'แอพเรียกรถ' ยกระดับ ความปลอดภัยการเดินทาง
ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญอำนวยความสะดวกการเดินทางมากขึ้น อย่างบริการ "แอพเรียกรถ" ที่ช่วยเชื่อมต่อความต้องการระหว่างผู้โดยสารและคนขับ แล้วบริการนี้มีความปลอดภัยแค่ไหน?
ย้อนกลับไปเมื่อสิบปีที่แล้ว วันที่โลกยังไม่รู้จักแอพพลิเคชั่นเรียกรถ (Ride-hailing app) การเดินทางสำหรับคนที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว นอกจากต้องพึ่งระบบขนส่งสาธารณะแล้ว คงหนีไม่พ้นบริการรถรับจ้างสาธารณะอย่างแท็กซี่ แต่ใช่ว่าบริการดังกล่าวจะตอบโจทย์ความต้องการทุกคน คนที่อาศัยในซอยลึกหรือไม่ติดถนนใหญ่ การต้องเดินออกไปเรียกรถยามค่ำคืน คงลำบากไม่น้อย หรือหากต้องเดินทางช่วงเร่งด่วนหรือเวลาฝนตก การไปต่อสู้แย่งชิงแท็กซี่ริมถนนเพื่อให้ได้รถสักคันคงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก
ปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญอำนวยความสะดวกการเดินทาง อย่างบริการเรียกรถผ่านแอพ ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยเชื่อมต่อความต้องการระหว่างผู้โดยสารและคนขับ ทำให้การหารถเพื่อพาผู้โดยสารไปส่งยังจุดหมายเป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้ว ประโยชน์อีกด้านที่หลายคนอาจมองข้ามแต่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การสร้างมาตรฐานด้าน “ความปลอดภัยในการเดินทาง”
หลายปีที่ผ่านมา บริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์มชั้นนำระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น อูเบอร์ (Uber) แกร็บ (Grab) ลิฟท์ (Lyft) หรือตีตี้ (Didi) พัฒนาเทคโนโลยี และการให้บริการอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยหลายรูปแบบ ไม่เพียงสร้างความอุ่นใจให้ผู้ใช้บริการ แต่ยังรวมถึงคนขับด้วย
ในไทยบริการดังกล่าวสร้างมาตรฐานใหม่ด้านการขนส่งสาธารณะให้คนไทย สะท้อนผ่านผลสำรวจเกี่ยวกับบริการเรียกรถผ่านแอพ ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า 77.7% ของประชาชนทั่วไปเห็นว่า แอพเรียกรถมีส่วนยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทาง
สำหรับเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาใช้เพื่อตอบโจทย์ความปลอดภัย ครอบคลุมตั้งแต่ก่อน ระหว่าง รวมถึงหลังสิ้นสุดการเดินทาง เริ่มตั้งแต่ก่อนให้บริการ เทคโนโลยียืนยันตัวตนด้วยระบบไบโอเมตริก ถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันการเกิดอาชญากรรม ทำให้ผู้โดยสาร คนขับ รวมถึงบริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์มมั่นใจว่าไม่มีการแอบอ้างนำบัญชีของผู้อื่นมาใช้
สำหรับ Grab พาร์ทเนอร์คนขับต้องยืนยันตัวตน ถ่ายภาพเซลฟีทุกครั้งก่อนเปิดระบบ ผู้โดยสารที่ไม่ได้เปิดใช้แอพเป็นเวลานาน ต้องยืนยันตัวตนผ่านการเซลฟีด้วยเช่นกัน
ระหว่างการเดินทาง ผู้โดยสารอาจเลือกใช้โทรศัพท์หาเพื่อนหรือคนในครอบครัว เพื่อแจ้งทะเบียนรถหรืออัพเดทการเดินทาง เทคโนโลยีบริการเรียกรถผ่านแอพได้เข้ามาช่วยผ่อนคลายความกังวล เช่น แชร์รายละเอียดการเดินทาง ช่วยให้ผู้ใช้บริการกดแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้คนที่ต้องการได้ทันทีผ่านแอพ ไม่ว่าจะเป็น ตำแหน่งของรถ สถานะการเดินทาง รายละเอียดคนขับ ระยะเวลาถึงที่หมายโดยประมาณ
กรณีที่ต้องเจอกับคนขับที่ขับรถด้วยความประมาทหรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ผู้ใช้บริการก็สามารถกดปุ่มเพื่อรายงานปัญหาด้านความปลอดภัยได้ ซึ่งสำหรับGrabจะมีการรวมทุกฟีเจอร์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยไว้ในจุดเดียว เรียกว่า Safety Centre รวมถึง ขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน ผู้ใช้บริการสามารถโทรหาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที
นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีการนำเทคโนโลยีติดตามการเดินทาง (Trip Monitoring Technology) มาใช้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ อย่างกรณี Grab หากพบว่ามีการจอดหรือหยุดรถนาน ระบบจะส่งข้อความผ่านแอพสอบถามผู้โดยสารว่ามีความผิดปกติใดหรือไม่ รวมถึงเทคโนโลยีเทเลเมติกส์ ที่สามารถรายงานพฤติกรรมคนขับรถ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ด้านความปลอดภัยการเดินทางบนท้องถนน ขณะที่คนขับปัจจุบันไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มที่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลให้บริการ แต่ยังรวมถึงคนขับแท็กซี่อีกหลายหมื่นคนที่เห็นโอกาสและใช้แอพเหล่านี้ เพิ่มช่องทางเข้าถึงลูกค้ายุคใหม่ ทั้งได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยเหล่านี้ด้วย