'ธนาคาร' ได้ 'กำไร' จากอะไร ในยุคที่ 'โควิด-19' ระบาดทั้งเมือง
วิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ "ธนาคาร" มี "กำไร" กว่า 4 หมื่นล้านในช่วง 3 เดือนแรกที่ "โควิด-19" กำลังเล่นงานเศรษฐกิจไทยชนิดโงหัวไม่ขึ้น
หลังจากที่ ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ประกาศงบการเงินประจำไตรมาส 1/2564 มีกำไรรวมกันถึง 46,429 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,659 ล้านบาท หรือ 41.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลง 238 ล้านบาท หรือราว 0.5% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หากเปรียบเทียบสถานการณ์ โควิด-19 ระลอกใหม่ที่กำลังระบาด และทำให้เศรษฐกิจภาพรวมกลับมาสะดุดอีกครั้ง ถ้าอย่างนั้นแล้ว ธนาคารเหล่านี้มีกำไรจากอะไรในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
- เจาะ กำไร ไตรมาสแรก ของ 10 ธนาคารพาณิชย์
10 ธนาคารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบด้วย
- ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)
- ธนาคารกรุงเทพ (BBL)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY)
- ธนาคารกรุงไทย (KTB)
- ธนาคารทหารไทย (TMB)
- ธนาคารทิสโก้ (TISCO)
- ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP)
- ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT)
- ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LHFG)
หากดูตัวเลขผลประกอบการจะพบว่า ธนาคารที่เติบโตสูงสุด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า คือ LHFG ที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 700% ถัดมาคือ BBL ที่กำไรเพิ่มขึ้น 188% ตามมาด้วย TMB ที่กำไรเติบโตที่ 125% และ SCB ที่กำไรโต 103% แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่า KBANK กำไรโตถึง 44% ถัดมาคือ TISCO ที่บวก18.6% และ SCB กำไรเพิ่ม 9% สวนทางกับอีก 8 แบงก์ ที่กำไรสุทธิลดลง
- 'ธนาคาร' ได้ 'กำไร' จากอะไร
อะไรที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบกำไรเติบโตระดับหมื่นล้าน หรือกว่า 41% ในขณะที่หลายๆ ธุรกิจเผชิญกับวิบากกรรมจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่แพร่ระบาดระลอก 3 อยู่ในขณะนี้ น่าจะเป็นคำถามที่ใครต่อใครอยากรู้
เมื่อพิจารณาไส้ในของกำไรที่เพิ่มขึ้น พบว่า มาจาก 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรก การตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ หรือ ผลขาดทุนด้านเครดิต ในไตรมาสแรกปีนี้ ลดลงอย่างมาก คือ มีจำนวนเพียง 49,329 ล้านบาท ลดลง 4.3 พันล้านบาท จากไตรมาสก่อน 8.1% และลดลงราว 4.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนที่สอง การลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของแต่ละธนาคารเอง ที่เห็นผลสัมฤทธิ์ รวมทั้งรายได้จากค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น
โดยธนาคารที่สำรองลดลงมากคือ KKP สำรองลดลง 40% จากไตรมาสก่อนหน้า ถัดมาคือ TMB สำรองลดลง 33% และ BAY สำรองลดลง 30%
- สำรองหนี้สงสัยจะสูญ ของแต่ละธนาคาร สัมพันธ์กับกำไร และภาพรวมเศรษฐกิจไทยอย่างไร
การลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญในยามวิกฤติเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19เช่นนี้ จะนำมาซึ่งความเสี่ยงในอนาคตหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของไตรมาสแรกทั้ง 10 ธนาคาร ที่พบว่ายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยรวมมาอยู่ที่ 5.41 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.27 หมื่นล้านบาท หรือ 2.42% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นถึง 4.3 หมื่นล้านบาท หรือ 8.67% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในสถานการณ์โควิดระบาดระลอก 3 ในขณะนี้ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในสถานการณ์ที่อ่อนไหวยิ่งนัก ที่จะสะท้อนถึงผลประกอบการไตรมาส 2/2564 หรือ กำไร ของธนาคารที่จะประกาศในอีก 3 เดือนข้างหน้า