หุ้น IPO คืออะไร ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะซื้อได้?
ตอบคำถามนักลงทุนมือใหม่ หุ้น IPO คืออะไร ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะซื้อได้ พร้อมเปิดข้อมูลย้อนหลัง หุ้นใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ทำกำไรทุกตัวจริงหรือไม่?
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างได้สัมผัสประสบการณ์จองซื้อ "หุ้น IPO" เป็นครั้งแรก หลังจากหุ้นมหาชนอย่าง OR เปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อ และกระจายหุ้นด้วยวิธีการที่เรียกว่า "Small Lot First" หรือให้สิทธิคนที่จองซื้อขั้นต่ำก่อน แตกต่างจากหุ้น IPO ในอดีตที่จะกระจายให้นักลงทุนรายย่อยผ่านบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ที่เป็นผู้จัดจำหน่าย (Underwriter)
สำหรับนักลงทุนมือใหม่ อาจมีข้อสงสัย เช่น หุ้น IPO คืออะไร? ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะซื้อได้? ต้องไปซื้อที่ไหน? หรือ ซื้อแล้วจะได้กำไรเลยหรือไม่? ฯลฯ ซึ่งวันนี้เราจะมาทยอยหาคำตอบไปพร้อมกันทีละข้อ
1. หุ้น IPO คืออะไร?
หุ้น IPO ย่อมาจาก Initial Public Offering หรือภาษาไทยที่เรามักจะเห็นในข่าว คือ การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก โดยการขาย IPO เป็นทางเลือกหนึ่งในการระดมทุนสำหรับธุรกิจ นอกเหนือจากการกู้ยืมเงินจากธนาคาร ขณะที่นักลงทุนจะได้หุ้นของบริษัทเป็นสิ่งตอบแทน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำผ่านโบรกเกอร์ที่เป็น Underwriter
โดยระหว่างช่วงเวลาที่เปิดให้จองซื้อ IPO หุ้นของบริษัทเหล่านั้นจะยังไม่ได้เข้าซื้อขายในตลาดรอง หรือตลาดหุ้นที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือทันที แต่ภายหลังกระบวนการจองซื้อและกระจายหุ้นแล้วเสร็จ บริษัทจึงจะกำหนดวันเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นวันแรก (1st Day Trade) ต่อไป
2. ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะจองซื้อหุ้น IPO ได้?
ต้องเท้าความกลับไปก่อนว่า เดิมทีบริษัทหลักทรัพย์มักจะเสนอขายหุ้น IPO ให้กับลูกค้ารายย่อยที่มีขนาดพอร์ตการลงทุนค่อนข้างใหญ่ก่อน แล้วจึงจะเสนอขายให้ลูกค้ารายย่อยที่มีขนาดพอร์ตการลงทุนที่ย่อมลงมา ส่งผลให้การกระจายหุ้นค่อนข้างจำกัด และทำให้นักลงทุนหลายท่านไม่เคยมีประสบการณ์จองซื้อหุ้น IPO
ส่วนกรณีหุ้น OR หรือ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก ใช้วิธี Small Lot First ในการกระจายหุ้น โดยกำหนดขั้นต่ำของการจองซื้อไว้ที่ 300 หุ้น ราคา 18.00 บาทต่อหุ้น หรือใช้เงินเพียง 5,400 บาทก็สามารถจองซื้อหุ้นได้ อีกทั้งยังเปิดให้จองซื้อผ่านทั้งสาขา เว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่นของธนาคาร ส่งผลให้นักลงทุนรายย่อยทั่วไปสามารถเข้าถึงการจองซื้อหุ้นได้เหมือนๆ กัน
ขณะที่หุ้น IPO ที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อหุ้น OR ได้แก่ บมจ.ที คิว อาร์ (TQR), บมจ.โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล (KISS) และ บมจ.เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์ (PACO) ใช้วิธีการกระจายหุ้นผ่านโบรกเกอร์ ส่งผลให้นักลงทุนรายย่อยทั่วไปไม่ได้สิทธิจองซื้อหุ้นเหมือนกันทุกคน
แต่ล่าสุด บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) หุ้น IPO ที่เตรียมเข้าเทรดในวันที่ 10 พ.ค.นี้ จะเปิดให้ผู้ลงทุนรายย่อยจองซื้อเป็นการทั่วไประหว่างวันที่ 22-26 เม.ย. ด้วยวิธีการกระจายหุ้นแบบ Small Lot First เช่นเดียวกันกับหุ้น OR โดยกำหนดขั้นต่ำ 1,000 หุ้น ที่ราคา 36.50 บาทต่อหุ้น หรือใช้เงิน 36,500 บาท สำหรับการจองซื้อครั้งนี้
ดังนั้น การจองซื้อหุ้น IPO ในแต่ละครั้งจะใช้เงินไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนการจองซื้อขั้นต่ำที่แต่ละบริษัทกำหนด อีกทั้งขึ้นอยู่กับวิธีการกระจายหุ้น หากบริษัทเลือกกระจายหุ้นผ่านโบรกเกอร์ นักลงทุนที่ไม่ใช่ลูกค้าก็อาจไม่ได้รับสิทธิการจองซื้อหุ้น
3. ซื้อหุ้น IPO แล้วจะได้กำไรเลยหรือไม่?
เป็นคำถามสำคัญที่นักลงทุนหลายคนสงสัย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าหุ้น IPO ที่เราจองซื้อจะกำไร หรือราคาหุ้นจะสูงขึ้นในวันแรกที่เข้าเทรด คำตอบคือ ไม่มีใครรู้ เพราะการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท การกำหนดราคา และภาวะตลาด
แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจะดี และมีการกำหนดราคาหุ้นอย่างเหมาะสม แต่หากภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย หรือได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงลบที่ควบคุมไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก เป็นต้น ก็อาจส่งผลกดดันต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นได้เช่นกัน
จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า หุ้นที่ระดมทุน IPO ในช่วงต้นปี 2564 (1 ม.ค.-17 เม.ย.) จำนวน 5 บริษัท มีราคาเปิดการซื้อขาย (Open Price) สูงกว่าราคาจองซื้อ (IPO Price) ทั้งหมด ขณะที่ในปี 2563 หุ้น IPO รวมทั้งสิ้น 26 บริษัท (ไม่รวมกองทุนรีท) ราคาเปิดการซื้อขายสูงกว่าราคา IPO 22 บริษัท โดยมี 2 บริษัทที่ราคาเปิดการซื้อขายต่ำกว่าราคาจองซื้อ และอีก 2 บริษัทที่ราคาเปิดการซื้อขายเท่ากับราคาจองซื้อ