'ตลาดหุ้นไทย' แพงไปจริงหรือ?
"ตลาดหุ้นไทย" ให้ผลตอบแทนรวมเฉลี่ยในระยะยาวอยู่ที่ 10-12% ต่อปี และค่า P/E ที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าเหมาะสมอยู่ที่ราว 14-16 เท่า ดังนั้นหากดูค่า P/E ล่าสุด อาจมองได้ว่าตลาดหุ้นไทยตอนนี้แพงกว่าค่าที่เหมาะสมกว่า 2 เท่า
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นจีน โดยกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนที่สูงมากและตลาดยังคงคาดหวังว่าน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีต่อไป ในขณะที่กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นจีนได้แรงหนุนจากความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตได้ดี
ในทางตรงกันข้าม กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นไทยจากการประเมินโดยใช้ข้อมูลจากมอร์นิ่งสตาร์ พบว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้มีเงินไหลออกกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท หลังจากตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,600 จุด ท่ามกลางความกังวลว่าตลาดหุ้นไทยอาจจะแพงเกินไป โดย ณ วันที่ 5 เมษายน 2564 ค่า P/E ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 41.25 เท่า (ข้อมูลจาก www.settrade.com) และดัชนีผลตอบแทนรวมตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้น 9.97% จากระดับของเมื่อสิ้นปีที่แล้ว
ในอดีตที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนรวมเฉลี่ยในระยะยาวอยู่ที่ประมาณ 10-12% ต่อปี และค่า P/E ที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าเหมาะสมอยู่ที่ราว 14-16 เท่า ดังนั้น หากดูค่า P/E ล่าสุด อาจมองได้ว่าตลาดหุ้นไทยตอนนี้แพงกว่าค่าที่เหมาะสมกว่า 2 เท่า
อย่างไรก็ดี ผมได้เขียนถึงโครงสร้างตลาดหุ้นไทยที่เปลี่ยนไปและอาจไม่เหมาะสมที่จะนำค่า P/E ในปัจจุบันไปเทียบกับค่า P/E ในอดีตแล้ว สรุปว่าตลาดหุ้นไทยแพงไปแล้วหลายครั้ง ซึ่งผมจะขอนำมาเขียนย้ำอีกครั้งครับ โดยในอดีตตลาดหุ้นไทยมีค่า P/E ต่ำกว่าในปัจจุบันมาก เนื่องจากในอดีตหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่มีค่า P/E ต่ำและอยู่ในตลาดมาอย่างยาวนาน ในขณะที่ในปัจจุบันมีหุ้นใหม่ๆที่มีการเติบโตสูงและค่า P/E สูงเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก โดยที่หุ้นที่เข้ามาใหม่ดังกล่าวบางส่วนเป็นหุ้นขนาดใหญ่ ส่งผลให้ค่า P/E โดยรวมของตลาดหุ้นไทยปรับขึ้น
ดังนั้น การที่จะสรุปว่าตลาดหุ้นไทยเมื่อดูจากค่า P/E ในปัจจุบันแล้วสรุปว่าตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับที่แพง ก็อาจจะไม่ถูกนัก แต่ผมจะขอไม่สรุปว่าตลาดหุ้นไทยยังไม่แพง แต่จะให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาว่าตลาดหุ้นไทยถูกหรือแพงครับ
เมื่อราว 2 – 3 ปีก่อนนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ให้คำแนะนำว่าตลาดหุ้นไทยแพงเพราะค่า P/E สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต แต่บทวิเคราะห์หุ้นรายตัวหลายตัวกลับให้คำแนะนำให้ซื้อ ซึ่งอาจประเมินได้ว่านักวิเคราะห์มองว่าราคาหุ้นยังคงอยู่ในระดับที่ไม่แพง ในขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในขณะนั้นปรับตัวขึ้นต่อทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง ก่อนที่จะปรับตัวลดลงจากผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และตามด้วยการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ เหตุการณ์ในปัจจุบันมีความใกล้เคียงกับเหตุการณ์ในช่วงนั้น กล่าวคือ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าตลาดหุ้นไทยแพง แต่บทวิเคราะห์หุ้นรายตัวส่วนใหญ่ยังคงให้คำแนะนำซื้อ
ในส่วนของกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตลาดหุ้นไทย ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาก็สะท้อนว่าการเลือกลงทุนในหุ้นรายตัวสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาด โดยจากการประเมินโดยใช้ข้อมูลจากมอร์นิ่งสตาร์พบว่า ณ สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้นไทยทั่วไป (equity general - กองทุนที่มีการลงทุนในหุ้น SET50 ไม่ถึง 80% และลงทุนในหุ้นขนาดเล็กไม่ถึง 80%) ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่ากองทุนรวมดัชนีมากถึง 231 กองทุนจากทั้งหมด 319 กองทุน โดยค่ากลาง (median) ผลตอบแทนของกองทุนรวมกลุ่มดังกล่าว อยู่ที่ 12.37% หรือให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีรวมตลาดหุ้นไทยที่ 2.40%
นอกจากนี้ ค่า P/E ตลาดหุ้นไทยยังถูกบิดเบือนจากการที่หุ้นบางตัวมีผลการขาดทุนสูงมาก และหุ้นบางตัวมีผลกำไรลดลงมากอันเนื่องมาจากผลกระทบของโควิด-19 จากการประเมินโดยใช้ข้อมูลจากบลูมเบิร์กพบว่า หากนับเฉพาะบริษัทที่ไม่มีผลการดำเนินงานขาดทุน ค่า P/E ของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันจะอยู่ที่ราว 18 เท่า ซึ่งก็ยังคงไม่สูงกว่าค่า P/E เฉลี่ยมากนัก
ทั้งนี้ หลังจากที่เริ่มมีการฉีดวัคซีน และรัฐบาลไม่ได้ใช้มาตรการล็อคดาวน์ที่เข้มงวดถึงแม้มีการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศ อีกทั้งการส่งออกของไทยมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง และรัฐบาลทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจล่าสุดของ ธปท. ถึงแม้ ธปท. ปรับลดตัวเลขจีดีพีปีนี้ลงจากคาดการณ์เดิมที่ 3.2% เป็น 3.0% แต่ในภาพรวม ธปท. มองเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น โดย ธปท. ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และการส่งออกและนำเข้า
การที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น จะส่งผลให้บริษัทต่างๆ มีแนวโน้มสร้างผลประกอบการได้ดีขึ้น ดังนั้น จึงมีโอกาสที่นักวิเคราะห์จะปรับเพิ่มประมาณการผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯ และจะส่งผลให้คาดการณ์ P/E ปรับลง
จากข้อมูลต่างๆ ที่ผมนำเสนอมานี้ น่าจะเป็นประโยชน์ในการใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน อย่างไรก็ดี สถานการณ์การระบาดของโควิด-19ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง นักลงทุนจึงควรประเมินความเสี่ยงและเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงในระดับที่ท่านยอมรับได้