขาเข้า และนำราคา CIF มารวมกับจำนวนภาษีขาเข้าเพื่อเป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะได้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ จำนวนเงินที่ผู้นำเข้าต้องชำระให้กับทางกรมศุลกากร คือ ค่าภาษีขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทั้งนี้ หากท่านมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมศุลกากร 1164 หรือ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.customs.go.th